1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม
เผยผู้ป่วยทำแท้งกลุ่มอายุ 15-19 ปีมากสุด ยังศึกษารองลงมา แถมร้อยละ 71 ท้องไม่พร้อม พบทั้งทำแท้งเองและหาหมอเถื่อน บีบหน้าท้อง-ฉีดสารเข้าช่องคลอด-ขูดมดลูกด้วยเหล็ก ส่งผลตกเลือดมาก สธ.ชูยายุติตั้งครรภ์กำลังนำร่องศึกษารูปแบบบริการ ย้ำต้องเปิดโอกาสให้หญิงท้องไม่พร้อมเข้าระบบ ลดอัตราเจ็บ-ตาย เปิดตัวสายด่วน 1663 รับปรึกษาทุกวัน
สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม ร่วมกับมูลนิธิแพธทูเฮ้ลท์ และมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานแถลงข่าวเปิดตัว “1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม” โดย นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากรายงานการเฝ้าระวังการแท้งในประเทศไทยในปี 2554 สำรวจจากโรงพยาบาล 101 แห่ง ใน 13 จังหวัด พบว่า 2 ใน 3 เป็นผู้ป่วยแท้งเอง และ 1 ใน 3 เป็นผู้ป่วยทำแท้ง สำหรับผู้ป่วยทำแท้งเป็นกลุ่มอายุ 15-19 ปีมากที่สุด ร้อยละ 28 ยังศึกษาอยู่ ร้อยละ 30.4 และไม่มีรายได้ ร้อยละ 45.0 ในกลุ่มผู้ที่ทำแท้ง ร้อยละ 71.5 เป็นการตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจ และร้อยละ 53.1 ไม่ได้คุมกำเนิด สาเหตุตัดสินใจทำแท้งส่วนใหญ่เป็นด้านสังคม/ครอบครัว, ด้านสุขภาพ และด้านเศรษฐกิจ ตามลำดับ นอกจากนี้ มีผู้ป่วยมากถึงร้อยละ 20 ที่ทำแท้งด้วยตัวเอง และอีกเกือบร้อยละ 20 ที่ทำแท้งโดยผู้ที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ หรือไม่ทราบว่าผู้ทำแท้งเป็นใคร ส่งผลให้มีผู้ป่วยร้อยละ 10 ทำแท้งด้วยวิธีการที่ไม่ปลอดภัย เช่น การบีบหน้าท้องและการใส่ของแข็งหรือฉีดสารต่างๆ ทางช่องคลอด รวมทั้งผู้ป่วยอีกร้อยละ 9 ที่ใช้วิธีการทำแท้งด้วยการขูดมดลูกด้วยเครื่องมือที่ทำจากเหล็ก ส่งผลให้ผู้ป่วยทำแท้ง ร้อยละ 21.4 มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ที่พบมากที่สุดคือ ตกเลือดมากจนต้องให้เลือดมากถึงร้อยละ 14.8
“กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายนำยายุติการตั้งครรภ์มาใช้ภายใต้ข้อบ่งชี้ทางการแพทย์และทางกฎหมาย ซึ่งรวมถึงกรณีท้องไม่พร้อม โดยองค์การอนามัยโลกได้รับรองมาเป็นเวลานานแล้วว่า ยาสำหรับยุติการตั้งครรภ์เป็นเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัยสูง ในแง่ความปลอดภัยของผู้ป่วยไม่มีเหตุผลใดที่ประเทศไทยจะไม่นำเข้ามาใช้ โดยปัจจุบันได้ดำเนินงานในลักษณะนำร่องเพื่อศึกษารูปแบบบริการ” นพ.บุญฤทธิ์กล่าว
ผศ.นพ.ธนพันธ์ ชูบุญ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า หากระบบไม่มีบริการให้ผู้หญิงจะลงเอยที่การทำแท้งไม่ปลอดภัย ดังนั้น แทนที่เราจะสอนแพทย์เหมือนเมื่อก่อนทำแท้งเป็นเรื่องบาป เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง ควรเปลี่ยนมาสอนให้คิดได้ว่าสาเหตุการทำแท้งเกิดจากอะไร มีการหาทางออกให้ ซึ่งการเปิดโอกาสให้คนที่ท้องไม่พร้อมเดินเข้ามาสู่ระบบบริการ เป็นโอกาสลดอัตราบาดเจ็บหรือการตายจากการทำแท้งเถื่อนลง ปัจจุบันผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมหันไปสืบค้นข้อมูลและซื้อยาจากอินเทอร์เน็ต ซึ่งไม่ชัดเจนว่าเป็นยาจริงหรือมีประสิทธิภาพหรือไม่ ขนาดและวิธีใช้สอดคล้องกับอายุครรภ์หรือไม่ ทำให้ส่งผลกระทบตามมา
“การที่เราทำให้ผู้ที่มีปัญหาท้องไม่พร้อมได้มีทางเลือก พบแสงสว่าง มีคนที่พร้อมจะเข้าใจ พร้อมต้อนรับให้กลับเข้ามาสู่สังคมได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นหน้าที่ของเราทุกคนในสังคม” ผศ.นพ.ธนพันธ์กล่าว
ด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า สายด่วน 1663 เป็นช่องทางแรกที่จะช่วยให้ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมได้ค้นหาทางเลือกที่จะจัดการปัญหา มุ่งหวังว่าจะช่วยลดสถานการณ์การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการทำแท้ง ทั้งนี้ ผู้หญิงจำนวนหนึ่งต้องตกเลือก ต้องตัดมดลูก เพราะได้รับบริการที่ไม่ปลอดภัย ดังนั้น 1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อมจึงจะเป็นช่องทางที่ช่วยผู้รับบริการค้นหา วิเคราะห์ และตรวจสอบทางเลือกว่าปลอดภัยต่อผู้รับบริการอย่างแท้จริงก่อนตัดสินใจเลือก โดยเปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่ 10.00-22.00 น.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์