4 วิธี ลดเสี่ยงเบาหวาน

กรมอนามัย เผยผู้ป่วยเบาหวานจะเสี่ยงสูญเสียฟันมากกว่าคนทั่วไป พร้อมแนะ 4 วิธีป้องกันเบาหวาน งดน้ำตาลเกินจำเป็น ลดข้าวแป้ง เพิ่มผักผลไม้ เริ่มออกกำลังกาย 


4 วิธี ลดเสี่ยงเบาหวาน thaihealth

แฟ้มภาพ


นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า โรคเบาหวานยังเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญ และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตในอันดับต้นๆ ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ทั้งที่จอประสาทตา ไต เส้นประสาท หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดส่วนปลายอุดตัน ทำให้เกิดแผลที่เท้า บางรายต้องตัดขา ตาบอด ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาจำนวนมาก นอกจากนี้ ผู้ป่วยเบาหวานจะมีโอกาสสูญเสียฟัน ฟันผุ ติดเชื้อราในช่องปาก เป็นแผลและหายช้ามากกว่าคนปกติ หากควบคุมระดับน้ำตาลไม่ดี มีโอกาสเกิดโรคปริทันต์และเหงือกอักเสบรุนแรงกว่าหลายเท่า และเสี่ยงต่อการละลายของกระดูกเบ้าฟัน และสูญเสียเอ็นยึดปริทันต์ ผู้ป่วยจึงควรดูแลสุขภาพช่องปากตนเองมากเป็นพิเศษ โดยต้องพบทันตแพทย์เพื่อตรวจฟันทุกๆ 3 เดือน


"ผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่จะยังไม่รู้ตัวจนกว่าจะแสดงอาการ เช่น น้ำหนักลด ปัสสาวะบ่อย หิวน้ำบ่อย กินจุบจิบ แผลหายช้า อ่อนเพลีย ชาปลายมือ ปลายเท้า และน้ำตาลในเลือดสูง รวมทั้งผู้ที่อายุเกิน 35 ปี หรือผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคเบาหวานก็มีโอกาสเสี่ยงด้วย ดังนั้น การดูแลสุขภาพตนเองเพื่อป้องกันโรคเบาหวาน จึงเป็นสิ่งสำคัญ ด้วยการ “งด” กินน้ำตาลเกินจำเป็น เลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม “ลด”  ข้าว แป้ง จากข้าวขัดขาวเป็นข้าวกล้องหรือธัญพืชไม่ขัดสี “เพิ่ม” การกินผัก ผลไม้ หลากหลายชนิด หลายสีสลับกันทุกวัน “เริ่ม” ออกกำลังกาย เป็นประจำ สัปดาห์ละ 5 ครั้ง ครั้งละ 30 – 45 นาที หรือเพิ่มกิจกรรมทางกาย" อธิบดีกรมอนามัย กล่าว


นพ.วชิระ กล่าวว่า การควบคุมอาหารและการออกกำลังกายจะช่วยรักษาระดับน้ำตาลได้ โดยเฉพาะอาหารกลุ่มข้าวแป้ง ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรเลือกกินข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีท โฮลเกรน ธัญพืช แทนข้าวขัดขาว เลือกกินเนื้อปลาเพราะมีไขมันต่ำ หลีกเลี่ยง หนังหมู มันหมู กุนเชียง หมูยอ ไส้กรอก และเลือกใช้น้ำมันจากไขมันไม่อิ่มตัวในการปรุงอาหาร แต่ไม่ควรกินเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน สำหรับผักสามารถกินได้ไม่จำกัดแต่ให้เลี่ยงผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง ที่สำคัญควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีรสหวานทุกชนิด และอาหารหมัก ดอง อาหารเค็มจัด อาหารที่มีไขมันสูง ส่วนการออกกำลังกายเป็นประจำ สามารถลดปริมาณการใช้ยาหรือการฉีดอินซูลินได้ แถมยังช่วยลดไขมันส่วนเกิน ควบคุมหรือลดน้ำหนัก ป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน ลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ทั้งนี้ หากระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 250-300 มก./ดล. หรือ 300 มก./ดล. ไม่ควรออกกำลังกายจนกว่าน้ำตาลจะเข้าสู่ระดับปกติ สำหรับผู้ที่มีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนออกกำลังกาย


 


 


ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์


 

Shares:
QR Code :
QR Code