4 วิธี ลอยกระทงดี ชีวีปลอดภัย
เรื่องโดย เทียนทิพย์ เดียวกี่ Team Content www.thaihealth.or.th
ให้สัมภาษณ์โดย นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า และ นางสาวสมรุจี สุขสม ผู้ประสานงานโครงการบุญประเพณีปลอดเหล้า ปลอดภัย สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า
ภาพโดย นัฐพร ชุ่มลือ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
“วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำก็นองเต็มตลิ่ง เราทั้งหลายชายหญิง สนุกกันจริง วันลอยกระทง”
เนื้อเพลงสุดอมตะ เนื่องในวัน ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 วันลอยกระทง ซึ่งนับเป็นประเพณีไทยอีกหนึ่งประเพณีที่หลายคนให้ความสำคัญในการขอขมาพระแม่คงคา นอกจากนี้ยังเป็นวันสนุกสนานรื่นเริง ของชุมชนในพื้นที่ต่างๆ อีกด้วย
แน่นอนว่าในทุกๆ ปี หลายหน่วยงานรณรงค์การลอยกระทงที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับปีนี้ ที่เน้นความปลอดภัย ลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่จะเป็นส่วนหนึ่งทำให้เกิดผลกระทบในชีวิตและทรัพย์สิน
เพราะว่าสถานการณ์ปัจจุบันนี้ งานลอยกระทงถูกใช้เป็นเครื่องมือของการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดย นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ให้ข้อมูลว่า มาตรการรณรงค์หลักในเทศกาลลอยกระทง คือเรื่องเหล้า โคมลอย และประทัดยักษ์ เครือข่ายองค์กรงดเหล้าจะชูประเด็นที่ปัจจัยเสี่ยงอื่นควบคู่ไปกับวันลอยกระทงปลอดเหล้า เพราะงานลอยกระทง ปลอดเหล้าระยะหลังสถานการณ์โดยรวมค่อยๆ ลดลง และค่อนข้างดีขึ้นเรื่อยๆ ส่วนปัจจัยเสริมอื่นๆ ที่ สสส.มีภารกิจในการดูเรื่องปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ ก็ไม่พ้นเรื่องโคมลอย ที่ไปเกี่ยวข้องกับไฟไหม้ อุบัติเหตุ ซึ่งเป็นการบูรณาการที่ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเหล้า ซึ่งทางออกของเรื่องปัจจัยเสี่ยงทั้งประทัดยักษ์และโคมลอย ต้องช่วยกันปลุกกระแสสังคมการท่องเที่ยวที่ปลอดภัย เป็นงานลอยกระทงที่ปลอดภัย ไม่ทำให้เกิดความเสี่ยงและทำลายวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิม
“โดยเฉพาะปัญหาจากโคมลอย ไปสร้างปัญหาขยะและไฟไหม้ รวมถึงผลกระทบที่ตามมาค่อนข้างเยอะ ซึ่งในช่วงลอยกระทงคนจำนวนมากไม่ได้ออกจากบ้านเพราะต้องมานั่งเฝ้าบ้าน กลัวไฟไหม้ ในส่วนของเครือข่ายงดเหล้าสนับสนุนการสร้างทางเลือกของกิจกรรมที่ปลอดภัย งานลอยกระทงที่มีคุณค่าที่แท้จริง” นายวิษณุ กล่าว
รู้อย่างนี้แล้ว วันนี้ทางทีมเว็บไซต์ สสส. มี 4 วิธี ลอยกระทงดี ชีวีปลอดภัยมาฝากกันค่ะ
1.ปลอดโคมลอย รักษาสิ่งแวดล้อม และลดการเกิดอัคคีภัย
2.ปลอดประทัดยักษ์ ลดบาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิต
3.ปลอดเหล้า สนับสนุนการท่องเที่ยวที่ปลอดภัย
4. ลดการใช้กระทงที่ทำจากพลาสติกและโฟม หันมาใช้วัสดุที่ทำจากธรรมชาติและย่อยสลาย
“ลอยกระทง ปลอดเหล้า” นับเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่หลายปีผ่านมา เรามีงานกระทงปลอดเหล้า เพิ่มมากขึ้นในหลายพื้นที่ โดยนางสาวสมรุจี สุขสม ผู้ประสานงานโครงการบุญประเพณีปลอดเหล้า ปลอดภัย สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) เล่าว่า มีการขยายผล ลอยกระทงปลอดเหล้า กว่า 90 พื้นที่ โดยมี 13 พื้นที่ลอยกระทงปลอดเหล้าต้นแบบ ที่สามารถวัดผล การเปลี่ยนแปลง สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย และรักษาคุณค่าสายน้ำ ได้แก่
1.งานแอ๋วยี่เป็งเจียงใหม่ จ.เชียงใหม่
2.งานประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป 1,000 ดวง จ.ตาก
3.งานลอยกระทงวิถีไทย อิ่มอร่อยสุขใจ ปลอดภัยไร้แอลกอฮอล์/บุหรี่ จ.อุตรดิตถ์
4.เทศกาลอยพระประทีปและประเพณีลอยกระทง(ปลอดเหล้า-บุหรี่) จ.สกลนคร
5.งานลอยกระทงปลอดเหล้าที่หนองประจักษ์ฯ จ.อุดรธานี
6.งานลอยกระทงปลอดเหล้าปลอดภัยใส่ใจสิ่งแวดล้อม จ.ปัตตานี
7.งานประเพณีลอยกระทงสายไทยรามัญ–มอญ สนุกสุขใจไร้แอลกอฮอล์ จ.ราชบุรี
8.งานประเพณี "สมมาน้ำ คืนเพ็ง เส็งประทีป ปลอดแอลกอฮอล์" จ.ร้อยเอ็ด
9.งานประเพณีลอยกระทงปลอดเหล้าปลอดภัย ณ สวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จ.ศรีษะเกษ
10.งานประเพณีลอยกระทงกาบกล้วยเมืองแม่กลอง ตามครรลองวิถีพอเพียง ปลอดภัยไร้ซึ่งแอลกอฮอล์ จ.สมุทรสงคราม
11.งานสืบสานประเพณีลอยกระทงปลอดเหล้าเทศบาลตำบลนาดูน จ.มหาสาคาม
12.งานประเพณีลอยกระทงย้อนยุคแม่งูเอ๋ย ไร้แอลกอฮอล์ จ.ลพบุรี
13.งานประเพณีลอยกระทง ปลอดเหล้า-เบียร์ และเบื่อประทัด จ.น่าน
นางสาวสมรุจี เล่าต่อว่า ถึงแม้ตอนนี้เรื่องของเหล้า อาจไม่ใช่ปัจจัยเสี่ยงหลักแล้ว ก็ยังเฝ้าระวังในเรื่องความปลอดภัย ที่เป็นอันตรายนอกเหนือจากเหล้า แต่เรื่องเหล้า บุหรี่ และอุบัติเหตุ เราก็มีการรณรงค์กันอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ด้วยมาตรการของการประกาศเป็นพื้นที่ปลอดเหล้า ก็เป็นอีกกลไกที่ทำให้หลายพื้นที่มีการจัดงานลอยกระทงปลอดเหล้าที่ประสบความสำเร็จ โดยมีเงื่อนไข ดังนี้
1.พื้นที่จัดงานต้องปลอดภัย ปลอดเหล้า
2.มีประกาศนโยบายสาธารณะชัดเจนกับเจ้าภาพ และคณะทำงานของแต่ละจังหวัด
3.มีชุดออกตรวจในพื้นที่จัดงาน ว่ามีผู้ประกอบการแอบดื่ม แอบขายเหล้า หรือไม่
4.มีการรณรงค์ในพื้นที่จัดงานชัดเจน เช่น นิทรรศการให้ความรู้ บูธกิจกรรม เป็นต้น
5.ประชาสัมพันธ์ ลอยกระทงปลอดเหล้าในงาน ผ่านคำถามในการประกวดนางนพมาศ เป็นต้น
สสส. สคล. และภาคีเครือข่ายร่วมกันส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามและทรงคุณค่า ขับเคลื่อนให้ประเพณีลอยกระทง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปลอดโคมลอย ปลอดประทัดยักษ์ และปลอดเหล้า
ลอยกระทงปีนี้ อย่าลืมนำ 4 วิธี ที่แนะนำข้างต้นไปปรับใช้กันนะคะ จะได้ “บุญจะส่งให้เราสุขใจ” ตามเนื้อเพลงลอยกระทงที่ร้องกัน