3 เทคนิคตรวจ “สเตียรอยด์” ก่อนใช้ยาสมุนไพร

ที่มา:ผู้จัดการ ออนไลน์


3 เทคนิคตรวจ “สเตียรอยด์” ก่อนใช้ยาสมุนไพร thaihealth


แฟ้มภาพ


อยากหันมาใช้ “ยาสมุนไพร” แต่ก็ไม่แน่ใจว่ามี “สเตียรอยด์” ผสมหรือไม่ เพราะปรากฏเป็นข่าวบ่อยครั้งเหลือเกินว่าสามารถจับยาสมุนไพรที่ลอบผสมสเตียรอยด์ หรือมีคนได้รับอันตรายจากการใช้ยาสมุนไพรที่ผสมสเตียรอยด์ ทำให้หลายคนไม่กล้าใช้ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรเสียที ทั้งที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้ประเทศไทยนิยมใช้ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรเพิ่มมากขึ้น


สำหรับคนที่อยากใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากสมุนไพร และอยากได้ความชัวร์ว่า ปลอดภัย ไร้สารสเตียรอยด์ ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกันก่อนว่า “สเตียรอยด์” คืออะไร ทำไมถึงต้องมาอยู่ในยาหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ


ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สเตียรอยด์เป็นสารธรรมชาติ ที่ร่างกายต้องการนำไปใช้เพียงเล็กน้อย แต่หากร่างกายรับสเตียรอยด์เข้าไปเป็นจำนวนมากและเป็นเวลานาน สเตียรอยด์จะไปกดต่อมหมวกไต และเมื่อหยุดกินทันทีจะเกิดอาการช็อกและเสียชีวิตได้ ส่วนสาเหตุที่พบสเตียรอยด์ผสมอยู่ในยาสมุนไพรและครีมต่างๆ เช่น ยาสมุนไพร ยาโบราณ ยาลูกกลอน ยาชุดแก้ภูมิแพ้ ยาชุดปวดเมื่อย เนื่องจากสเตียรอยด์มีสรรพคุณแก้ปวดอย่างแรง ลดอาการบวมอักเสบ เรียกได้ว่า เป็นสารที่ทำให้ร่างกายดีขึ้น แต่เป็นเพียงผลระยะสั้น ถ้าต้องการผลระยะยาวต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์


“นอกจากนี้ สเตียรอยด์ยังพบตามผลิตภัณฑ์เสริมความงาม เช่น ยาแต้มสิว ยาฉีดสิว ครีมหน้าใสและครีมหน้าเด็ก จะสังเกตได้ง่ายๆ คือ เมื่อทาครีมที่มีสเตียรอยด์ลงไป หน้าจะขาวเร็ว สิวหายในระยะเวลาที่รวดเร็ว ส่วนผลข้างเคียงที่ตามมาคือ เกิดผดผื่นขึ้นหน้า ริ้วรอย และผิวแพ้ง่าย ที่สำคัญ คนส่วนมากที่รับประทานหรือใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ไม่ทราบว่ามีสเตียรอยด์ปนเปื้อนอยู่” ผศ.ภญ.นิยดา กล่าว


ผศ.ภญ.นิยดา กล่าวอีกว่า สเตียรอยด์เป็นสารที่มีอันตรายถึงชีวิต จึงถูกจัดเป็นยาควบคุมพิเศษที่ต้องใช้อย่างระมัดระวังจึงจะเกิดความปลอดภัย ต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายเท่านั้น ร้านขายยาไม่สามารถจำหน่ายได้หากไม่มีใบสั่งยาจากแพทย์ เพราะฉะนั้น ถ้ามีลักลอบใส่สเตียรอยด์ในผลิตภัณฑ์โดยไม่แจ้ง ใส่ในปริมาณมากเกินความจำเป็น และไปโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณ ถือว่าเป็นการทำผิดกฎหมาย


สำหรับการสังเกตว่า ผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ โดยเฉพาะจากสมุนไพรนั้นมีสเตียรอยด์ผสมหรือไม่ นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แนะนำวิธีแรกว่า ขอให้สังเกตว่า หากมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพหรือยาสมุนไพรต่างๆ ว่ากินแล้วหายดี หายเร็ว อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงหลายอย่าง ให้พึงระวังว่ามีการผสมสารสเตียรอยด์ หรือสารอันตรายอื่นปลอมปนอยู่ ต้องระมัดระวังให้ดี ซึ่งตรงนี้น่าห่วง เพราะคนไทยส่วนใหญ่มักมีนิสัย ชอบอะไรรวดเร็ว ง่ายๆ เมื่อป่วย ปวดเมื่อย ก็มักอยากจะหายเร็ว จึงหลงเชื่อโฆษณายาสมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพลักษณะเช่นนี้มาก


สำหรับวิธีที่สอง นพ.สุรโชค กล่าวว่า ให้สังเกตว่ามีเครื่องหมาย อย.หรือไม่ เพราะสมุนไพรที่มีสเตียรอยด์ปนเปื้อนคือ สมุนที่ไม่ได้รับการผ่าน อย. เนื่องจากส่วนใหญ่บริษัทที่ผลิตสมุนไพรที่ไม่หวังใส่สเตียรอยด์ ก็จะมาขึ้นทะเบียน อย. อยู่แล้ว สำหรับวิธีดูเครื่องหมาย อย. นั้น ให้ดูที่เลขทะเบียน โดยเข้าไปที่เว็บไซต์ โดยพิมพ์ว่า “ระบบตรวจสอบผลิตภัณฑ์” ของคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข จากนั้นให้กรอกหมายเลขลงไปตรงช่องสืบค้นข้อมูล ตามด้วยชื่อผลิตภัณฑ์ ถ้าถูกต้องตาม อย. ระบบจะขึ้นรายชื่อและประเภทของผลิตภัณฑ์ ควรตรวจสอบก่อนเลือกซื้อยาดังกล่าว หากไม่มีเครื่องหมาย อย. แปลว่า ไม่ได้รับการรับรองคุณภาพจากหน่วยงานของรัฐ ฉะนั้น จึงควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่มีสเตียรอยด์ปนปลอม แต่ถ้าสงสัยก็สามารถสอบถามสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ให้เข้าไปตรวจสอบให้ได้


นอกจากวิธีการสังเกต 2 วิธีดังกล่าวแล้ว หากต้องการลงมือตรวจสอบเองก็สามารถทำได้ ซึ่งวิธีที่สามนี้ ภญ.สุรัชนี เศวตศิลา ผู้อำนวยการสำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แนะนำว่า ให้ใช้เครื่องมือทดสอบ คือ “ชุดทดสอบสเตียรอยด์” เป็นชุดทดสอบที่ใช้เทคนิคอิมมูโนโครมาโทฟี หรือเทคนิค IC ใช้ในการตรวจหาสเตียรอยด์ในยาเท่านั้น และสำหรับตรวจหาสเตียรอยด์สองชนิดคือ เด็กซ์ซาเมทาโซน และเพร็ดนิโซโลน ซึ่งมีความแม่นยำถึง 99% ขึ้นไป สามารถหาซื้อได้จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และองค์การเภสัชกรรม โดยในชุดเครื่องมือ จะมีหลอดทดสอบ แถบทดสอบ และน้ำยาที่เป็นตัวทำละลาย


วิธีการใช้งานชุดทดสอบ ภญ.สุรัชนี อธิบายว่า หากตรวจสอบยาชนิดผงหรือน้ำ ว่า มีสเตียรอยด์หรือไม่ ให้นำยาชนิดผงหรือน้ำ ไปผสมกับน้ำยาในหลอดทดสอบ เขย่าให้เข้ากัน จากนั้นหยดลงในหลอดทดสอบ รอดูผลที่แถบทดสอบประมาณ 3 – 5 นาที ถ้าขึ้น 1 แถบ แสดงว่ามีสเตียรอยด์ปนเปื้อนอยู่ ถ้าขึ้น 2 แถบ แสดงว่าไม่มีสเตียรอยด์


สำหรับยาชนิดเม็ด ให้บดเป็นผง หรือทำให้เป็นของเหลว จากนั้นทดสอบเหมือนกับชนิดผงและน้ำ หากเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นครีม จะไม่สามารถใช้เครื่องตรวจชนิดนี้ได้ เพราะสเตียรอยด์ที่ผสมในครีมเป็นคนละประเภทกับสเตียรอยด์ที่ผสมในยา แต่จะมีเครื่องตรวจที่ใช้สำหรับตรวจครีมอยู่ ซึ่งเทคนิคการใช้จะแตกต่างกัน ซึ่งจะยุ่งยากกว่าการตรวจหาสเตียรอยด์ในยา แต่ถ้าหากอยากจะหาซื้อชุดทดสอบสเตียรอยด์ในผลิตภัณฑ์ในครีม ก็ติดต่อซื้อได้ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ภญ.สุรัชนี กล่าว


ส่วนผู้ที่ใช้ยาสมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ ซึ่งบางรายอาจใช้จนถึงขั้นติดสเตียรอยด์ก็สามารถสังเกตได้เช่นกัน โดยวิธีสังเกตว่าติดสเตียรอยด์แล้วหรือไม่ เว็บไซต์ steroidsocial.org แนะนำวิธีในการสังเกตเบื้องต้น ดังนี้


1. หลังจากกินยาหรืออาหารเสริมบำรุงสุขภาพ ชนิดนี้แล้ว อาการปวดเมื่อยหายไปอย่างรวดเร็ว 2. เจริญอาหาร หิวบ่อย กินอาหารได้เยอะขึ้น 3. ใบหน้าบวมแดงจนเห็นเส้นเลือดฝอย 4. ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมักจะมีการโฆษณาอวดอ้างเกินจริง เช่น อ้างว่าสามารถรักษาโรคได้สารพัดโรค แบบครอบจักรวาล รวมถึงสามารถรักษาโรคที่การแพทย์แผนปัจจุบันไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เช่น โรคเบาหวาน อัมพาต มะเร็ง 5. การขายมักเป็นการบอกต่อๆ กัน ส่วนสถานที่ขายก็มักจะไม่มีหลักแหล่งที่แน่นอน เช่น ขายทางรถเร่ ส่งทางไปรษณีย์ หากมีผู้รับมาขายต่อในชุมชน ก็มักไม่สามารถระบุแหล่งผลิตหรือผู้ขายได้อย่างชัดเจนแน่นอน และ 6. มักใช้เลขทะเบียนตำรับยาปลอม


ผลิตภัณฑ์สุขภาพมีจำนวนมาก เพราะฉะนั้นต้องตั้งสติก่อนซื้อหรือก่อนใช้ เพราะดูด้วยตาเปล่าไม่สามารถบอกได้ว่าผลิตภัณฑ์ตัวไหนดีหรือไม่ดี ใส่สารอันตรายหรือไม่ แต่การรู้จักสังเกตว่ามีการโฆษณาชวนเชื่อเกินจริง ก็เป็นพื้นฐานที่ทำให้เราหลีกเลี่ยงได้ หรือเพื่อความแน่ใจว่าได้รับการรับรองหรือไม่ก็ตรวจเลข อย. ซึ่งจะทำให้ทราบว่ามีการปลอมเลขทะเบียนหรือไม่ หรือหนทางสุดท้ายหากซื้อมาแล้วไม่มั่นใจก็ลองซื้อชุดทดสอบมาตรวจสอบ


อย่างน้อยก็ดีกว่าใช้ไปแล้วหน้าพัง ร่างกายแย่ แต่ก็เอาผิดเอาโทษใครไม่ได้!!

Shares:
QR Code :
QR Code