3 โรคชายวัย 40 ขึ้นไป ต้องหมั่นดูแล
กลุ่มแพทย์โรคทางเดินปัสสาวะ เผยชายวัยกลางคนวัย 40 ขึ้นไปควรระวัง 3 ปัญหาสุขภาพ ทั้งโรคต่อมลูกหมากโต ภาวะกระเพาะปัสสาวะทำงานไว และอาการหย่อนสมรรถภาพ ชี้หากละเลยการดูแลสุขภาพก็จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อตัวเอง รวมถึงคนรอบข้าง
ศ.นพ.วชิร คชการ ประธานกรรมการ ชมรมควบคุมระบบขับถ่ายปัสสาวะแห่งประเทศไทย ร่วมให้ความรู้ในการเสวนา "ไขเรื่องลับๆ สำหรับสุขภาพเพศชาย ที่ไม่ต้องอายกันอีกต่อไป" ซึ่งจัดโดยชมรมควบคุมระบบขับถ่ายปัสสาวะแห่งประเทศไทย ว่า ชายไทยในปัจจุบันต้องเผชิญกับภาวะความเครียด ความกดดันจากความรับผิดชอบในตำแหน่งหน้าที่การงานที่มากขึ้นตามลำดับ จนทำให้บางครั้งอาจหลงลืมหรือมองข้ามการดูแลสุขภาพของตัวเองไป ประกอบกับการพักผ่อนน้อย การรับประทานอาหารที่ได้โภชนาการที่ไม่เพียงพอ ไม่ได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพแบบสะสม จึงส่งผลให้ระบบต่างๆ ของร่างกายทำงานไม่ปกติหรือทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ อันจะทำให้เกิดผลเสียหายต่อสุขภาพตั้งแต่เรื่องเล็กๆ จนถึงขั้นก่อให้เกิดโรคที่ร้ายแรงตามมา รวมถึงความเสี่ยงของการเกิดโรคต่อมลูกหมากโต ภาวะกระเพาะปัสสาวะทำงานไว และอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศชาย หากหมั่นสังเกตอาการและสัญญาณเตือนต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกาย พร้อมพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อเข้ารับการรักษาและคำแนะนำในการดูแลสุขภาพร่างกายอย่างสม่ำเสมอ ก็จะสามารถขจัดความเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที
น.อ.นพ.สนธิเดช ศิวิไลกุล ผู้เชี่ยวชาญศัลยกรรมระบบปัสสาวะ โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรม 1 แพทย์ทหารเรือ กล่าวถึงโรคต่อมลูกหมากว่า อาการที่เกี่ยวกับโรคต่อมลูกหมากพบได้มากในเพศชายอายุตั้งแต่ 40 ปี โดยเฉพาะในช่วงอายุ 50-60 ปี ซึ่งจะมีภาวะต่อมลูกหมากขนาดใหญ่มากขึ้น ส่งผลให้ไปกดเบียดทางเดินปัสสาวะ ร่วมกับการกระตุ้นจากระบบประสาท ทำให้บริเวณหูรูดและทางออกของปัสสาวะมีการหดเกร็งมากขึ้นกว่าปกติ ทำให้ท่อปัสสาวะแคบลง เป็นผลให้ปัสสาวะลำเล็กลง ปัสสาวะไม่พุ่ง ปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืน หรือกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะขัด ใช้เวลาปัสสาวะนาน
ด้าน รศ.นพ.อภิรักษ์ สันติงามกุล ผู้เชี่ยวชาญศัลยกรรมระบบปัสสาวะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวเสริมเกี่ยวกับการรักษาโรคต่อมลูกหมากว่า แนวทางการรักษาโรคต่อมลูกหมากโตในผู้ป่วยแต่ละคนมีความแตกต่างกันออกไป เช่น ในผู้ป่วยที่มีอาการปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน รักษาได้โดยไม่ต้องใช้ยา เพียงแค่หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ก็สามารถทำให้อาการดีขึ้นได้โดยไม่ต้องทานยา หากอาการไม่ดีขึ้นก็จะให้ยาที่ช่วยลดการกระตุ้นจากระบบประสาทบริเวณหูรูดกระเพาะปัสสาวะและต่อมลูกหมาก สำหรับในผู้ป่วยที่มีอาการปัสสาวะบ่อย กลั้นไม่ได้ ก็อาจจำเป็นต้องให้ยาที่มีผลกับกระเพาะปัสสาวะร่วมด้วย ในผู้ป่วยบางรายที่การให้ยาไม่ได้ผล หรือมีอาการปัสสาวะไม่ออกเลยจนถึงขั้นต้องใส่สายสวนปัสสาวะ ทั้งๆ ที่รับประทานยาอย่างต่อเนื่องอยู่ตลอดไม่เคยขาด ก็จำเป็นจะต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดต่อมลูกหมากผ่านการส่องกล้องเพื่อให้กลับมาปัสสาวะได้
ส่วน นพ.วสันต์ เศรษฐวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญศัลยกรรมระบบปัสสาวะ โรงพยาบาลเลิดสิน ได้กล่าวถึงภาวะกระเพาะปัสสาวะทำงานไว หรือโอเอบี ว่า โรคนี้พบได้ในผู้ป่วยทั้งชายและหญิง โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป มีอาการที่ผู้ป่วยต้องรีบเข้าห้องน้ำทันทีที่ปวดปัสสาวะ ไม่สามารถกลั้นหรือผัดผ่อนได้ (Urgency) บางคนอาจมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่จนมีปัสสาวะเล็ดราดออกมาก่อนไปถึงห้องน้ำ (Urge incontinence) หรืออาการปัสสาวะบ่อย (Frequency) คือปัสสาวะมากกว่า 8 ครั้งต่อวัน หรือตื่นกลางดึกเพื่อถ่ายปัสสาวะ (Nocturia) ร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ อาการอาจแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถยืนยันถึงสาเหตุที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากกล้ามเนื้อผนังกระเพาะบีบตัวบ่อยกว่าปกติ สำหรับการรักษาต้องทำควบคู่กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การฝึกกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน และการใช้ยาเพื่อให้ได้ผลสูงสุด ส่วนผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษานี้อาจต้องใช้ยาฉีดเข้าผนังกระเพาะปัสสาวะ เพื่อลดการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น งดดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
นพ.จรัสพงศ์ ดิศรานันท์ ศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะ เปิดเผยถึงอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หรือโรคอีดี (Erectile Dysfunction) ว่า อาการที่ อวัยวะเพศไม่สามารถแข็งตัวหรือแข็งตัวได้ไม่นานพอที่จะมีเพศสัมพันธ์ได้ มีสาเหตุมาจากเส้นเลือดตีบ เส้นประสาทเสื่อม ซึ่งเกิดจากโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ปัจจุบันนี้เข้าใจว่าอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศและอาการต่อมลูกหมากโตอาจจะมีสาเหตุร่วมกัน เนื่องจากพบร่วมกันได้มาก การรักษาสามารถทำได้หลายวิธี ตั้งแต่การตรวจร่างกายในห้องปฏิบัติการ เช่น เบาหวาน ไขมัน การทำงานของตับ ไต ในบางรายที่ความต้องการทางเพศลดลง หรือตรวจร่างกายพบลูกอัณฑะขนาดเล็ก จำเป็นต้องได้รับการตรวจฮอร์โมนเพศชายร่วมด้วย รวมถึงการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การออกกำลังกาย การงดสูบบุหรี่ การลดน้ำหนัก และการรับประทานยา การใช้ปั๊มสุญญากาศ การใช้ยาฉีด หรือการผ่าตัดใส่แกนอวัยวะเพศ หรือใช้หลายๆ วิธีร่วมกันตามคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต