12 ประชาสัมพันธ์จังหวัด “รณรงค์สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ”
สสค.จับมือ 12 ประชาสัมพันธ์จังหวัด “รณรงค์สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ” หลังคุณภาพการศึกษาไทยรั้งท้ายอาเซียน ขณะที่สถานการณ์เด็กเยาวชนไทย 60% ออกจากรั้วโรงเรียนด้วยวุฒิไม่เกิน ม.6 ชี้จุดคานงัดปฏิรูปการศึกษาที่ประสบความสำเร็จใน 12 ประเทศ เริ่มที่ “ท้องถิ่น” พร้อมสื่อสารสร้างพลังความร่วมมือ-เปลี่ยนค่านิยมในสังคม
สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับประชาสัมพันธ์จังหวัด 12 จังหวัดยุทธศาสตร์เพื่อส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ ประกอบด้วยประชาสัมพันธ์จังหวัดในกลุ่ม 10 จังหวัดดีเด่น ได้แก่จ.น่าน ลำพูน กำแพงเพชร จันทบุรี ชัยภูมิ สุรินทร์ อำนาจเจริญ เพชรบุรี ภูเก็ต และยะลา รวมทั้งประชาสัมพันธ์จังหวัดในกลุ่มจังหวัดยุทธศาสตร์คือ จ.แม่ฮ่องสอนและกระบี่ ในงาน“เครือข่ายประชาสัมพันธ์จังหวัดเพื่อการสื่อสารสังคมแห่งการเรียนรู้” ระหว่างวันที่ 14-15 ตุลาคม ที่โรงแรมวิคทรี กรุงเทพฯ เพื่อร่วมกันสื่อสารรณรงค์ให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ
นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ สสค.กล่าวว่า จากการจัดอันดับคุณภาพการศึกษาไทยโดยเวทีเศรษฐกิจโลก หรือเวิลด์อีโคโนมิคฟอรั่ม (world economic forum: wef) ได้รายงานขีดความสามารถในการแข่งขันด้านคุณภาพการศึกษา ประจำปี 2555-2556 พบว่าคุณภาพการศึกษาไทยอยู่ในอันดับต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอาเซียน สิ่งที่เป็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นในสังคมขณะนี้คือ ในจำนวนเด็กที่เกิดในรุ่นเดียวกัน เฉลี่ยปีละ 900,000 คน หากเปรียบเทียบสัดส่วนคือ 1ต่อ 90,000 คน เด็กรุ่นนี้กำลังอยู่ในชั้นมัธยมถึงอุดมศึกษา พบว่า ในจำนวนเด็ก 10 คน มีเด็กถึง 6 คน หรือ 60% ที่ออกจากระบบการศึกษาด้วยวุฒิไม่เกิน ม.6 หรือปวช. ในจำนวนนี้มีเด็ก 1 คนที่ไม่จบแม้กระทั่งการศึกษาภาคบังคับหรือม.3 ขณะที่เด็กอีก 4 คนที่เหลือเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย แต่มีเพียง 1 คนเท่านั้นที่จบแล้วได้งานทำใน 1 ปีแรก โดยอัตราเข้ามหาวิทยาลัยของไทยสูงเป็นอันดับต้นๆของประเทศอาเซียน คำถามที่เกิดขึ้นคือเด็กกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศในขณะนี้ถูกเตรียมความพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานไว้มากน้อยเพียงใด และเด็กที่เข้ามหาวิทยาลัยจบออกมาด้วยทักษะการทำงานที่สูงเพียงพอแล้วหรือไม่
นพ.สุภกร กล่าวว่า ในหลายประเทศก็เผชิญกับภาวะตกต่ำของคุณภาพการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนจึงมีการปฏิรูปการศึกษาเกิดขึ้น ซึ่งพบว่าใน 12 ประเทศที่มีการปฏิรูปการศึกษาสำเร็จ ท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญที่สุด โดยมีมาตรการที่คล้ายคลึงกัน 7 ด้าน คือ 1.การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารโรงเรียน 2. จัดการสนับสนุนผู้เรียนที่มีอุปสรรค 3.ยกระดับคุณภาพครู 4. การใช้ระบบข้อมูลในการพัฒนา 5. ปรับระบบการทดสอบหลักสูตร 6. ไอซีทีเพื่อการเรียนรู้ และ 7. การสร้างวัฒนธรรมและการรณรงค์ทางสังคม ซึ่งขณะนี้พลังความร่วมมือของจังหวัดและท้องถิ่นได้ลุกขึ้นมาสร้างการเรียนรู้ที่มีคุณภาพแก่เด็กและเยาวชนในจังหวัดของตนเองแล้ว แนวทางนี้เป็นการเปลี่ยนคานงัดเป็น “การจับพื้นที่เป็นตัวตั้ง” เพื่อสร้างให้เกิดการมีส่วนร่วมตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ โดยกระตุ้นให้ท้องถิ่นลุกขึ้นมาแก้ปัญหาการศึกษาที่ตอบโจทย์ชุมชนเป็นหลัก
“มาตรการหนึ่งที่สำคัญของการปฏิรูปการเรียนรู้ที่พบในหลายประเทศที่ประสบผลสำเร็จคือ การสื่อสารรณรงค์เพื่อกระตุ้นการมีส่วนร่วมทางสังคม ประชาสัมพันธ์จังหวัดและสื่อท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญต่อการกระตุ้นให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยเฉพาะการสร้างค่านิยมแก่ผู้ปกครอง ครู ผู้บริหารสถานศึกษา และหลายๆส่วนให้มาร่วมกัน เพื่ออนาคตของเด็กเยาวชนในจังหวัด” นพ.สุภกร กล่าว
ที่มา : สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)