5 วิธีจัดการสุขาภิบาลที่ดีหลังน้ำลด
ที่มา : เว็บไซต์คมชัดลึก
แฟ้มภาพ
กรมอนามัยแนะ 5 วิธีจัดการสุขาภิบาลที่ดีเพื่อป้องกันโรคระบาด ช่วงน้ำท่วม-หลังน้ำลด
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปให้ความรู้แก่ประชาชนในการดูแลสุขภาพตนเองทั้งในช่วงน้ำท่วมและหลังน้ำลด พร้อมทั้งให้มีการเฝ้าระวังคือบริเวณจุดอพยพหรือศูนย์พักพิง ซึ่งส่วนใหญ่ใช้มหาวิทยาลัย โรงเรียน วัด หรือเต็นท์ชั่วคราวเป็นจุดอพยพ โดยผู้ปฏิบัติงานในบริเวณดังกล่าวต้องเข้าใจวิธีการจัดการสุขาภิบาลที่ดีเพื่อป้องกันโรคระบาด ดังนี้
1) ที่นอนหรือที่พัก ควรมีลักษณะพื้นเรียบ การระบายอากาศที่ดี มีแสงสว่างเพียงพอ และกางมุ้งเพื่อป้องกันยุง หากเป็นเต็นท์ควรปรับพื้นให้เรียบ ปูด้วยผ้ายางหรือพลาสติก กำจัดมดและแมลงโดยการโรยปูนขาวรอบ ๆ บริเวณเต็นท์ 2) การทิ้งขยะ ต้องมีถังขยะใส่เศษอาหารทำด้วยวัสดุไม่รั่วซึม เช่น พลาสติก หากใช้ปิ๊ปควรมีถุงพลาสติกรองอีกชั้นหนึ่ง ถังขยะต้องมีฝาปิด และมีการแยกขยะเป็นสองถังคือถังขยะเปียกและถังขยะแห้งเพื่อง่ายต่อการกำจัด โดยรวบรวมขยะมูลฝอยใส่ในถุงดำและมัดปากถุงให้แน่นแล้วนำไปทิ้งในจุดที่กำหนดไว้
3) สถานที่ปรุงอาหารหรือครัวควรระบายอากาศได้ดี แยกห่างจากที่นอนหรือที่พัก เพื่อป้องกันกลิ่น แมลงและสัตว์ซึ่งเป็นพาหะนำโรค มีโต๊ะหรือชั้นสำหรับเตรียมปรุงอาหาร ไม่วางไว้กับพื้น อาหารต้องมีฝาปิดให้มิดชิด เพื่อลดความเสี่ยงปัญหาโรคระบาดที่เกิดจากอาหารและน้ำเป็นสื่อ เช่น อุจจาระร่วง บิด ไทฟอยด์ เป็นต้น 4) สถานที่รับประทานอาหาร ควรอยู่ใกล้ กับที่ปรุงอาหาร เพื่อความสะดวก สะอาด และถูกสุขลักษณะ และ 5) ห้องส้วม ห้องอาบน้ำ และห้องซักล้าง ควรอยู่ใกล้จุดจ่ายน้ำ สำหรับห้องส้วมต้องมีผนังกั้นมิดชิด สามารถทำเป็นที่อาบน้ำแบบรวม แต่ควรแยกชาย–หญิง ต้องมีส้วมสำหรับขับถ่ายและมีระบบเก็บกักอุจจาระ ห้ามทิ้งลงสู่แหล่งน้ำ