27 รพ.นำร่องรักษาทางไกลออนไลน์ ลดเสี่ยงโควิด-19
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
เเฟ้มภาพ
กรมการแพทย์ ให้บริการทางการแพทย์แบบใหม่ การรักษาออนไลน์ผ่านระบบ VDO Call และส่งยาทางไปรษณีย์ ลดความแออัด ให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาในสถานการณ์โควิด-19 (อยู่บ้าน เว้นระยะห่าง) ลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและญาติ เพิ่มขีดความสามารถการรักษานำร่อง 27 รพ. สังกัด
วันนี้ (24 เมษายน) นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวภายในงานแถลงข่าวสถานการณ์ไวรัสโคโรนา 2019 ณ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข กว่าวว่า ปัจจุบันประชาชนยังคงมีความกังวลว่าการมาโรงพยาบาลค่อนข้างลำบากมากขึ้น จึงเกิดระบบบริการทางการแพทย์แบบใหม่ (New Normal Medical Service) การรักษาออนไลน์ผ่านระบบ VDO Call และส่งยาทางไปรษณีย์ ผ่านแนวคิดยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ลดความแออัด ให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาในสถานการณ์โควิด-19 (อยู่บ้าน เว้นระยะห่าง) ลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและญาติ เพิ่มขีดความสามารถการรักษา และนำเทคโนโลยีการรักษาส่งถึงบ้าน
สำหรับเกณฑ์ผู้ป่วยที่สามารถรับบริการ ได้แก่ ต้องเป็นผู้ป่วยเก่าที่ได้รับการประเมินจากแพทย์ว่าสามารถรับบริการได้ ผู้ป่วยต้องสมัครใจการรับบริการผ่าน VDO Call และรับยาทางไปรษณีย์ และผู้ป่วยหรือญาติสามารถใช้ สมาร์ทโฟน ในการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ได้ ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้ สามารถลดความแออัดในโรงพยาบาลลงได้กว่า 30% ทั้งนี้ หากผู้ป่วยสนใจ สามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ เซ็นยินยอม เข้ารับการรักษา รอแจ้งวันนัด โดยระบบดังกล่าว รองรับสิทธิการรักษาทุกสิทธิ ไม่เสียค่าใช้จ่ายและค่ายาเพิ่มเติม ค่าส่งยาทางไปรษณีย์ ขึ้นอยู่กับสิทธิการรักษา
“เมื่อผู้ป่วยตกลงกับ รพ. ว่าขอรับบริการถึงเวลาจะมีระบบโทรไปยังผู้ป่วยตามวันและเวลาที่นัดหมาย โดยบริการดังกล่าว ครอบคลุมโรคเรื้อรังทั้งหมด เช่น เบาหวาน ความดันที่รับยาคงที่ โรคกระดูก โรคระบบประสาท ผู้ป่วยเด็ก และผู้ป่วยมะเร็งที่อาการคงที่ แต่ต้องได้รับการดูแลต่อเนื่อง ไม่ลุกลาม” รองอธิบดีกรมการแพทย์ระบุ
รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับบริการดังกล่าว เปิดให้บริการมาแล้วเป็นเวลา 2 เดือน นำร่องให้บริการใน 27 โรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ ครอบคลุมทั้งกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด ได้แก่ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลสงฆ์ สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ สถาบันทันตกรรม สถาบันประสาทวิทยา สถาบันพาธิวิทยา สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี สถาบันโรคผิวหนัง สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี โรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่
โรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี โรงพยาบาลมะเร็งลพบุรี โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี โรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี โรงพยาบาลมะเร็งสุราษฎร์ธานี โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี โรงพยาบาลโรคผิวหนังเขตร้อนภาคใต้ จังหวัดตรัง โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ จังหวัดชลบุรี และโรงพยาบาลเวชชารักษ์ จังหวัดลำปาง
ปัจจุบัน ระบบบริการทางการแพทย์แบบใหม่ ให้บริการผ่าน VDO Call ทั้งหมด 4,316 คน เฉลี่ย 200 คนต่อวัน ผู้รับยาทางไปรษณีย์ทั้งหมด 7,717 คน เฉลี่ย 363 คนต่อวัน นอกจากนี้ ยังให้คำปรึกษาแก่โรงพยาบาลอื่นๆ ในต่างจังหวัดอีกด้วย
“สำหรับแผนงานในอนาคต คือ การขยายการบริการได้ทุกสถานพยาบาลในสังกัดสาธารณสุข เชื่อมโยงข้อมูลการรักษาระหว่างโรงพยาบาลและข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วย ผู้ป่วยสามารถเก็บข้อมูลการรักษาของตัวเองไว้ในแอปพลิเคชั่น นอกจากนี้ ยังมุ่งพัฒนาสู่ระบบการส่งต่อและให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญ และขยายการบริการครอบคลุมกลุ่มโรคอื่นๆ มากขึ้น” นายแพทย์ณัฐพงศ์ กล่าว