‘3 ส.’ เยียวยาจิตใจผู้ประสบภัยใต้
ที่มา : เว็บไซต์ไทยรัฐ
แฟ้มภาพ
กรมควบคุมโรค ห่วงใยปชช.เฝ้าระวังโรค "ตาแดง-ท้องเสีย-ผิวหนัง" และภัยสุขภาพจากน้ำท่วมขัง ส่งผู้ที่เกี่ยวข้องดูแล ด้านกรมสุขภาพจิต ลงพื้นที่ฟื้นฟูสภาพจิตใจผู้ประสบภัย ส่วนใหญ่เกิดอาการวิตกกังวล แนะ หลัก 3ส. ปฐมพยาบาล
นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ที่รุนแรง แม้ระดับน้ำจะลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่สถานการณ์โรคต่างๆ ยังน่าเป็นห่วง กรมควบคุมโรค ได้มอบหมายให้หน่วยงานของกรมควบคุมโรคในพื้นที่ ได้แก่ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 นครศรีธรรมราช และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 สงขลา ติดตามประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันควบคุมไม่ให้เกิดโรคติดต่อระบาดในวงกว้าง
จากการสำรวจพื้นที่ประสบภัย พบว่า โรคที่ประชาชนต้องระวังมากที่สุด ได้แก่ โรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร ซึ่งต้องเน้นย้ำผู้ประกอบอาหารถึงความสะอาด ควรแยกกับข้าวออกจากข้าว และไม่วางไว้กลางแดด โรคตาแดง สามารถติดต่อได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัส ไม่มีอันตรายรุนแรง แต่หากไม่รับการรักษา อาจติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ควรล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสที่ตา โรคผิวหนัง เช่น น้ำกัดเท้าจากเชื้อรา แผลพุพองเป็นหนอง ซึ่งเกิดจากการย่ำน้ำหรือแช่น้ำที่มีเชื้อโรค หรือความอับชื้นจากเสื้อผ้าที่ไม่สะอาด โรคฉี่หนู เป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยเชื้อออกมากับปัสสาวะสัตว์ และปนเปื้อนอยู่ในน้ำท่วมขัง โรคไข้เลือดออก ที่มียุงลายเป็นพาหะ และต้องระวังการพลัดตกหรือจมน้ำ ไม่ควรลงไปเล่นน้ำ บริเวณที่มีน้ำท่วมขัง น้ำเชี่ยว ผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ประชาชนที่อยู่ในภาวะน้ำท่วม ไม่ควรดื่มของมึนเมา
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า ภายหลังน้ำลด ก่อนที่ประชาชนจะกลับมาดำเนินชีวิตตามปกติ ทุกครอบครัวต้องทำความสะอาดเสื้อผ้า เครื่องใช้ ภายในบ้านและบริเวณรอบบ้านให้สะอาด จากนั้นตรวจสอบความเรียบร้อยของอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งต่อการอุปโภคและบริโภค ให้แน่ใจว่าปลอดภัยก่อนนำมาใช้
ด้าน นายแพทย์ชิโนรส ลี้สวัสดิ์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า อุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้เกิดขึ้นรวดเร็ว เป็นภัยพิบัติที่ประชาชนไม่ได้เตรียมตัวและเตรียมรับมือสถานการณ์ดังกล่าว นำมาซึ่งการสูญเสียทั้งทรัพย์สินและชีวิต ทางกรมสุภาพจิตได้ส่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศูนย์สุขภาพจิตที่ 5 ศูนย์สุขภาพจิตที่ 11 ศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ โรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์ ลงพื้นที่เยียวยาประชาชน ทั้งผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียง รวมถึงครอบครัวที่มีผู้เสียชีวิตจากอุทกภัยครั้งนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ จะมีความวิตกกังวล เครียดมาก จนเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า โดยสำรวจแล้วทั้งสิ้นกว่า 7 พันหลังคาเรือน
“ผู้ประสบเหตุการณ์อุทกภัยรุนแรงครั้งนี้ จะมีภาวะและความรู้สึก 2 ระยะ ได้แก่ ก่อนเกิดน้ำท่วมและหลังน้ำท่วม โดยก่อนเกิด ผู้ประสบภัยจะมีอาการวิตกกังวลเป็นอย่างมาก หลังจากนั้นจะรู้สึกโกรธ ไม่ยอมรับความจริง เนื่องจากทรัพย์สินเกิดความเสียหาย บางรายอาจเสียคนใกล้ชิด ต่อมาจะค่อยๆ ยอมรับและทำใจได้ พร้อมเข้าสู่การฟื้นฟู และดูแลผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่” รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
นายแพทย์ชิโนรส กล่าวต่อว่า การปฐมพยาบาลทางใจ จึงเน้นหลัก 3 ส. “สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง ส่งต่อเชื่อมโยง” สอดส่องมองหา โดยการสังเกตพฤติกรรมของคนรอบข้างและคนใกล้ชิด เช่น เหม่อลอย ปลีกตัวจากผู้อื่น ไม่สดใสร่าเริงเหมือนเมื่อก่อน จากนั้น ใส่ใจรับฟัง ให้เขาระบายความในใจออกมา อาจจะมีการสื่อสารด้วยภาษากาย หากพฤติกรรมยังไม่ดีขึ้น ก็ควรส่งต่อเชื่อมโยง ไปยังผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจ และรับการช่วยเหลืออย่างถูกวิธี