14 จังหวัด รณรงค์ ลอยกระทง ปลอดเหล้า
สธ.รณรงค์ “ลอยกระทง ปลอดเหล้า” ร่วมมือ 14 จังหวัดต้นแบบพื้นที่ปลอดแอลกอฮอล์ ส่งสายตรวจเอ็กซเรย์ทุกพื้นที่ 23-30 พ.ย. ใครฝ่าฝืนเจอโทษตาม ก.ม. ขณะที่ผลโพลระบุ ลอยกระทงเป็นอีกเทศกาลที่คนนิยมดื่มเหล้า ยอมฝ่าฝืน ก.ม.ทั้งขาย-ดื่มในที่สาธารณะ ไม่เว้นแต่ในวัด
เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2555 นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าว โครงการรณรงค์ประเพณีลอยกระทงปลอดเหล้า ปี 2555 “ลอยกระทงปลอดเหล้า บุญจะส่งให้เราสุขใจ” ในวันที่ 28 พ.ย. ว่า ได้ร่วมมือกับสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) ชมรมสร้างเสริมสุขภาพ และรองนายกสโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดรณรงค์ลอยกระทงปลอดเหล้า โดยห้ามจำหน่าย และห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดในพื้นที่ที่จัดงานลอยกระทง
สำหรับในปีนี้ดำเนินการในพื้นที่ 14 จังหวัดให้เป็นต้นแบบของการเป็นพื้นที่ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 100 % ได้แก่ 1.เทศบาลนครเชียงใหม่ 2.เทศบาลเมืองตาก 3.เทศบาลเมืองแพร่ 4.เทศบาลเมืองหลังสวน จ.ชุมพร 5.เทศบาลนครอุดรธานี 6.เทศบาลเมืองปทุมธานี 7.เทศบาลเมืองชัยนาท 8.เทศบาลตำบลภูเรือ จ.เลย 9.เทศบาลเมืองตรัง 10.เทศบาลเมืองสตูล 11.เทศบาลนครสกลนคร 12.เทศบาลเมืองลำพูน 13.เทศบาลเมืองตราด และ14.วัดอรุณราชวราราม (กทม.) เพื่อปรับเปลี่ยนค่านิยมดื่มเหล้าฉลองเทศกาล และส่งเสริมเทศกาลลอยกระทงของไทยเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามและทรงคุณค่า ไม่ให้ถูกทำลายให้เสียความเป็นเอกลักษณ์จากปัญหาที่มาจากการดื่มเหล้าเช่น อุบัติเหตุจราจร อาชญากรรม หรือมอมเมาเยาวชนหญิงและล่อลวงไปจนทำให้เสียตัวได้
ทั้งนี้ รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายส่งเสริม สนับสนุนให้ประชาชนลด ละเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด และดำเนินการกวดขันเข้มงวดการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เนื่องจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า เหล้าและบุหรี่เป็น 2 ใน 4 ตัวการหลัก ที่ทำให้คนไทยมีอายุเฉลี่ยสั้นลง และเป็นสาเหตุของโรคต่างๆกว่า 60 โรค ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดในปี 2554 มีคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากถึง 17 ล้านคน โดยเทศกาลวันลอยกระทงปีนี้ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ลงนามหนังสือสั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ทั่วประเทศและขอความร่วมมือกทม.ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขออกตรวจสอบ ห้ามขายและห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ประกาศห้าม
อย่างไรก็ตาม พื้นที่จัดงานลอยกระทงส่วนใหญ่มักจัดในสถานที่สาธารณะ ริมแม่น้ำ ท่าน้ำ ลำคลอง หรือบึง ซึ่งอยู่ในความดูแลของหน่วยราชการส่วนท้องถิ่น เป็นเขตห้ามขาย-ห้ามดื่มเหล้าอยู่แล้ว โดยจะเริ่มตรวจตั้งแต่วันที่ 23 พ.ย. -30 พ.ย. 2555 หากพบกระทำผิดจะลงโทษตามกฎหมายโดยไม่ละเว้น โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ด้าน นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ ย้ำเตือนกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ผู้ประกอบการทั้งกทม.ปริมณฑล และต่างจังหวัดทราบและปฏิบัติตามกฎหมาย มาเป็นเวลา 3-4 ปี ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีต่อเนื่อง ส่วนการฝ่าฝืนกว่าร้อยละ 90 จะพบในช่วงเทศกาลสำคัญ ในปี 2555 ได้ตรวจจับ ดำเนินคดีทั่วประเทศรวม 4,293 ราย ประกอบด้วยในเขตกทม. 2,067 ราย ที่เหลืออีก 2,226 รายอยู่ในต่างจังหวัด และได้จัดส่งทีมเฉพาะกิจลงในพื้นที่ ในรายที่มีปัญหาซับซ้อน ยากต่อการดำเนินงานของพื้นที่ และลงโทษรวมอีก 700 ราย โดยในปีงบประมาณ 2556 นี้จะตรวจเข้มข้นทุกพื้นที่ที่ห้ามขายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่ที่จะถึงด้วย
ขณะที่วันเดียวกัน เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯและต่างจังหวัด จำนวน 1,893 คน เรื่อง “ประเพณีลอยกระทงกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” พบว่า เทศกาลลอยกระทงเป็นวันที่คนนิยมดื่มเหล้า รองจากเทศกาลสงกรานต์และเทศกาลขึ้นปีใหม่ โดยประชาชนร้อยละ 92 รับรู้ รับทราบกฎหมายห้ามขาย ห้ามดื่มเหล้าในสถานที่ราชการ สถานศึกษา วัด หรือสวนสาธารณะ แต่กว่าร้อยละ 80 ระบุว่ายังพบเห็นการขาย การดื่มในพื้นที่จัดลอยกระทงในปีที่ผ่านมา สะท้อนชัดเจนว่า ประชาชนส่วนใหญ่ รู้กฎหมาย แต่ยังฝ่าฝืนกระทำผิด โดยสิ่งที่ประชาชนไม่อยากให้เกิดขึ้นในวันลอยกระทงมี 4 เรื่อง อันดับ 1 ได้แก่ การจุดประทัด พลุไฟ ร้อยละ 29 รองลงมาได้แก่การทะเลาะวิวาท ร้อยละ 26 การดื่มสุรา ร้อยละ 23 และการล่วงละเมิดทางเพศ ร้อยละ 19
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ