40% ผู้สูงอายุไทยไร้ความพร้อม
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจาก สสส.
สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย สมาคมญี่ปุ่นแห่งประเทศไทย และ Sasakawa Peace Foundation จัดงานเสวนาสาธารณะ หัวข้อ "สังคมสูงวัยไทย-ญี่ปุ่น : สูงวัยอย่างมีพลังในโลกยุคดิจิทัล" (Digital and Active Ageing in Japan and Thailand)
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า สถานการณ์สูงอายุไทยปี 2560 มีผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 11.8 ล้านคน คิดเป็น 17.1% คาดว่า ประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Complete Aged Society) ในปี 2564 โดยจะมีประชากรสูงอายุจะมีถึง 1 ใน 5 และในปี 2574 จะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด นอกจากนั้นพบว่าประชากรไทย ก่อนวัยสูงอายุกว่า 40% ยังคงไม่ได้เตรียมความพร้อมเพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพในอนาคต ทั้งด้านสุขภาพและความมั่นคงทางรายได้
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นและเกาหลีมีประเด็น น่าสนใจ มีการออกแบบนวัตกรรมที่ใช้ในการดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เช่น ธนาคารเวลา ศูนย์สวัสดิการสังคม โดยเฉพาะธนาคารเวลาที่ สสส.ร่วมกับกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) ดำเนินการในพื้นที่นำร่องของกรุงเทพมหานคร และพื้นที่นำร่อง 42 พื้นที่ใน 28 จังหวัด โดยใน ส่วนของกรุงเทพมหานคร ได้ตั้งเป้าหมาย ไว้ 11 พื้นที่ อยู่ในกระบวนการคัดเลือก พื้นที่
นายคิอิชิโร่ โออิซูมิ ผู้อำนวยการของสมาคมเอเชียศึกษา และสมาคมไทยศึกษา แห่งประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า คนญี่ปุ่นอายุขัย เฉลี่ยราว 80 ปี คนไทยราว 70 ปี ประชากรหนุ่มสาวคนไทยยังมีเวลาเตรียมตัว หากกำหนดให้ผู้สูงอายุมีอายุ 65 ปีขึ้นไปเหมือนญี่ปุ่น แต่ไทยนิยามให้ผู้สูงอายุต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป ทำให้มีสัดส่วนผู้สูงอายุเร็วขึ้น ดังนั้น อยากให้ปรับเปลี่ยนแนวคิดเป็นสูงวัยที่มีความกระปรี้กระเปร่า (Active Ageing) ภาคประชาสังคมมีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ดูแลผู้สูงอายุ เป็นการให้บริการดูแลผู้สูงอายุผ่านแอพพลิเคชั่น อำนวยความสะดวกในการส่งผู้ดูแลอยู่เป็นเพื่อน ซื้อของ เป็นต้น
นายคิม ซุง วอน อาจารย์ในมหาวิทยาลัยโตเกียว กล่าวในหัวข้อ "สถานการณ์ปัจจุบันและอนาคตของสังคมสูงวัยในเกาหลีใต้" ว่า ปี 2549 เกาหลีใต้ตั้งศูนย์สวัสดิการสังคมในชุมชนขึ้น 4 แห่ง เพื่อทำงานขับเคลื่อนสังคมเป็นตัวกลางในการเชื่อมประสานระหว่างผู้สูงอายุและชุมชน เป็นทั้งโรงอาหาร ส่งอาหาร ตรวจสุขภาพ จัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ ฯลฯ มีเจ้าหน้าที่ที่คอยประสานงาน ให้บริการต่างๆ เช่น ตัดผม รับประทานอาหารในร้าน คาราโอเกะ โดยใช้คูปองปี 2558 มีศูนย์สวัสดิการสังคมในชุมชน 454 แห่งเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ เป็นผลสำเร็จ
นายธนากร พรหมยศ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคม YoungHappy กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 11 กว่าล้านคน โดย 80% เป็นผู้สูงวัยที่มีความแอคทีฟและเป็นพลังของสังคมในการเปลี่ยนแปลงมีผู้สูงอายุ 3 ล้านคนในเมืองของไทย 60% มีปัญหาสภาวะทางจิตใจ นำไปสู่โรคต่างๆ เช่น สมองเสื่อม ซึ่งแก้ปัญหาต้องเริ่มจากครอบครัวซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุป่วยได้ โดยเปิดให้ผู้สูงอายุได้ทำกิจกรรมเพื่อผ่อนคลาย และรู้จักการสร้างประโยชน์คุณค่าให้แก่ตัวเอง รวมถึงการสานความสัมพันธ์ ความเข้าใจระหว่างวัย การสร้างสังคมแก่ผู้สูงอายุผ่านโลก โซเซียล แพลตฟอร์มต่างๆ จะช่วยผู้สูงอายุ ได้อย่างมาก