3 ไม่ ห่างไกลโรค NCDs วิถีสุขภาวะคนมหาสวัสดิ์
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ภาพประกอพจากแฟ้มภาพ
"เคยถามชาวบ้านว่าทำไมต้องกิน เขาบอกว่าก็ไม่ได้ซื้อ เขาเลี้ยงฟรี เวลาทานผลไม้อีก ถามว่าจำเป็นไหมต้องจิ้มพริกกับเกลือ เวลาทานข้าว ขวดหรือถ้วยน้ำปลาวางที.โต๊ะ ยังไม่ทันชิมเลยหยิบตักน้ำปลาหยอดลงในข้าวก่อน"
ด้วยบทบาทหน้าที่ในการเป็นหน่วยงาน ด้านสาธารณสุขดูแลสุขภาพประชาชนทั้ง กลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยงและกลุ่มผู้ป่วยใน ต.มหาสวัสดิ์ จ.นครปฐม สมยงค์ ทุ่งสาร พยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) มหาสวัสดิ์ ออกสำรวจเพื่อคัดกรองแยกกลุ่มผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยงในชุมชน พบว่ามีสถิติผู้ป่วยรายใหม่เกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อันมาจากพฤติกรรมการมีสุขภาวะไม่ถูกต้อง เช่น เบาหวาน ความดัน หลอดเลือดหัวใจ มะเร็ง ไต ไขมันอุดตันเส้นเลือด ฯลฯ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะมากกว่าร้อยละห้าสิบของผู้สูงอายุในชุมชนล้วนเป็นโรค NCDs ยิ่งค้นก็ยิ่งเจอ จึงพยายามนำกลุ่มเสี่ยงมาปรับพฤติกรรมไม่ให้เป็นมากขึ้น คนที่ป่วยอยู่แล้วออกเยี่ยมบ้านให้การดูแลใกล้ชิด ก็เริ่มคิดว่าเรามีคนเดียวถ้าเป็นมากขึ้นขนาดนี้จะดูแลสุขภาพทั้งชุมชนไหวไหม รักษาอย่างเดียวก็แย่แล้ว
สมยงค์เล่าต่อว่าปี 2553 จึงเริ่มหาแนวทางว่าจะทำอย่างไรให้ชาวบ้านตื่นรู้ว่า ไม่ควรกินหวาน มัน เค็ม และหันมาออกกำลังกายมากขึ้น เริ่มจากทำประชาคมกับชาวบ้านร่วมกันครั้งแรก ตั้งมาตรการผ่านกิจกรรมคำขวัญรณรงค์สั้นๆ 2 หัวข้อแต่ละหมู่บ้าน และทำป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ แต่สุดท้ายก็ไม่ประสบความสำเร็จ
พอน้ำท่วมปี 2554 ป้ายเหล่านั้นก็หายวับไปกับตาไม่เหลือ เมื่อกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายสุขภาพดีวิถีไทย จึงเริ่มต้นใหม่ในปลายปี 2555 นครปฐมรับลูกเป็นจังหวัดยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีคนนครปฐมเพื่อลดโรค NCDs จึงนำมาขยายผลต่อเป็นยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีคนมหาสวัสดิ์ โดยหนึ่งในกิจกรรมย่อยคือมาตรการ 3 ไม่ลดโรค NCDs "ไม่ดื่ม ไม่จิ้ม ไม่เติม"
"เคยถามชาวบ้านว่าทำไมต้องกิน เขาบอกว่าก็ไม่ได้ซื้อ เขาเลี้ยงฟรี เวลาทานผลไม้อีก ถามว่าจำเป็นไหมต้องจิ้มพริกกับเกลือ เวลาทานข้าว ขวดหรือถ้วยน้ำปลาวางที่โต๊ะ ยังไม่ทันชิมเลยหยิบตักน้ำปลาหยอดลงในข้าวก่อน"
เมื่อเปลี่ยนแนวทางรณรงค์ใหม่ เริ่มคิดจากเรื่องง่ายๆ ที่มองว่าน่าจะทำได้ก่อน จึงสังเกตวิถีคนในชุมชน ทุกงานเลี้ยงไม่ว่าจะงานแต่ง งานบวช หรืองานไหน สิ่งแรกที่ต้องนำมาตั้งบนโต๊ะคือ "น้ำอัดลม" ทุกโต๊ะทุกงานลูกหลานเด็กเล็กดื่มกันเพลิดเพลินใจ จากพฤติกรรมดังกล่าว มาสู่มาตรการสามเรื่อง คือ ไม่รับประทานน้ำอัดลม ไม่จิ้มพริกกับเกลือ ไม่เติมน้ำปลาเวลากินข้าว โดยหน่วยงานแรกที่เป็นต้นแบบ คือทาง รพ.สต.มหาสวัสดิ์เอง ก่อนขยับสู่กิจกรรมงานประชุมชมรมต่างๆ ที่มีประจำทุกเดือน "เวลามีเลี้ยงข้าวกลางวันเราแจ้งแม่ครัวให้งดเอาน้ำปลาพริก พริกกับเกลือมาตั้ง ช่วงแรก แม่ครัวไม่ยอมฟังไม่สนใจ ดิฉันเดินเก็บถ้วยพริกน้ำปลาออกทุกโต๊ะเลย"
สมยงค์ บอกว่าแรกๆ ก็มีสายตาจ้องแบบงงๆ แต่เชื่อว่าความปรารถนาดีที่มีให้ชาวบ้านจะเข้าใจ ทำต่อเนื่องบ่อยๆ หลายคนเริ่มรับรู้และนำไปปฏิบัติต่อ มากบ้างน้อยบ้าง
บอกลา "งานเลี้ยงเสิร์ฟน้ำอัดลม" แรกเริ่มทำเฉพาะในพื้นที่่ แต่อยากขยายผลออกไป เธอเล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นของการพาโครงการ "3 ไม่" ออกนอกรั้ว รพ.สต.สู่ชุมชนครั้งแรก ทุกปี ผู้ใหญ่บ้านจะจัดงานปีใหม่ เราคุยกันในทีมว่าอยากให้ 3 ไม่ของเราดัง ก็เลยไปคุยกับผู้ใหญ่บ้าน พร้อมข้อเสนอว่า ขอให้นำค่าน้ำอัดลมมาเป็นงบไปซื้อของขวัญจับฉลากแจกทุกโต๊ะ โดยเราจะขอสมทบส่วนที่เกินให้ ผู้ใหญ่บ้านตกลง แต่มีข้อแม้ว่า คุณสมยงค์ต้องเป็นผู้ประกาศบนเวทีว่าทำไมไม่มีน้ำอัดลม ก็เข้าทางเราเลย เราจัดการให้หมด ทำป้ายไวนิลขึ้นมา ตั้งชื่อด้วยว่าเป็นงานเลี้ยงปีใหม่ปลอดน้ำอัดลม
สมยงค์ยอมรับว่าช่วงแรกมีเสียงบ่นอื้ออึงไม่พอใจ แต่เธอไม่หวั่นไหว เพราะถือว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้ "เราอยากให้ในชุมชนพูดถึงเรื่องนี้มากๆ อาจสะกิดใจคนที่ได้ฟัง ให้คิดว่าทำไมเราถึงไม่อยากให้เขากิน เพราะเราอยากให้เขามีสุขภาพดี" เธอเล่าว่านายก อบต.เป็นอีกบุคคลที่มองว่าไม่ได้ให้ความสนใจโครงการนี้ใน ตอนแรก แต่ในงานเลี้ยงวันสงกรานต์ที่ นายก อบต.จัดขึ้นปีเดียวกัน กลับเกิดปรากฏการณ์แปลกใหม่ เพราะงานวันนั้นไม่มีน้ำอัดลมบนโต๊ะสักขวด
ข่าวเรื่องมหาสวัสดิ์จัดงานเลี้ยงไม่มีน้ำอัดลมแพร่สะพัดจนเลื่องลือไปถึงนอกอำเภอ ต่อมาหน่วยงานท้องถิ่น เริ่มหนุนเสริมนโยบายนี้ เกิดประชามติในชุมชนเห็นพ้องกันว่า น่าจะทำป้ายนโยบายจัดงานเลี้ยงปลอดน้ำอัดลมเป็นทางการ หากใครจัดงานก็สามารถนำป้ายนี้ไปติดหน้างานได้
ทุกปลายปีประมาณเดือนกันยายน รพ.สต.มหาสวัสดิ์จะจัดมหกรรมสุขภาพในชุมชน โดยครอบครัวหรือผู้นำชุมชนคนใดที่ปรับพฤติกรรมสุขภาพ หรือมีบ้านไหนจัดงานแล้วปลอดน้ำอัดลมจะจดบันทึกไว้ ปลายปีจะมอบเกียรติบัตรให้ ซึ่งล่าสุด สมยงค์กล่าวอย่างภูมิใจว่าปีนี้มีครอบครัวที่ร่วมโครงการมากขึ้น
"ผู้ป่วยเราก็พยายามให้ความรู้ เขาปรับลดได้มากขึ้น เดิมมีผู้ป่วยหลายรายเวลาไปท้องไร่ท้องนาต้องมีกระติกน้ำใส่น้ำอัดลมพกไปกินด้วย ก็เริ่มปรับพฤติกรรม น้ำปลาไม่เติม น้ำจิ้มก็ไม่กิน เมื่อก่อนผู้ป่วยรายหนึ่งต้องรับประทานยาเบาหวาน ปัจจุบันไม่ต้องกินยาอีกแล้ว"
มาตรการ " 3 ไม่" เป็นหนึ่งตัวอย่างของนวัตกรรมการดำเนินโครงการขับเคลื่อนวิชาชีพการพยาบาลเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ที่ดำเนินการใน 5 พื้นที่ โดยสภาการพยาบาลและสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ (สำนัก 7) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้มีความร่วมมือกันขึ้น ร่วมกับคณะพยาบาลศาสตร์ 5 แห่งในภาคต่างๆ ทั่วประเทศ
ถือเป็นหนึ่งในการรณรงค์สุขภาพที่เกิดจากการคิดวิเคราะห์ปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นจริงของคนในชุมชนอย่างแท้จริง