6 วิธีเลือกนมถั่วเหลืองให้ได้คุณค่า…น่าดื่ม

ที่มา : เครือข่ายคนไทยไร้พุง

แฟ้มภาพ

                    นมถั่วเหลืองเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่ได้รับความนิยมมานาน เนื่องจากมีสารอาหารที่ครบถ้วน อีกทั้งยังเหมาะสมสำหรับกลุ่มผู้ที่มีข้อจำกัดทางสุขภาพบางกรณี เช่น ผู้ที่มีภาวะทนต่อน้ำตาลแลคโตสในนมวัวไม่ได้ คือ ผู้ที่มีอาการท้องเสีย ท้องอืด ไม่สบายท้องหลังจากดื่มนมวัว ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าแพ้โปรตีนนมวัว และผู้ที่เป็นมังสวิรัติแบบที่ไม่เลือกดื่มนมวัว แต่เราก็มักประสบปัญหาการ “เลือกไม่ถูก” เมื่อเดินเข้าไปในร้านซูเปอร์มาเก็ตหรือร้านขายของชำที่มีนมถั่วเหลืองมากมายหลายสูตรให้เลือกดื่มกัน วันนี้เรามีเคล็ดลับจากนักกำหนดอาหารมาฝากกันว่า ควรเลือกนมถั่วเหลืองอย่างไร ให้ดีต่อสุขภาพที่สุด

วิธีเลือกนมถั่วเหลือง (ที่วางขายให้เลือกละลานตาเหลือเกิน)

1.ผ่านสายตากับคำกล่าวอ้างด้านหน้ากล่องก่อนสิ่งอื่นใด  ควรมองหานมถั่วเหลืองหรือเครื่องดื่มธัญพืชที่มีการระบุว่า …
– น้ำตาลน้อย, น้ำตาลน้อยกว่าสูตรปกติ, หวานน้อย, หวานพอดี
– มีแคลเซียม, มีแคลเซียมสูง
– มีวิตามิน, มีแร่ธาตุ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการคัดกรองเบื้องต้นว่า ผลิตภัณฑ์นั้น ๆ เอาใจใส่ผู้บริโภคในการปรับเพิ่มคุณค่าสารอาหาร ก่อนที่จะหยิบมาอ่านฉลากโภชนาการดูรายละเอียดกันต่อ

2.พลิกไปดูจำนวนหน่วยบริโภค
  การอ่านฉลากโภชนาการจะทำให้เราได้ทราบข้อมูลสารอาหารต่าง ๆ ในผลิตภัณฑ์ที่เราสนใจ ข้อสำคัญคือ ด้านบนสุดของกรอบฉลากโภชนาการจะมีการระบุ “จำนวนหน่วยบริโภค” เอาไว้ เพื่อแสดงให้เราทราบว่า ผลิตภัณฑ์กล่องหรือขวดที่เราถืออยู่ “ควรแบ่งกินกี่ครั้ง” และข้อมูลสารอาหารต่าง ๆ ที่อยู่ด้านล่างลงไป เป็นข้อมูลของสารอาหาร ต่อการรับประทาน 1 ครั้ง ถ้าใครบริโภคกล่องที่เขียนว่า จำนวนหน่วยบริโภคต่อกล่อง : 4  แปลว่าแบ่งรับประทานได้ 4 ครั้ง แต่หากเราเทดื่มรวดเดียวหมด ก็ให้นำสารอาหารที่อ่านเจอคูณ 4 ไปด้วยนะครับ

3.มองหาปริมาณโปรตีน
  เนื่องจากนมถั่วเหลืองหรือนมธัญพืชต่างๆ จะมีปริมาณโปรตีนที่ต่ำกว่านมวัวโดยพื้นฐานอยู่แล้ว เราจึงควรเปรียบเทียบปริมาณโปรตีนจากแต่ละยี่ห้อให้ดี คำแนะนำในการบริโภคคือ ควรมีโปรตีนตั้งแต่ 6 กรัมขึ้นไปต่อ 1 หน่วยบริโภคหรือ 1 กล่องขนาดทั่วไป (ปริมาณ 200-250 มิลลิลิตร) เทียบจากการบริโภคไข่เบอร์ 3 หนึ่งฟอง เพื่อให้ได้โปรตีนอย่างคุ้มค่า

4.อ่านน้ำตาลให้ขาด
  เรารู้กันดีว่า น้ำตาลเป็นต้นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาความอ้วนได้ กระนั้นก็อย่าถึงกับแบนน้ำตาลเลย เราสามารถบริโภคน้ำตาลได้ประมาณวันละ 6 ช้อนชาโดยไม่ต้องกังวลว่ารอบเอวจะเพิ่ม โดยเราสามารถทราบว่านมถั่วเหลืองแต่ละกล่อง หรือแต่ละหน่วยบริโภคมีน้ำตาลกี่ช้อนชาได้ ด้วยการอ่านปริมาณน้ำตาลเป็นกรัม จากฉลากโภชนาการและนำมาหารด้วยเลข 4 จะได้จำนวนช้อนชาของน้ำตาลต่อหน่วยบริโภคหรือกล่องนั้น ๆ (เพราะน้ำตาล 1 ช้อนชาจะหนักประมาณ 4 กรัมครับ) ยกตัวอย่าง นมถั่วเหลืองยี่ห้อหนึ่งกล่าวอ้างว่าบนฉลากว่ามีน้ำตาลน้อย แล้วอ่านพบว่ามีน้ำตาล 2 กรัม เราก็จะทราบได้ว่ามีน้ำตาลอยู่ 2 หาร 4 เท่ากับ 0.5 หรือครึ่งช้อนชาต่อการดื่ม 1 กล่องนั่นเอง เราก็สามารถดื่มได้วันละ 2 กล่องอย่างสบายใจ (แต่ก็ต้องระวังปริมาณน้ำตาลเพิ่มเติมจากเครื่องดื่มหวานอื่นๆ ด้วยนะครับ)

5.ไขมันล่ะ ต้องแคร์ไหม
  หลายๆ คนก็ยังคงเกรงกลัวการกินไขมัน แต่ความจริงแล้วไขมันสามารถช่วยในการดูดซึมวิตามินหลากหลายชนิด รวมทั้งสารต้านอนุมูลอิสระที่มีบทบาทในการต้านมะเร็งได้ และยังทำให้เราอิ่มท้องได้หลังจากกินอีกด้วย อย่างไรก็ตาม เราควรดูตัวเลขปริมาณไขมันอิ่มตัวบนฉลากโภชนาการ ซึ่งไม่ควรได้รับมากจนเกินไป แต่โดยธรรมชาติแล้ว นมถั่วเหลืองจะมีปริมาณไขมันอิ่มตัวอยู่น้อยมาก (ไม่เกิน 1-2 กรัมต่อกล่อง) จึงไม่ต้องกังวลครับ

6.แคลเซียม วิตามิน ธาตุเหล็ก ต้องมี
  นอกจากน้ำตาลและไขมันที่เราต้องให้ความสนใจแล้ว แร่ธาตุและวิตามินต่าง ๆ ที่ได้จากการบริโภคนมถั่วเหลืองก็เป็นสิ่งที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแคลเซียม ซึ่งเป็นสารอาหารที่ได้รับกันน้อยในแต่ละวัน หลายท่านอาจสังเกตพบว่า ทำไมบนฉลากถึงระบุปริมาณแร่ธาตุหรือวิตามินเป็น % หรือร้อยละ ความหมายคือ หากบริโภค 1 หน่วยบริโภคของเครื่องดื่มนั้นๆ แล้ว จะได้รับแร่ธาตุหรือวิตามินที่ระบุบนฉลาก คิดเป็นร้อยละ ของความต้องการต่อวัน เช่น หากพบว่ามีแคลเซียม 50% แปลว่า เมื่อดื่มนมนี้หมด 1 หน่วยบริโภค จะได้รับแคลเซียมคิดเป็น 50% หรือครึ่งนึงของความต้องการในแต่ละวัน

                    เมื่อเรานำข้อมูลข้างต้นมารวมกันแล้ว จะพิจารณาได้อย่างไรบ้าง มาดูตัวอย่างกันเลยครับ  หากเรากำลังซื้อนมถั่วเหลืองกล่องละ 13 บาท และพบว่า นมถั่วเหลืองยี่ห้อนี้มีขนาด 220 มิลลิลิตร ซึ่งมีรายละเอียดระบุดังนี้

– จำนวนหน่วยบริโภค คือ 1 “แปลว่า กล่องนี้บริโภคได้ 1 ครั้ง”

– มีไขมันทั้งหมด 4 กรัม ไขมันอิ่มตัว 1 กรัม ความหมายตรงตัวครับ ไม่มากเกินไป

– โปรตีน 6 กรัม ถือว่ามีปริมาณพอดีๆ ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป ถือว่ารับได้ครับ

– น้ำตาล 14 กรัม ลองนำมาหาร 4 ดู จะคิดออกมาเป็นปริมาณน้ำตาล 3.5 ช้อนชา ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับคำแนะนำในการบริโภคน้ำตาลต่อวัน ไม่ควรเกิน 6 ช้อนชา ก็พบได้ว่า “ไม่มากเกินไป” หากดื่ม 1 กล่องนี้

– มีแคลเซียม 35% วิตามินเอ 10% วิตามินอี 20% ความหมายคือ หากดื่มนมนี้ 1 กล่อง จะได้รับแคลเซียมคิดเป็น 35% ของความต้องการต่อวัน หากเราต้องการให้ได้รับแคลเซียมครบถ้วน ก็จะเหลืออีก 65% ที่จะบริโภค หรืออีกนัยหนึ่งคือ ให้หาเครื่องดื่มหรือนมอื่น ๆ ให้ได้รับแคลเซียมรวมกันให้ได้อีก 65%

Shares:
QR Code :
QR Code