30 ย่าน กทม.เหมาะสมทำ “เมืองเดินได้-เดินดี”
พบ 30 ย่าน ในกรุงเทพฯ เหมาะสมในการทำเมืองเดินได้ เดินดี สะดวกต่อการเดินเท้า
ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายหัวข้อ “การจัดเตรียมและออกแบบพื้นที่สุขภาวะ” ในการประชุมวิชาการด้านกิจกรรมทางกายระดับชาติ ครั้งที่ 1 จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า ผู้สูงอายุถือเป็นตัวชี้วัดสุขภาวะของเมือง หากผู้สูงอายุยังสามารถออกมาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะได้ สะท้อนว่าเมืองนั้นมีการออกแบบเมืองที่สะดวกต่อการเดินเท้า มีระบบขนส่งสาธารณะที่ดี ซึ่งสอดคล้องกับเมืองน่าอยู่ที่สุดลำดับต้นๆ ของโลก พบว่า ส่วนใหญ่จะเป็นเมืองที่เดินได้และเดินดี คือ ออกแบบเมืองให้มีความกระชับ สามารถเดินไปไหนมาไหนได้ มีการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบผสมผสาน ที่อยู่ ที่กิน ที่ทำงาน ที่สาธารณะต่างๆ อยู่ในระยะเดิน ทำให้คนไปไหนมาไหนได้ด้วยการเดินเท้าหรือระบบขนส่งมวลชน
ผศ.ดร.นิรมล กล่าวว่า สำหรับ กทม.มีการออกแบบเมืองที่ส่งเสริมสาธารณูปโภคที่เหมาะสมกับการขับรถ ออกแบบถนนที่เป็นมิตรกับคนขับรถยนต์ แต่ไม่ใช่ทางเท้า ทำให้การเดินเท้าต้องมีความระมัดระวังรถยนต์สูงมาก ไม่เหมือนในทวีปยุโรปที่สามารถเดินอ้อยอิ่งชมสถานที่ต่างๆ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เมืองขยายออกไปยังชานเมืองไม่รู้จบ ทั้งนี้ พบว่าใน 1 ปี คน กทม.นั่งอยู่ในรถยนต์เฉลี่ยถึงคนละ 1 เดือน ขณะนี้ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง กำลังดำเนินโครงการ “Good Walk เมืองเดินได้-เมืองเดินดี” ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดย สสส.เพื่อเปลี่ยนแปลงพื้นที่ กทม. ที่มีกว่า 1,500 ตารางกิโลเมตร ให้มีสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมต่อการเดิน โดยแบ่งระยะการดำเนินการออกเป็น 3 ระยะ คือ 1.กำหนดพื้นที่ยุทธศาสตร์ว่าจุดใดที่เหมาะสมกับการทำเมืองเดินได้เมืองเดินดี ซึ่งขณะนี้สามารถระบุได้แล้วว่ายานใดสามารถทำได้ โดยพบว่ามีอยู่ 30 ย่าน หรือประมาณ 11% ของพื้นที่ กทม.ทั้งหมดที่สามารถทำได้ เช่น ย่านสยาม-ปทุมวัน ย่านราชประสงค์-ประตูน้ำ ย่านสีลม-สาทร ย่านอโศก-เพชรบุรี และย่านพร้อมพงษ์ เป็นต้น ถือเป็น 5 ย่านเดินดีในอนาคตของ กทม.
ผศ.ดร.นิรมล กล่าวอีกว่า 2.ศึกษาสภาพแวดล้อมพื้นที่นั้นว่ามีปัญหาหรืออุปสรรคอะไรที่ขัดขวางต่อการเดิน เช่น ขาดที่ร่มเงาหรือไม่ มีสิ่งกีดขวาง ทางเท้ามีความสะดวกหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งขณะนี้การดำเนินงานยังอยู่ในระยะที่ 2 โดยคาดว่าจะศึกษาเสร็จสิ้นภายในต้นปี 2559 และ 3.วางแผนผัง หรือออกแบบเมืองเดินได้เมืองเดินดี โดยใช้ข้อมูลจากการศึกษาในระยะที่ 2 มาดำเนินการต่อ ซึ่งจะมีการเลือกพื้นที่นำร่องมาดำเนินการประมาณ 3-4 ย่าน โดยจะมีการประสานภาคีพัฒนาเพื่อผลักดันสู่การปฏิบัติจริง และเสนอต่อ กทม. เพื่อใช้เป็นพื้นที่นำร่องต้นแบบในการทำเป็นเมืองเดินได้ เมืองเดินดีในที่สุด
ที่มา: เว็บไซต์บ้านเมือง