10 แรงบันดาลใจสร้างสรรค์สุขภาพ
เรื่องโดย : ชุติกาญจน์ เกียรติพันธุ์สดใส Team content www.thaihealth.or.th
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ และ แฟนแพจ Creative citizen
ในยุคที่เทคโนโลยีด้านต่าง ๆ มีความเจริญก้าวหน้า การสื่อสารที่รวดเร็ว และทันสมัย ผู้คนสามารถค้นหาข้อมูลได้อย่างหลากหลายเพียงปลายนิ้วสัมผัส แต่ทำไมเรื่องสุขภาพที่ควรเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สุด กลับกลายเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก ไม่ว่าจะเป็นความรู้ด้านโรคภัยไข้เจ็บ ความไม่เข้าใจในด้านสุขภาพ อีกทั้งความสนุกในการศึกษาเกี่ยวกับร่างกายกลับถอยหลังลง ทั้ง ๆ ที่ร่างกายมนุษย์เป็นสิ่งมหัศจรรย์ ที่ทั้งสนุก และน่าสนใจ
อย่างไรก็ตาม “ในเมฆที่มืดมนย่อมมีแสงสว่างแห่งความหวังอยู่เสมอ” แม้เรื่องสุขภาพจะเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับบางคน แต่ยังมีบุคคลอีกกลุ่ม ที่พยายามผลักดันด้านสุขภาพให้เป็นเรื่องที่สนุก และ ใกล้ตัวคนไทย เครือข่ายพลเมืองสร้างสรรค์สังคม (Creative Citizen) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมจัดงาน Creative Citizen Talk 2018: Health Forward ในวันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน 2561 ณ ห้องออดิทอเรียม หอศิลป์กรุงเทพ โดยมีนักพูดสร้างแรงบันดาลใจ 10 ท่าน เป็นนักคิด นักทำ นักสร้างสรรค์ หลากสาขา ที่จะมาจุดประกายแรงบันดาลใจให้กับทุกคน ว่าเรื่องสุขภาพไม่ใช่เรื่องที่น่าเบื่อ และ ไกลตัว เรื่องราวของนักคิด นักทำ ทั้ง 10 ท่าน อาจจะกลายเป็นจุดเล็ก ๆ ที่กระตุ้นต่อมไอเดีย และ สร้างแรงบันดาลใจในการลงมือทำให้กับคุณก็ได้
“เพราะเกมเป็นเรื่องที่สนุก และ ไม่เคยน่าเบื่อ”
(วีระพงษ์ โอสถวิสุทธิ์ / Designer & วรัญญู ทองเกิด / Game Designer)
วีระพงษ์ และ วรัญญู คู่หูนักออกแบบเกมจาก Opendream ได้จับประเด็นด้านเครื่องมือทางการสื่อสาร นำความชอบมาทำสิ่งที่ก่อประโยชน์แก่สังคม โดยเฉพาะทางด้านสุขภาวะ ร่วมมือกันพัฒนาเกม “Judies” โดยหยิบเรื่องราวความน่ารักของตัวการ์ตูนบนถุงยางอนามัยประเทศญี่ปุ่น มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างคาแรคเตอร์ตัวละครในเกม ทำให้เกมเรื่องเพศ ไม่น่ากลัว และ เข้าถึงง่าย ให้วัยรุ่นไทยมีทักษะเรื่องเพศ จากชุดความรู้ในเกม เพื่อลดความเสี่ยงให้กับเยาวชน เมื่อมีสถานการณ์จริงเกิดขึ้น
“สมองเด็กจะเปิดรับ ต่อเมื่อเด็กมีความสุข”
(รัตติกร วุฒิกร / Play Activist)
นักออกแบบของเล่น และ เกมเพื่อสังคม ที่เชื่อว่า “การเล่น” เป็นการสร้างสรรค์สุขภาพ โดยต้องการขับเคลื่อนสังคมผ่านเกมสนุก ๆ เชื่อว่าเราสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่จะสื่อสารกับเด็ก เกี่ยวกับปัญหาด้านสุขภาวะที่เกิดขึ้นได้ เพราะพลังบวกจากการเล่นเกมที่สนุก จะสามารถส่งต่อไปให้ผู้อื่น และสังคม โดยในการสื่อสารออกไปจะต้องมีความรู้อย่างง่ายในการถ่ายทอด ที่สำคัญคือ ต้องมีทัศนคติเชิงบวกในการสื่อสารนั้น ๆ เพื่อที่จะก่อให้เกิดพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง และ ถ้าสำเร็จ เกมที่สนุกนั้นก็จะถูกส่งต่อไปยังคนอื่นๆ
“ลดช่องว่างระหว่างสถาบันการศึกษา กับ สังคม เพื่อนำความรู้ไปสู่ผู้ชมได้ทันที”
(รศ. ดร. นภเรณู สัจจรักษ์ ธีระฐิติ / Mahidol Channel)
จากการศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ เมื่อต้องการค้นหาข้อมูลสุขภาพอย่างเร่งด่วนมักใช้สื่อออนไลน์เป็นอย่างแรกในการค้นหา มหาวิทยาลัยมหิดลเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ จึงสร้างสื่อ Mahidol Channel เพื่อนำงานวิจัยที่เข้าใจยาก มาทำให้เข้าใจง่าย และ เข้าถึงง่ายตลอดเวลา พยายามหาเนื้อหาที่น่าสนใจ โดยต้องมีความถูกต้อง ทันสถานการณ์ และ ต้องต่อยอดความรู้จนทำให้ผู้คนมีส่วนร่วมได้ โดยมีสองประเด็นหลักที่ใช้ในการสื่อสารคือ ทำอย่างไรไม่ให้ป่วย และ ถ้าป่วยแล้วจะทำอย่างไรต่อ เพื่อนำมาใช้ทำเนื้อหานำเสนอสืบต่อไป
“ทำไมคนพิการ ต้องด้อยกว่า?”
(นลัทพร ไกรฤกษ์ / thisAble.me)
นลัทพร ได้จุดประกายจากการที่ได้ไปเรียนวิชาพละกับเพื่อนครั้งแรกในชีวิต โดยได้รับหน้าที่เป็นคนนับคะแนน ทำให้ได้รู้ว่า ถึงแม้ตนจะพิการ แต่ก็สามารถมีส่วนร่วมในวิชาที่ต้องใช้ร่างกายแบบนี้ได้ เมื่อเรียนจบจึงสร้าง “ThisAble.me” สำนักข่าวที่ต้องการสื่อสารประเด็นด้านการเมือง สุขภาพ กีฬา ความรัก เพศสภาพ สังคม ศิลปะ วัฒนธรรม โดยเธอเริ่มสร้างสำนักข่าวนี้ด้วยแนวคิดที่ว่า คนเท่ากับคน และ ทุกคนเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานได้เท่ากัน ซึ่งคาดหวังว่า คนปกติ และ คนพิการจะเข้าใจซึ่งกันและกัน และคนปกติจะสามารถเป็นกระบอกเสียงให้กับคนพิการได้ในอนาคต
“เราต้องรักเด็กทุกคน ให้เหมือนรักลูกของตัวเอง”
(คมกฤช ตระกูลทิวากร / Toy Designer)
คมกฤช หรือ อาจารย์อ้วน ผู้ก่อตั้งกิจการเพื่อสังคม ๑4๑ (หนึ่งสี่หนึ่ง) มีทัศนคติที่ต้องการเปลี่ยนมุมมองของเล่นที่ผิด ๆ และ ปิดกั้นจินตนาการเด็ก จึงอยากสร้างของเล่นที่ไม่เปิดกว้างต่อจินตนาการเด็ก ให้สามารถออกแบบของเล่นเองได้ ว่าอยากจัดวางแบบไหน ซึ่งของเล่นทั้งหมดสร้างจากธรรมชาติ ไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก แรงบันดาลใจมาจากการที่เชื่อ “ว่าเด็กทุกคน เหมือนลูกของตนเอง” เพื่อลดช่องว่างแห่งการให้ เสริมสร้างจินตนาการให้เด็กใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น ได้เติบโตตามช่วงวัย อีกทั้งยังสามารถส่งต่อความสุข โดยการส่งต่อของเล่นให้เด็กด้อยโอกาสอีกด้วย
“การดูแลสุขภาพเหมือนการออมเงิน เริ่มก่อนเห็นผลมากกว่า”
(พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล / Pleasehealth Books)
พญ.ธิดากานต์ หรือ หมอผิง เจ้าของบัญชีทวิตเตอร์ @Thidakarn เริ่มจุดประกายความคิดในการส่งต่อความรู้ด้านสุขภาพจากการที่คุณพ่อถึงแก่กรรม จึงอยากนำวิชาชีพแพทย์มาทำประโยชน์ให้สังคมมากกว่านี้ เชื่อว่าการดูแลสุขภาพ เหมือนการออมเงิน หากเริ่มก่อนจะเห็นผลเร็วกว่า โดยต้องการให้ความรู้หลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นข่าวด้านสุขภาพใหม่ ๆ ความเชื่อที่ผิด ด้านสุขภาพ การป้องกันตนจากโรคต่าง ๆ และยังให้คำปรึกษาด้านสุขภาพเกี่ยวกับบุคล เพราะต้องการให้คนในสังคมมีสุขภาพดีมากขึ้น
“อยากจะเป็นเพื่อนที่เข้าใจของผู้รับชม”
(วริศรุตา ไม้สังข์ / MinuteVideos Thailand)
จากความเชื่อที่คิดว่าสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรดี ๆ ให้กับสังคม ด้วยการขัดเกลาผ่านงานศิลปะ โดยใช้แนวคิดหลักที่ว่า อยากเป็นเพื่อนของผู้รับชม เป็นเพื่อนที่เข้าใจ โดยใช้ศิลปะภาพสีน้ำในการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับโรค และ ปัญหาเรื่องสุขภาพ โดยมีความระมัดระวังในการปล่อยเนื้อหาอย่างมาก เพราะ เชื่อว่าตนเองเป็นสื่อ ทุกอย่างที่ปล่อยออกไป เราต้องมีการกลั่นกรอง รอบคอบ และที่สำคัญคือ เราต้องรับผิดชอบต่อสังคม
“สะพานในการเชื่อมโยงผู้สูงวัยกับเทคโนโลยีเข้าไว้ด้วยกัน”
(ธนากร พรหมยศ / YoungHappy)
มีแนวคิดที่อยากช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ต้องการใช้เทคโนโลยี เพื่อให้ผู้สูงอายุอยู่ในภาวะ Active senior ให้นานที่สุด เพื่อช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อม โดยจัดทำธุรกิจเป็นแบบกิจการเพื่อสังคม สอนผู้สูงอายุใช้โซเชียลมีเดียในการสนทนาออนไลน์ สอนแต่งรูป ขายของออนไลน์ รวมถึงทำเวิร์คช็อปแต่งหน้า ทำอาหารระหว่างแม่กับลูก โดยหวังว่ากิจกรรมที่สร้างจะลดช่องว่างระหว่างคนในครอบครัว ลดการติดบ้านของผู้สูงอายุ และลดโรคอัลไซเมอร์
“การเล่นช่วยฝึกสมอง และ จิตวิญญาณได้”
(ดิสสกร กุนธร / สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา)
ดิสสกร หรือ ลุงดิส สถาปนิควัยเก๋า ผู้ออกแบบสนามเด็กเล่นมามากกว่า 183 แห่งทั่วประเทศไทย ที่ได้สืบทอดจากสิ่งที่สมเด็จย่าใช้ในการดูแลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่9 เรื่องการเล่นกับธรรมชาติ เพราะเชื่อว่าการเล่นช่วยฝึกสมอง และ จิตวิญญาณได้ เพราะเชื่อว่าสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาที่ออกแบบไว้ สามารถมีส่วนในการศึกษา การพัฒนาสมอง กล้ามเนื้อ จิตใจผ่านการเล่น เด็กที่เล่นก็จะหายจากโรคซึมเศร้า เมื่อได้เล่นกับธรรมชาติ ได้ดมกลิ่นจากธรรมชาติ ก็จะสุขใจ
“หมอรักษาโรคร้าย แต่การสื่อสารรักษาโรคไม่รู้ โรคไม่เข้าใจได้”
(จินตกาญ ศรีชลวัฒนา / เข้าใจพาร์กินสัน)
หนึ่งในศิษย์เก่านิเทศฯ จุฬาฯ ที่ต้องการแก้ไขความไม่เข้าใจเรื่องโรคพาร์กินสันให้กับประชาชน โดยจับความรู้ด้านสุขภาพที่เข้าใจง่าย ๆ มาใช้ในการทำงานด้านสื่อสุขภาพ แม้ว่าจะเป็นเพียงแค่นักสื่อสาร แต่สามารถแก้โรคไม่รู้ โรคไม่เข้าใจให้คนได้เหมือนแพทย์ โดยใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ทุกคนมีอยู่แล้ว จากทักษะที่ทุกคนมีอยู่ในตนเอง ไม่แสวงหาเงินจากผู้สนับสนุนในการทำงาน คิดแค่ว่าวันนี้เราสามารถทำอะไรได้บ้าง และทำเท่าที่เราทำได้ให้ดีที่สุด เพื่อการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมอย่างเข้าใจ
แม้แต่ละคนจะมีจุดเริ่มต้นในการทำงานด้านสื่อสารสุขภาพที่แตกต่างกัน แต่นักคิด นักทำทั้ง 10 ท่าน ล้วนมีจุดประสงค์ในการทำงานเดียวกัน คือ ต้องการให้คนไทยทุกคนมีสุขภาพกาย และ ใจที่ดี ให้เรื่องสุขภาพ กลายเป็นเรื่องที่สนุก เข้าใจได้ง่าย เข้าถึงง่ายทุกเพศ ทุกวัย และ คาดหวังว่าทุกสิ่งที่ได้สื่อสารออกไปจะจุดประกายแรงบันดาลใจให้คนไทย หันมาใส่ใจด้านสุขภาพ และ ร่วมกันสื่อสารด้านสุขภาพของประเทศไทยให้ก้าวหน้า ให้ทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงได้ ขอเพียงแค่คนไทยทุกคนร่วมมือกัน