5 กลุ่มโรคที่มากับน้ำในช่วงหน้าฝน
ที่มา : เว็บไซต์คมชัดลึกออนไลน์
แฟ้มภาพ
สำนักอนามัย กทม. ห่วงประชาชนให้ระวัง 5 กลุ่มโรคที่มากับน้ำ พร้อมแนะนำดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยด้วยโรคสำคัญ ที่สามารถป้องกันได้ด้วยตนเอง
นายแพทย์ชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย เปิดเผยว่า ช่วงนี้ในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานครมีฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและเกิดแหล่งน้ำขังตามพื้นที่ต่างๆ ประกอบกับสภาพอากาศเปลี่ยนเเปลงบ่อย ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้เชื้อโรคแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ประชาชนเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ได้
ซึ่งโรคสำคัญที่พบบ่อย คือ 1. กลุ่มโรคทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ หรือปอดบวม โดยเกิดจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียที่อยู่ในอากาศ ติดต่อโดยการไอ จาม หากป่วยเป็นโรคปอดบวมอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ อาการสำคัญ คือ มีไข้สูง หายใจเร็วหรือเหนื่อยหอบ
2. โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ เช่น โรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ ไวรัสตับอักเสบ A อหิวาตกโรค เป็นต้น
3. โรคที่เกิดจากยุงและสัตว์ต่างๆ เช่น โรคไข้เลือดออก โรคเลปโตสไปโรซิสหรือโรคไข้ฉี่หนู ซึ่งเชื้อของโรคไข้ฉี่หนูจะปะปนอยู่ในดินโคลนที่ชื้นแฉะ โดยทั้ง 2 โรค มีอาการสำคัญ คือ อาการไข้สูง ปวดศีรษะมาก ซึ่งโรคฉี่หนูจะมีอาการเด่น คือ ปวดกล้ามเนื้อ บริเวณน่องและโคนขาอย่างรุนแรง
4. โรคที่เกิดจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย เช่น โรคมือเท้าปาก เป็นต้น อาการสำคัญ คือ มีไข้ และมีตุ่มพองใส บริเวณมือ เท้า และปาก มักพบในเด็กเล็ก หากมีภาวะแทรกซ้อนของโรคอาจมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
และ 5. โรคที่มักเกิดในภาวะน้ำท่วม เช่น โรคตาแดง โรคผิวหนังที่เกิดจากน้ำท่วมขัง โรคน้ำกัดเท้าจากเชื้อรา เป็นต้น รวมทั้งอันตรายที่เกิดจากสัตว์มีพิษ การจมน้ำ และไฟฟ้าดูด
สำหรับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพ ป้องกันโรคและภัยที่มากับน้ำ ดังนี้
1. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่
2. รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ ไม่สวมเสื้อผ้าที่เปียก และหลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ ควรสวมหน้ากากอนามัยหรือใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปาก ปิดจมูกเวลาไอ จาม
3. ใช้ฝาชีครอบอาหาร เพื่อป้องกันแมลงวันตอมอาหาร และต้องอุ่นอาหารให้ร้อนก่อนรับประทานทุกครั้ง และควรล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร ก่อน-หลังการเตรียมอาหาร และหลังขับถ่าย
4. สถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาล ต้องหมั่นดูแลรักษาสุขลักษณะของสถานที่และอุปกรณ์เครื่องใช้ ให้สะอาดอยู่เสมอ ต้องจัดให้มีอ่างล้างมือและส้วมที่ถูกสุขลักษณะ รวมถึงการกำจัดอุจจาระเด็กให้ถูกต้อง
5. ล้างมือและเท้าให้สะอาดทุกครั้งหลังจากเดินย่ำน้ำ อย่าปล่อยให้เท้าอับชื้นเป็นเวลานาน หลีกเลี่ยงการเดินในพื้นที่ชื้นเเฉะเพื่อป้องกันโรคฉี่หนู ป้องกันอย่าให้ถูกยุงกัดและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย รวมทั้งควรดูเเลบ้านเรือนให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้สัตว์นำโรคเเละสัตว์มีพิษหนีน้ำมาอาศัยอยู่ในบ้าน
6. การช่วยเหลือคนจมน้ำ โดยการเป่าปากตามจังหวะหายใจเข้า – ออก และให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที ห้ามอุ้มผู้ป่วยพาดบ่า กระโดด วิ่งรอบสนาม หรือรีดน้ำออก เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยขาดอากาศหายใจได้ ระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านขณะมีน้ำท่วมขัง สำหรับการช่วยเหลือผู้ถูกไฟฟ้าดูด ควรใช้วัตถุที่ไม่เป็นสื่อไฟฟ้า ได้แก่ ผ้า ไม้ เชือก สายยางหรือพลาสติกที่แห้งสนิท ถุงมือยางหรือผ้าแห้งพันมือให้หนา ผลักหรือฉุดตัวผู้ประสบอันตรายให้หลุดออกโดยเร็วและรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที