“108 หนังสือดี สร้างจินตนาการ อ่านสนุก”

 

“หนังสือ” เปรียบเสมือนแสงสว่างที่จุดประกายความคิด จินตนาการ และประสบการณ์ให้กับผู้อ่านทุกวัย เพื่อส่งเสริมให้เด็กไทยรักการอ่านตั้งแต่เยาว์วัยรวมถึงให้สังคมเห็นความสำคัญของการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ และเสริมสร้างสติปัญญาให้แก่เด็กอย่างเหมาะสม

แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดมอบรางวัลโครงการ”หนังสือคัดสรร 108 หนังสือดี เปิดหน้าต่างแห่งโอกาสในการพัฒนาเด็กวัยเรียน” ให้กับ 18 สำนักพิมพ์ ผู้จัดพิมพ์หนังสือที่ได้รับการคัดสรรเป็น 108 หนังสือดีสำหรับเด็กวัยเรียน  และส่งมอบหนังสือ ให้กับหน่วยงานเครือข่ายและองค์การบริหารส่วนจังหวัด ร่วมรณรงค์ส่งเสริมการอ่านแทนการบ้านและการเรียนแบบเร่งรัดเพื่อให้เด็กมีพัฒนาการและเรียนรู้อย่างมีความสุข

โครงการ “หนังสือคัดสรร 108 หนังสือดีเปิดหน้าต่างแห่งโอกาสในการพัฒนาเด็กวัยเรียน” เป็นโครงการที่จัดต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยคัดเลือกหนังสือดีสอดคล้องกับ “หน้าต่างแห่งโอกาส”ซึ่งหมายถึง ช่วงเวลาที่พัฒนาการด้านสมองเรียนรู้ดีที่สุดของเด็กวัยเรียน 6-9 ปี  ซึ่งหนังสือทั้ง 108 เล่มเป็นหนังสือที่ให้ความสุขและความสนุก เนื้อเรื่องสอดคล้องกับพัฒนาการเรียนรู้ทักษะต่างๆ ของเด็กวัยเรียน  มีทั้งหนังสือของไทย อย่างเช่นกล้วยน้ำว้าหน้าเหลือง  การเดินทางของเมล็ดต้อยติ่งบ้านฉันมหัศจรรย์ และหนังสือแปลจากต่างประเทศอย่างเช่น  นางฟ้าขี้โคลน  เดินเล่นในป่า ใครว่าหมูบินไม่ได้  และอีกหลายเล่ม

อีกหนึ่งผู้ให้ความสำคัญกับการอ่าน สุดใจ พรหมเกิด  ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน บอกว่า เด็กช่วงอายุ 6-9 ปี เป็นช่วงเหมาะสมที่จะส่งเสริมการอ่าน และการพัฒนาทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อกระบวนการเรียนรู้ด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการด้านภาษา ความคิดวิเคราะห์ หรือการสื่อสารถือว่าเป็น “ช่วงโอกาสทอง” ของเด็กวัยนี้ ที่จะได้รับโอกาสของการเรียนรู้ การสร้างสัมพันธภาพให้กับครอบครัว และกลุ่มเพื่อนวัยเดียวกัน รวมถึงโอกาสแห่งการบ่มเพาะ ปลูกฝัง กลั่นกรองการเรียนรู้และการอ่าน เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการและทักษะชีวิตเมื่อโตขึ้น

ด้านคุณหมอใจดีอย่าง นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธินผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ เล่าว่า มีลูกช่วงอายุ  6-9 ปี จะสังเกตเห็นได้เลยว่า เด็กช่วงวัยนี้จะเริ่มสนใจและเปิดรับโลกภายนอกมากขึ้น เริ่มมีจินตนาการ มีความคิดสร้างสรรค์จึงเป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่จะส่งเสริมให้เขาได้อ่านหนังสือไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือจากรูปภาพอย่างเดียวหรืออ่านหนังสือที่มีคำบรรยายประกอบภาพ ก็ถือว่าเป็นการพัฒนาสมอง ทำให้เกิดการเรียนรู้และจินตนาการ ที่เกิดจากการจำภาพ ตัวอักษร ไปพร้อมกับมีอารมณ์และความรู้สึกร่วม

“การส่งเสริมให้เด็กได้อ่านหนังสือเป็นประจำจนเป็นกิจวัตรประจำวัน จะทำให้เด็กมีสมาธิและพัฒนาการหลายๆ ด้านดีขึ้น นอกจากนี้ บทบาทของคนในครอบครัว โดยเฉพาะพ่อเมื่อไหร่ที่เข้ามาใกล้ชิดการทำกิจกรรมต่างๆ ของเด็ก อย่างการอ่านหนังสือให้เขาฟังจะทำให้เขารู้สึกอบอุ่น มีความมั่นคงทางอารมณ์สูงมากเมื่อได้รับการเอาใจใส่เป็นระยะเวลานานจะทำให้ผลการเรียนของเด็กดีขึ้นได้อย่างชัดเจนอีกด้วย” คุณหมอใจดีบอก

“หนูชอบอ่านหนังสือนิทาน เพราะในหนังสือมีรูปภาพต่างๆ ทำให้หนูได้จินตนาการตามภาพไปด้วยอ่านแล้วรู้สึกสนุก และผ่อนคลายค่ะ” น้องเกื้อ ด.ญ.กัญญาพัชร กระวนกิจ อายุ 11 ปี ป.6 รร.วัดประดู่ธรรมาธิปัตย์ บอกด้วยน้ำเสียงสดใสน้องเกื้อ หนอนหนังสือวัยจิ๋ว เล่าให้ฟังอีกว่าเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาก  โดยเฉพาะหนังสือนิทานอ่านแล้วได้ทั้งความรู้ และสนุกสนาน ในชุมชนมีเพื่อนๆชอบอ่านหนังสือเยอะ ช่วงปิดเทอมตนกับเพื่อนๆจะไปอ่านหนังสือที่ห้องสมุดเป็นประจำ

ส่วนหนังสือที่ชอบอ่านคือเรื่อง “เส้นทางถนนนางฟ้า” อ่านแล้วได้ข้อคิดว่า เราต้องมีความพยายาม ทำอะไรก็ต้องทำให้สำเร็จ อีกเรื่องหนึ่งคือ “ตึ๋งหนืด” เป็นหนังสือที่สอนให้รู้จักประหยัด ใช้เงินให้เป็น รู้จักคุณค่าของเงินอ่านแล้วสามารถนำไปใช้กับตัวเราได้

“ปิดเทอมนี้ อยากชวนเพื่อนๆ มาใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ โดยการอ่านหนังสือ ดีกว่าไปทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่มีประโยชน์ เพราะนอกจากจะได้ความรู้แล้วยังได้ผ่อนคลาย ทำให้เรามีสมาธิมากขึ้น แล้วก็ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์อีกด้วยค่ะ” หนอนหนังสือวัยจิ๋วฝากทิ้งท้าย

ไม่ว่าหนังสือเล่มนั้นจะเล็กหรือใหญ่ หนาหรือบางเป็นนวนิยาย เรื่องสั้น นิทาน หรือเล่มไหนๆ ต่างก็เป็นประโยชน์ มีคุณค่า และพัฒนาการเรียนรู้ทางปัญญาได้อย่างไม่สิ้นสุด

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง         

 

Shares:
QR Code :
QR Code