3 สิ่งที่ต้องสูญเสีย เมื่อคุณฝ่าสัญญาณไฟแดง
เรื่องโดย ปัญจวรา บุญสร้างสม Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลบางส่วนจาก สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.)
ภาพโดย ชยวี ลิ้มถาวรรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th สสส. และแฟ้มภาพ
“หนุ่มกัมพูชาซิ่ง จยย.ฝ่าไฟแดง พุ่งชนกระบะกลางลำ ร่างลอยตกพื้นเสียชีวิต”
“กระบะฝ่าไฟแดงชนกันกลางแยก สาหัส 5 ราย”
“ระทึก พ่วง 18 ล้อ ฝ่าไฟแดงชนกระบะ ก่อนพุ่งขึ้นเกาะกลาง ชนเสาไฟล้มกระแทกอีกหลายคัน”
จากพาดหัวข่าวข้างต้น รวมทั้งภาพเหตุการณ์ที่ถูกบันทึกได้ล้วนแล้วแต่สะท้อนให้เห็นว่า การฝ่าสัญญาณไฟจราจรนั้นทำให้เกิดอุบัติเหตุ ที่สร้างความสูญเสียร้ายแรงมากเพียงใด
สาเหตุสำคัญอันดับต้น ๆ ของการเกิดอุบัติเหตุนั้น นอกจากการขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ และการไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัยแล้ว การไม่ปฏิบัติตามกฎจราจรก็เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนมากมายนับครั้งไม่ถ้วนเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะ “การฝ่าสัญญาณไฟจราจร”
การฝ่าสัญญาณไฟจราจร เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่มีมาอย่างยาวนาน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้พยายามแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของการสร้างจิตสำนึก การติดตั้งกล้องตามแยกต่าง ๆ รวมทั้งการปรับแก้กฎหมายให้มีโทษรุนแรงขึ้นแต่ดูเหมือนผู้ขับขี่ก็ไม่ค่อยได้ให้ความสนใจ และปฏิบัติตามเท่าที่ควร การฝ่าสัญญาณไฟนั้นไม่ได้เกิดเฉพาะในช่วงการจราจรเบาบางเท่านั้น แม้แต่ในช่วงเวลาที่การจราจรคับคั่ง เราก็ยังเห็นการฝ่าไฟแดงได้บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในช่วงคาบเกี่ยวของสัญญาณไฟ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ขับขี่นั้นประมาท คิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่เป็นไร มั่นใจว่าจะไม่เกิดอุบัติเหตุ และไม่เคารพกฎจราจรที่พึงปฏิบัติ โดยหารู้ไม่ว่า ความประมาทเพียงเสี้ยววินาทีนั้น ก่อให้เกิดความสูญเสียร้ายแรงได้อย่างมากมาย ทั้งต่อตนเอง ผู้ที่ใช้รถใช้ถนนร่วมกัน ครอบครัว สังคม รวมทั้งสร้างภาระให้กับบุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรที่ทำหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้วย
มาดูกันว่า เราต้องสูญเสียอะไรไปบ้าง ให้กับความประมาทเพียงเสี้ยววินาที
1.ชีวิตและอนาคต – หากเกิดอุบัติเหตุ อาจทำให้มีผู้บาดเจ็บ หรือเสียชีวิต ซึ่งอาจจะเป็นเด็กที่กำลังเติบโต หรือเป็นบุคคลที่เป็นกำลังหลักของครอบครัว บางรายอาจต้องพิการ ทำให้พวกเขาต้องสูญเสียโอกาสและอนาคต
2.ทรัพย์สิน – รายได้หรือเงินเก็บ อาจหมดไปกับค่าซ่อมรถ ค่าปรับ ค่าชดเชย และค่ารักษาพยาบาล ในกรณีที่ทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
3.เวลา – เสียเวลาไปกับการซ่อมรถ การต่อสู้ทางคดีความ รวมทั้งการรักษาอาการบาดเจ็บ
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ เป็นอีกช่วงที่คนไทยนิยมเดินทางเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการกลับบ้านไปหาครอบครัว คนที่รัก หรือการไปท่องเที่ยว ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 ก็ยังไม่น่าวางใจ ดังนั้น การเดินทางอย่างปลอดภัย จะต้องระมัดระวังทั้งในเรื่องของโควิด-19 และอุบัติเหตุทางท้องถนนด้วย
นางสาวรุ่งอรุณ ได้พูดถึงผลกระทบจากการเกิดอุบัติเหตุว่า การเกิดอุบัติเหตุ 1 ครั้ง ทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากมาย ทั้งในเรื่องของชีวิต ทรัพย์สิน และเวลา และทำให้เกิดผู้พิการเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนวัยทำงานและเยาวชน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของประเทศ ในส่วนของพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ก็คือ การดื่มแล้วขับ ซึ่งทำให้เกิดอุบัติเหตุ และมีผู้เสียชีวิตมากถึง 25% ต่อมา คือ การขับรถเร็ว โดยเฉพาะในการขับขี่ยานพาหนะอย่างรถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งในส่วนนี้ การสวมหมวกกันน็อก สามารถช่วยได้ ทั้งคนขี่ และคนซ้อนต้องสวมหมวกกันน็อกเสมอ เพราะหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นจะช่วยลดการบาดเจ็บอย่างหนักทางศีรษะได้ และจะต้องสวมใส่อยู่เสมอ แม้ว่าจะเดินทางในระยะใกล้ ๆ ก็ตาม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนคัมภีร์มาตรฐานเพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง
นางสาวรุ่งอรุณ กล่าวเพิ่มเติมว่า การสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง และหมั่นล้างมือบ่อย ๆ ก็เป็นมาตรการที่ยังคงเน้นย้ำ และต้องปฏิบัติกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ที่ต้องเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะ ควรระมัดระวัง และเปิดหน้ากากให้น้อยที่สุด เปิดเมื่อจำเป็นเท่านั้น เช่น จิบน้ำ เมื่อรู้สึกกระหาย ถ้าเป็นไปได้ ควรรับประทานอาหารให้เรียบร้อย ก่อนออกเดินทาง เพื่อหลีกเลี่ยงการเปิดหน้ากากขณะอยู่บนรถ
“ในช่วงปีใหม่ 2565 นี้ สสส. ได้ออกแคมเปญพิเศษ 2 แคมเปญ คือ ห่วงใยใครไม่ให้เหล้า และดื่มแล้วขับ รับไหวเหรอ? เพื่อสร้างทางเลือกใหม่ ๆ ในการส่งต่อความปรารถนาดีในช่วงปีใหม่ และย้ำเตือนถึงผลกระทบที่จะตามมาหลังจากเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงภาระที่ครอบครัวอาจจะต้องแบกรับ ถ้าเรากลายเป็นผู้พิการด้วย นอกจากนี้ สสส.ยังร่วมกับภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนตำบลขับขี่ปลอดภัย ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของภาคประชาสังคม โดยทำงานควบคู่กันทั้งในเรื่องของการรณรงค์เรื่องความปลอดภัยทางถนน และเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ด้วย” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว
ใกล้เข้าสู่ช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่แล้ว สสส. และภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน ขอส่งความปรารถนาดีและความห่วงใยถึงชาวไทยทุกท่าน ใช้รถใช้ถนนด้วยความระมัดระวัง เดินทางปลอดภัย ถึงจุดหมายโดยสวัสดิภาพ
“ความประมาทเพียงเสี้ยววินาที อาจสร้างความสูญเสียได้อย่างที่เราคิดไม่ถึง” การปฏิบัติตามกฎจราจร แม้อาจจะทำให้เราต้องถึงที่หมายช้าไปบ้าง แต่ก็มั่นใจได้ว่าจะไปถึงด้วยความปลอดภัย คงไม่มีใครอยากให้ความสูญเสียเกิดขึ้น และคงไม่มีใครอยากทำลายชีวิต และอนาคตของผู้อื่นเช่นกัน อย่าปล่อยให้ความประมาท ทำให้คุณต้องกลายเป็นฆาตกรโดยไม่ตั้งใจ ร่วมกันดื่มไม่ขับ ปฏิบัติตามกฎ ลดความเร็ว เพื่อลดอุบัติเหตุ ลดความสูญเสีย ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุไปด้วยกัน