“15 พฤษภา” รวมกิจกรรม วันครอบครัวสากล

ชี้เหตุหย่าร้างทำความสุขลดลง

 “15 พฤษภา” รวมกิจกรรม วันครอบครัวสากล

          วันที่ 14 เมษายนของทุกปี เป็นวันครอบครัวแห่งชาติของไทย แต่ส่วนวันครอบครัวสากล ตรงกับวันที่ 15 พ.ค. ของทุกปี

 

          แล้ววันนี้ครอบครัวไทยเป็นอย่างไรบ้าง…

 

          สภาพเศรษฐกิจที่ทำให้ทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองตึงเครียด ต้องหาเงินเพื่อเลี้ยงลูกๆ ให้อยู่สุขสบายที่สุด แต่พ่อแม่กลับต้องหาเงินจนตัวเป็นเกลียว บางครั้งหาเงินจนไม่มีเวลาให้กับลูก และอาจคิดเองว่า เงินคือคำตอบของทุกสิ่ง เงินจะบันดาลความสุขให้กับครอบครัวได้

 

          แท้จริงแล้ว ความหมายที่ว่า เมื่อมีเงินครอบครัวจะมีความสุขนั้น อาจบ่อนทำลายให้สถาบันที่สำคัญที่สุดของสังคมแห่งนี้ ถูกทำลายโดยไม่รู้ตัว เพราะต่างฝ่ายต่างที่จะตั้งหน้าตั้งตาหาเงิน โดยมิได้หวนคิดว่า แม้ไม่มีเงินก็สุขได้เช่นกัน

 

          ความสุขของครอบครัวส่วนหนึ่ง ต้องยอมรับว่าคือการอยู่ด้วยกันพร้อมหน้าพร้อมตา ทำกิจกรรมร่วมกัน จากข้อมูลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พบว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยมีการหย่าร้างเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว จากปี 2539 มีการหย่า 13% โดยมีผู้จดทะเบียนสมรส 436,831 คู่, หย่า 56,718 คู่

 

          และจากข้อมูลล่าสุดในปี 2549 มีผู้จดทะเบียนสมรส 347,913 คู่, หย่า 91,155 คู่ คิดเป็น 26% หรือมีการหย่าร้าง 1 คู่ ทุกๆ การจดทะเบียน 5 คู่ โดยเฉลี่ยหย่าร้างกันชั่วโมงละ 10 คู่ ทั้งนี้สภาพครอบครัวไทยจะเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น โดยมีครอบครัวที่พ่อแม่ลูกอยู่ด้วยกันเพียง 5.6 ล้านครอบครัว จากครอบครัวไทยที่มีทั้งหมด 20 ล้านครอบครัว

 

          นอกจากนี้ปัญหาเรื่องการหย่าร้างกันแล้ว ยังมีปัจจัยที่ทำให้ความสุขของครอบครัวลดลง คือ คนในบ้านติดยาเสพติด ไม่ว่าจะเป็นเหล้า บุหรี่ การพนัน ทำให้ความสุขในครอบครัวลดลง จนบางคนอยากหนีออกจากบ้าน หรือแม้แต่กระทั่งคิดฆ่าตัวตาย!!!

 

          ในขณะที่ทุกคนในบ้านอยากได้ความรักความอบอุ่นมากที่สุด แต่จากการสำรวจของมูลนิธิเครือข่ายครอบครัวที่สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ สำรวจ “สุขภาวะครอบครัวปี 2551” พบว่า เพียง 5% ซึ่งวิธีแสดงความรักกับลูกมากที่สุดคือการกอดหอมแก้ม ส่วนลูกแสดงด้วยการดูแลปรนนิบัติพ่อแม่เมื่อมีเวลา และในวันครอบครัวนี้ 40.5% จะทำกิจกรรมพิเศษร่วมกัน

 

          จากข้อมูลเพิ่มเติมระบุว่า พฤติกรรมที่ “ไม่” ยอมรับ คือพฤติกรรมชู้สาว นอกใจคู่รัก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความซื่อสัตย์ยังเป็นคุณธรรมหลักสำคัญในสังคมครอบครัวไทย

 

          ทั้งนี้มีนักวิชาการเสนอแนะว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นภายในบ้าน 70% มาจากพ่อบ้าน ดังนั้นพ่อบ้านจึงควรเปลี่ยนทัศนคติในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ระมัดระวังในด้านอารมณ์และการใช้คำพูด ควรรับฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน สำหรับผู้ที่เป็นฝ่ายผิดก็ควรจะกล่าวคำ “ขอโทษ” และสิ่งสำคัญในการแก้ไขทุกปัญหา คือ การให้อภัย

 

          และที่สำคัญควรหากิจกรรมทำร่วมกัน อาจจะทุกวันอาทิตย์ หรือทุกครั้งที่มีโอกาส โดยอาจใช้กิจกรรมทางศาสนา และใช้แนวทางปฏิบัติชีวิตด้วยวัฒนธรรมที่ดีงามและแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงปลูกฝังกล่อมเกลาลูกให้เป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต

 

          เพราะการสร้างความอบอุ่นในครอบครัวนั้นไม่จำเป็นต้องใช้เงินตรา แต่ต้องใช้ความสัมพันธ์ ความเข้าใจ รวมถึงการพูดคุยกันภายในครอบครัว ซึ่งจะเป็นสิ่งที่นำไปสู่ความใกล้ชิดผูกพัน ลดความขัดแย้งและความรุนแรงในครอบครัวได้

 

 

 

 

 

เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต

 

 

 

 

Update : 29-08-51

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code