15 นวัตกรรมตำบลรูปธรรมต้นแบบ ใช้บวรแก้ปัญหา
ที่มา : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
ภาพประกอบสำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
สสส. และเครือข่ายงดเหล้า หนุน..ให้เกิดการยกระดับ งานบุญ งานกฎหมาย ตลอดจนงานในสถานศึกษา เพื่อสร้างค่านิยมใหม่เป็นเกราะป้องกันเยาวชนให้เกิดการขยายผลสู่การเปลี่ยนแปลงระดับประเทศ หวังปี 2563 เป็นมหาสารคาม สร้างคน สร้างสังคม สร้างค่านิยมห่างไกลแอลกอฮอล์ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 61 09.00 น. จังหวัดมหาสารคาม ร่วมกับ สสส. เครือข่ายงดเหล้า ศูนย์แก้ไขปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และประชาคมงดเหล้าจังหวัดมหาสารคาม และวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม สำนักงานสาธารณสุข สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม เวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ชุมชนต้นแบบจัดการปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อเสนอแนวทางการทำงานชุมชนปลอดเหล้าในจังหวัดมหาสารคาม นำสู่การขยายผลแลกเปลี่ยนกับภูมิภาคอื่นๆ ในระดับประเทศต่อไป ในครั้งนี้ พระเทพสิทธาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม กล่าว สัมโมทนียกถา ทั้งนี้นายทวี เสริมภักดีกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานในพิธี โดยกิจกรรมในงานประกอบด้วย การเสวนาบนเวทีของบุคคลต้นแบบ และรูปแบบนิทรรศการเพื่อสื่อสารผลการดำเนินงานของชุมชนแต่ละตำบล ตลอดจนกลยุทธ์การปกป้องเยาวชนในสถานศึกษา นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ณ หอประชุมวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม
นายทวี เสริมภักดีกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า จังหวัดมหาสารคาม โดยการนำของผู้ว่าราชการจังหวัด ได้พยายามทุกวิถีทางที่จะช่วยแก้ไขปัญหาของประชาชน ปัญหาการดื่มสุราเป็นปัญหาระดับต้นๆ ที่ทางจังหวัดได้เล็งเห็น เพราะก่อให้เกิดความรุนแรงหลายๆ ด้าน เช่น อุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับการทะเลาะวิวาท ปัญหาค่าใช้จ่ายในครัวเรือนจนนำไปสู่ความรุนแรงในครอบครัว นอกจากนี้ยังพบว่า ในห้วงระยะเวลาที่ผ่านมา การดื่มสุราของเยาวชนในจังหวัดมหาสารคามมีอัตราเพิ่มขึ้น โดยข้อมูลสำรวจ ปี 2558 พบเยาวชน 15-19 ปี ในจังหวัดมหาสารคามดื่มสุราถึง ร้อยละ 34 ปัจจัยหนึ่งคือการเริ่มดื่มในเทศกาลงานประเพณีต่างๆ อย่างไรก็ตามก็ยังมีพื้นที่ที่สามารถดำเนินการแก้ปัญหาอย่างได้ผล จนสามารถยกย่องเป็นพื้นที่ต้นแบบหลายตำบล ที่มีกิจกรรม งานบุญประเพณีปลอดเหล้าในชุมชนที่เพิ่มพื้นที่ปลอดเหล้า ปลอดภัยในชุมชน อันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่เกิดจากการดื่มเหล้าอย่างยั่งยืน
ดร.นิรุจน์ อุทธา ผู้อำนวยการศูนย์แก้ไขปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภาคอีสานตอนบน กล่าวต่อว่า จากการสรุปผลการดำเนินงานระยะที่ผ่านมา พบว่า หลายพื้นที่มีการแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่อง มีกิจกรรมต่างๆ ที่ดำเนินงานประสบผลสำเร็จและช่วยแก้ปัญหาอย่างได้ผล เช่น การรณรงค์จัดงานบุญประเพณี งานศพปลอดเหล้า สถานศึกษาปลอดเหล้า และมีบางพื้นที่ที่แก้ปัญหาแอลกอฮอล์ทั้งระบบ ตั้งแต่สำรวจคนดื่ม คัดกรองกลุ่มเสี่ยงติดเหล้า และบำบัดผู้ติดเหล้า การดำเนินการแก้ไขปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากอำเภอต่างๆ จำนวน 15 ชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์ 1.เพื่อให้ชุมชนรูปธรรมที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้มีโอกาสนำเสนอผลการเนินงาน 2.เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันของชุมชนเพื่อนำข้อเด่นของพื้นที่อื่นๆ ไปปรับใช้ในพื้นที่ตนเอง 3.เป็นการประเมินผลการดำเนินงานและค้นหากิจกรรมเด่น (Best practice) ของจังหวัด และคาดหวังว่าในปี 2563 เป็นมหาสารคาม สร้างคน สร้างสังคม สร้างค่านิยมห่างไกลแอลกอฮอล์เพื่อขยายผลต่อไป