4 แนวทางดูแลเด็ก-ครอบครัวที่ติดเชื้อโควิด19 ที่ไม่แสดงอาการ
ที่มา : กรมอนามัย
แฟ้มภาพ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะนำใช้ 4 แนวทางปฏิบัติการดูแลเด็กและครอบครัวที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการ ให้ยึดหลักการดูแลเด็กไม่แยกจากครอบครัว พร้อมสนับสนุนสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยใช้ Thai stop COVID Plus ประเมินความเสี่ยงและเฝ้าระวังป้องกันโควิด-19
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พบเด็กปฐมวัยติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 1,557 คน คิดเป็นร้อยละ 1.8 ซึ่งจากมติการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนงานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติการดูแลเด็กและครอบครัวที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการด้วย 4 แนวทาง ดังนี้ แนวทางที่ 1 กรณีเด็กเป็นผู้ติดเชื้อและผู้ปกครองเป็นผู้ติดเชื้อให้เข้ารับการรักษา โดยเน้นให้จัดอยู่เป็นกลุ่มครอบครัว แนวทางที่ 2 กรณีเด็กเป็นผู้ติดเชื้อแต่ผู้ปกครองไม่เป็นผู้ติดเชื้อ ให้เด็กเข้ารับการรักษาพยาบาล ส่วนผู้ปกครองที่อายุไม่เกิน 60 ปี ไม่มีโรคประจำตัว สามารถเข้าดูแลเด็กในสถานพยาบาลได้
แนวทางที่ 3 กรณีเด็กไม่เป็นผู้ติดเชื้อแต่ผู้ปกครองเป็นผู้ติดเชื้อ ให้ญาติเป็นผู้ดูแล หากไม่มีญาติหรือผู้ดูแลเด็ก ให้ส่งเด็กไปยังสถานสงเคราะห์หรือบ้านพักในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้ดูแลต่อไป แต่ถ้าในชุมชนพบเด็กไม่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อจำนวนมาก อาจพิจารณาใช้พื้นที่สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยในชุมชนเป็นที่ดูแลเด็ก โดยพิจารณาจากความพร้อมของสถานที่ บุคลากร และการบริการจัดการตามดุลพินิจคณะกรรมการป้องกันโรคจังหวัด หรือกรุงเทพมหานคร และแนวทางที่ 4 กรณีที่เกิดการกระบาดเป็น กลุ่มก้อนในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ให้คณะกรรมการป้องกันโรคจังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร พิจารณาให้เหมาะสมตามบริบทเพื่อดำเนินการดูแลเด็กต่อไป
สำหรับการเตรียมความพร้อมเปิดสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ขอความร่วมมือประเมินตนเองผ่าน Thai stop COVID Plus เพื่อใช้ในการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อโควิด-19 พร้อมให้หน่วยงานต้นสังกัดของ สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยประเมินรับรองก่อนเปิดสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย และสนับสนุนการฉีดวัคซีนแก่ครูพี่เลี้ยงและเจ้าหน้าที่ทุกคนในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย รวมถึงคนในครอบครัวที่มีเด็กปฐมวัยเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันโควิด-19
นอกจากนี้ ในช่วงที่เปิดทำการควรกำหนดจุดรับ-ส่งเข้าออกเฉพาะจุดเท่านั้น และไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้ามาบริเวณพื้นที่ภายในของศูนย์เด็กเล็ก มีจุดคัดกรองวัดไข้ จุดล้างมือ ล้างเท้า เปลี่ยนเสื้อผ้าเด็ก รวมทั้งเตรียมการทำความสะอาดสถานที่ อุปกรณ์ ยานพาหนะรับส่งเด็ก และควรมีกำหนดพื้นที่เว้นระยะห่าง เช่น การทำกิจกรรม การจัดพื้นที่นอน และการกินอาหารด้วย ในส่วนของครูและผู้ดูแลเด็กควรมีการทำความสะอาดร่างกายก่อนปฏิบัติงาน และสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่กับเด็ก หากมีอาการเจ็บป่วยให้หยุดงานและพบแพทย์ทันที