5 แผนงานประชารัฐมิติใหม่พัฒนาประเทศ

ที่มา : ข่าวสด 


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


5 แผนงานประชารัฐมิติใหม่พัฒนาประเทศ thaihealth


ประชารัฐเป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์ของรัฐบาลในการดำเนินการให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา เพื่อการปฏิรูป และพัฒนาประเทศ อย่างยั่งยืนในอนาคต โดยแบ่งคณะทำงานเป็น 13 คณะภายใต้คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ


คณะทำงานสานพลังประชารัฐคณะที่ 13 คือคณะทำงานประชารัฐเพื่อสังคม ตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายคือชุมชนเข้มแข็ง ประชาชนมีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทีมงานพบปะและประชุมคณะทำงานประชารัฐเพื่อสังคม ครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.59 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมและ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นหัวหน้าทีมภาครัฐ นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย หัวหน้าทีมภาคเอกชน และ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ขณะที่ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วสี ที่ปรึกษาคณะทำงาน พร้อมด้วยหัวหน้าทีมภาคประชาสังคม ตัวแทนภาครัฐ และภาคเอกชนกว่า 200 คนเข้าร่วมประชุมด้วย


ดร.สมคิด กล่าวถึงการทำงานประชารัฐตลอด 1 ปีที่ผ่านมาว่า ยังเป็นเรื่องใหม่ จึงไม่มีใครเป็นเจ้าของ แต่เป็นเรื่องที่ต้องร่วมมือกัน ผลักดันให้เกิดขึ้นเพื่อสื่อสารให้สังคมเข้าใจว่ามีเป้าหมายในการสร้างอนาคตของประเทศอย่างไร


5 แผนงานประชารัฐมิติใหม่พัฒนาประเทศ thaihealth


"หากรัฐบาลมุ่งพัฒนาประเทศ เน้นเพียงเศรษฐกิจ จีดีพี โดยละเลยสังคมก็ไปต่อไม่ได้ เศรษฐกิจเติบโตแต่ภาคท้องถิ่นไม่โตตาม ก็อยู่ร่วมกันไม่ได้ ซึ่งสิ่งนี้เป็นกลยุทธ์เดียวกันที่ทำให้นายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิปดีสหรัฐอเมริกา ชนะการเลือกตั้ง เพราะนโยบายที่เข้าไปเติมเต็มท้องถิ่นให้ความสำคัญกับแรงงาน โดยเป็นจุดที่ตนพยายามดึงนโยบายประชารัฐเข้ามา เพราะหากคนไม่ได้รับพัฒนาการเมือง เศรษฐกิจก็ไปไม่ได้ แต่ 1 ปีที่ผ่านมา อาจจะเพิ่มในเรื่องการสื่อการให้มากขึ้น โดยให้ทุกหมู่บ้านมีอาสาประชารัฐเข้าไปอธิบาย สื่อสารในชุมชนได้เข้าใจ" รองนายกรัฐมนตรีกล่าว


พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า ในปี 2561 การจ้างงานคนพิการ คาดว่าจะสามารถจ้างงานได้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 15,000 อัตรา โดยเป็นสิ่งที่ทางพม.ร่วมกับกระทรวงการคลัง ผลักดันอย่างต่อเนื่องโดยภาคประชาสังคมจะเป็นกลไกสำคัญ เพื่อเชื่อมต่อให้เกิดการจ้างงานคนพิการในชุมชนและภาคเอกชน เนื่องในโอกาสวันพิการสากลประจำปี 2559 ตรงกับวันที่ 3 ธ.ค.นี้ ได้ประกาศเจตนารมณ์จ้างงานคนพิการเพิ่มขึ้นอีก 16,000 คนโดย เป้าหมายเพื่อให้ได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ หรือ 55,695 คน ของจำนวนคนพิการที่ต้องจ้างงานตามที่กฎหมายกำหนด ภายในปี 2561 เช่นกัน


5 แผนงานประชารัฐมิติใหม่พัฒนาประเทศ thaihealth


ด้าน ดร.ประเวศ กล่าวว่า ประเทศไทยมีทรัพยากรเพื่อการพัฒนามหาศาล มีมากกว่าหลายประเทศ แต่ที่แล้วมาไม่ได้เข้ามาเชื่อมโยง โดยนโยบายประชารัฐเป็นความร่วมมือกันเพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศเจริญก้าวหน้าขจัดความขัดแย้งหรือข้อจำกัดทางนโยบายและการเงิน เป็นการถักทอทางสังคมเพื่อสร้างพลังก้าวข้ามข้อจำกัดทุกประการ  


ในส่วนของภาคประชาสังคมย่อมมีบทบาทสำคัญในการ"สานพลัง"ประชารัฐให้เข้าถึงประชาชน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสสส. กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการในด้านประชาสังคม ได้ขับเคลื่อนและขยายนโยบายให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการร่วมมือของภาครัฐ และภาคเอกชน ในรูปแบบประชารัฐ รวมถึงร่วมเสนอแนวทางต่างๆ เพื่อนำไปสู่การแก้ไข อาทิ มาตรการด้านภาษี เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานได้อย่างยั่งยืน


5 แผนงานประชารัฐมิติใหม่พัฒนาประเทศ thaihealth


ทั้งนี้ คณะทำงานประชารัฐเพื่อสังคมได้พิจารณา และเห็นชอบขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมที่เร่งด่วน ซึ่งทั้ง 3 ฝ่ายจะร่วมผลักดัน ใน 5 ประเด็นประกอบด้วย 1.เพิ่มการจ้างงานคนพิการในภาครัฐให้ครบ 15,000 อัตรา ในภาคเอกชนให้ครบ 10,000 อัตราในปี 2561 2.เพิ่มการจ้างงานผู้สูงอายุ เนื่องจากปัจจุบัน 90 เปอร์เซ็นต์มีศักยภาพที่ทำงานได้ แต่พบว่าผู้สูงอายุ 34.3 เปอร์เซ็นต์ มีรายได้ต่ำกว่าเส้น และมีผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งให้อยู่ตามลำพัง คาดว่าอีก 12 ปีข้างหน้า จะมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น จึงต้องสร้างความเข้าใจเพื่อเพิ่มจำนวนผู้สูงอายุที่เข้าถึงสิทธิประโยชน์ในแต่ละประเด็น โดยเฉพาะการจ้างงาน มติครม.เห็นชอบมาตรการรองรับสังคมผู้สูงอายุที่เอกชนสามารถหักรายจ่ายได้ถึง 2 เท่า ของรายจ่ายประเภทเงินเดือนหรือค่าจ้างผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป 3.การออมเพื่อการเกษียณอายุ โดยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการออมและกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ให้ประชากร กลุ่มต่างๆ 4.พัฒนาที่อยู่อาศัยและระบบนิเวศที่เหมาะสม เพื่อรองรับผู้สูงอายุและคนพิการ คือการสร้างที่พักอาศัยที่ปลอดภัยและมีระบบบริการ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมตามแนวคิดการออกแบบเพื่อทุกคน เข้าถึงบริการและใช้ประโยชน์ได้จริง และ 5.ความปลอดภัยบนถนน ที่ปัจจุบันพบว่าทุกชั่วโมงมีคนไทยต้องเสียชีวิต 3 ราย ดังนั้นสถานประกอบการ โรงงาน นิคมอุตสาหกรรม ควรร่วมกันกำหนดนโยบายหรือมาตรการองค์กรเพื่อความปลอดภัย ทางถนน ลดการ บาดเจ็บ และเสียชีวิต จากอุบัติเหตุ ซึ่งประเด็นนี้คาดว่าคณะทำงานประชารัฐจะเริ่มประกาศใช้ ในช่วงปีใหม่ 2560 นี้


ดร.สมคิดกล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับที่คณะทำงานประชารัฐเพื่อสังคมได้พิจารณาจะร่วมผลักดัน ใน 5 ประเด็นนี้ เชื่อว่าเกิดขึ้นได้ จึงอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าไปเร่งระดมความร่วมมือทุกภาคส่วน และอยากให้เอกชนเข้ามากันลงขันจัดตั้งกองทุนประชารัฐ เพื่อมาช่วยร่วมกันลงงบประมาณ เพื่อให้ประชารัฐเดินต่อไป

Shares:
QR Code :
QR Code