4 ลด ป้องกันโรคฉี่หนู
ที่มา : กรมควบคุมโรค
แฟ้มภาพ
กรมควบคุมโรค ประชุมวิชาการ “โรคฉี่หนู” เน้นความร่วมมือตามมาตรการ 4 ลด ป้องกันโรค
นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการโรคเลปโตสไปโรสิส ประจำปี 2559 ในหัวข้อ "Zero Death in Leptospirosis: How?" โดยมีศาสตราจารย์กิตติคุณนายแพทย์วิศิษฏ์ สิตปรีชา ประธานชมรมเลปโตสไปโรสิสแห่งประเทศไทย และผู้ๅอำนวยการสถานเสาวภา สภากาชาดไทย ร่วมปาฐกถาพิเศษในครั้งนี้ด้วย
นายแพทย์อำนวย กล่าวว่า โรคเลปโตสไปโรสิสหรือโรคฉี่หนู เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนและเป็นโรคประจำถิ่นของประเทศไทยมาเป็นเวลานาน มีสัตว์หลายชนิดเป็นสัตว์รังโรค เช่น หนู โค กระบือ สุกร สุนัข แมว เป็นต้น แต่หนูเป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ เพราะเชื้อโรคที่อยู่ในฉี่หนูจะปนเปื้อนอยู่ในน้ำและอยู่ในดินโคลนชื้นแฉะ เชื้อจะเข้าทางแผล รอยผิวหนังถลอก หรือผิวหนังที่แช่น้ำนานๆ กลุ่มเสี่ยงสำคัญ เช่น ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ เกษตรกร ผู้เลี้ยงสัตว์ คนงานโรงฆ่าสัตว์ กรรมกรขุดลอกคูคลอง เป็นต้น
จากข้อมูลเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 5 สิงหาคม 2559 พบผู้ป่วยโรคฉี่หนูแล้ว 1,061 ราย ในพื้นที่ 59 จังหวัด เสียชีวิต 16 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ อายุ 45-54 ปี รองลงมา 35-44 ปี และ 25-34 ปี ตามลำดับ อาชีพส่วนใหญ่เป็นเกษตร ร้อยละ 49.2 ส่วนในปี 2558 ตลอดทั้งปีพบผู้ป่วย 2,151 ราย และเสียชีวิต 51 ราย นอกจากนี้ ยังพบว่าในช่วงปี 2554 – 2558 อัตราป่วยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนอัตราป่วยตาย ตั้งแต่ปี 2554-2557 ก็มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน คือ 1.64, 1.45, 0.95, 0.87 แต่ปี 2558 อัตราป่วยตายเพิ่มเป็นร้อยละ 2
จากรายงานการสอบสวนโรคเบื้องต้น พบว่า สาเหตุเกิดจากผู้ป่วยมาพบแพทย์ช้าหรือแพทย์วินิจฉัยโรคได้ช้า ซึ่งในระยะแรกผู้ป่วยโรคฉี่หนูมักแสดงอาการไม่จำเพาะเจาะจง เช่นมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียนหรือท้องเสียร่วมด้วย คล้ายคลึงกับโรคไข้หวัดหรือโรคติดเชื้ออื่นๆ ทำให้ผู้ป่วยซื้อยามารับประทานเองหรือไปพบแพทย์แต่อาจวินิจฉัยเป็นโรคติดเชื้ออื่นๆ จนกระทั่งผู้ป่วยมีอาการเข้าสู่ระยะรุนแรง ได้แก่ มีไข้ ปวดศีรษะรุนแรง ตาแดง ตัวเหลือง เลือดออกในปอด ไตวาย และเสียชีวิตในที่สุด
นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อไปว่า จากสถานการณ์ของโรคที่จำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มลดลง แต่ พบจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นในปี 2558 นั้น ในพื้นที่ต้องวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น และจัดกิจกรรมให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาของพื้นที่ เช่น การรณรงค์ให้ประชาชนรีบไปพบแพทย์หากมีอาการเจ็บป่วย หรือเสริมสร้างกระบวนการที่ทำให้เกิดการวินิจฉัยที่รวดเร็วและดูแลรักษาผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง ที่สำคัญประชาชนต้องรู้จักวิธีป้องกันตนเอง โดยปรับให้เข้ากับวิถีการดำรงชีวิตหรือการทำงาน มีการจัดการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ชุมชนมีส่วนร่วมกับการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค จะช่วยลดการเจ็บป่วยด้วยโรคฉี่หนู และนำไปสู่การลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้ในอนาคต
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ขอความร่วมมือทุกภาคส่วน ร่วมดำเนินการป้องกันโรคฉี่หนูตามมาตรการ4 ลด ได้แก่ 1.ลดหนู โดยเก็บอาหารที่กินเหลือหรือขยะให้มิดชิด ทำลายขยะอย่างถูกวิธี 2.ลดการสัมผัส โดยการใส่รองเท้าบู๊ทหรือเครื่องป้องกันอื่นๆ ล้างตัวให้สะอาดและซับให้แห้งเมื่อไปสัมผัสน้ำท่วมขัง 3.ลดการเสียชีวิต โดยสังเกตอาการ ถ้ามีไข้ ปวดศีรษะรุนแรง ปวดกล้ามเนื้อ (โดยเฉพาะที่โคนขาหรือน่อง) หลังจากแช่น้ำ ย่ำที่ชื้นแฉะ ภายใน 7 วัน ให้สงสัยว่าเป็นโรคนี้ รีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง 4.ลดการระบาด โดยให้ผู้นำชุมชน อสม. สังเกตว่ามีผู้ป่วยที่สงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ แม้เพียงรายเดียวให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อรีบดำเนินการสอบสวนและควบคุมโรคไม่ให้แพร่ระบาด ต่อไป
สำหรับการประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18–19 สิงหาคม 2559 โดยมีแพทย์ สัตวแพทย์ พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข ชมรมเลปโตสไปโรสิสแห่งประเทศไทย สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กรมควบคุมโรค กรมปศุสัตว์ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา สถานเสาวภา สภากาชาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมกว่า 160 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ องค์ความรู้ด้านวิชาการ ด้านการเฝ้าระวัง การวินิจฉัย การดูแลรักษาผู้ป่วย และการป้องกันควบคุมโรคที่เชื่อมโยงระหว่างคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ต่อไป
"ในโอกาสนี้ ขอแนะนำประชาชนว่า หากมีอาการป่วย ดังนี้ มีไข้สูงทันทีทันใด ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อโดยเฉพาะที่น่อง ปวดกระบอกตา หลังจากการลุยน้ำขัง ขอให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็นโรคฉี่หนู และรีบไปพบแพทย์เพื่อให้การรักษา เนื่องจากโรคนี้มียารักษาหายขาดได้ อย่าซื้อยากินเอง อาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น เชื้อโรคเข้าไปทำลายอวัยวะอื่น เช่น ไต ทำให้ไตวาย และเสียชีวิตได้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422" นายแพทย์อำนวย กล่าวปิดท้าย