10 สิ่งน่าทำในวันพระ
ที่มา : ครอบครัวสุขขขข…สุข โดย เครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว
แฟ้มภาพ
ทุกศาสนาเสนอวิธีการทำบุญ 10 วิธี ที่เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ 10 หรือสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ 10 ประการ คือ
- ให้ทาน แบ่งปันผู้อื่นด้วยสิ่งของไม่ว่าจะให้ใครก็เป็นบุญ (ทานมัย) การให้ทานเป็นการช่วยขัดเกลาความเห็นแก่ตัว ความคับแค้น ความตระหนี่ถี่เหนียวและความติดยึดในวัตถุ นอกจากนี้ สิ่งของที่เราแบ่งปันออกไปจะเป็นประโยชน์กับบุคคลหรือชุมชนโดยส่วนรวม
- รักษาศีล ก็เป็นบุญ (ศีลสมัย) เป็นการฝึกฝนที่จะลด ละ เลิกความชั่ว ไม่เบียดเบียนใคร มุ่งที่จะทำความดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ผู้อื่นเป็นการหล่อเลี้ยงบ่มเพาะให้เกิดความดีงาม และพัฒนาคุณภาพชีวิตไม่ให้ตกต่ำ
- เจริญภาวนา ก็เป็นบุญ (ภาวนามัย) การภาวนาเป็นการพัฒนาจิตใจและปัญญา ทำให้จิตสงบ ไม่มีกิเลส ไม่มีเรื่องเศร้าหมอง เห็นคุณค่าสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง ผู้ที่ภาวนาอยู่เสมอย่อมเป็นหลักประกันว่าจิตจะมีความสงบ ชีวิตมีความสุข คุณภาพชีวิตดีขึ้น สูงขึ้น
- อ่อนน้อมถ่อมตน ผู้น้อยอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็แสดงความมีเมตตาต่อผู้น้อย และต่างก็อ่อนน้อมต่อผู้มีคุณธรรม รวมถึงการให้เกียรติ ให้ความเคารพในความแตกต่างซึ่งกันและกัน ทั้งในความคิด ความเชื่อ และวิถีการปฏิบัติของบุคคล และสังคมอื่น เป็นการลดความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตน ก็เป็นบุญ (อปจายนมัย)
- ช่วยเหลือสังคมรอบข้าง ช่วยเหลือสละแรงกายเพื่องานส่วนรวม หรือช่วยงานเพื่อนบ้านที่ต้องการความช่วยเหลือก็เป็นบุญ (ไวยาวัจจมัย)
- เปิดโอกาสให้คนอื่นมาร่วมทำบุญกับเรา หรือในการทำงานก็เปิดโอกาสให้คนอื่นมีส่วนร่วม โดยให้แสดงความคิดเห็น ร่วมไปถึงการอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วด้วยก็เป็นบุญ (ปัตติทานมัย)
- ยอมรับและยินดีในการทำความดี หรือทำบุญของผู้อื่น การชื่นชมยินดีหรืออนุโมทนาไม่อิจฉาหรือระแวงสงสัยในการทำความดีของผู้อื่นก็เป็นบุญ (ปัตตานุโมทนามัย)
- ฟังธรรม บ่มเพาะสติปัญญาให้สว่างไสว ฟังธรรมะ ฟังเรื่องที่มีประโยชน์ต่อสติปัญญาหรือมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตที่ดี เป็นความจริง ความดี ความงาม ก็เป็นบุญ (ธรรมสวนมัย)
- แสดงธรรม ให้ธรรมะและข้อคิดที่ดีกับผู้อื่น แสดงธรรม นำธรรมะไปบอกกล่าว เผื่อแผ่ให้คนอื่นได้รับฟัง ให้เขาได้รู้จักวิธีการดำเนินชีวิตที่ดี เป็นเรื่องของความจริง ความดี ความงาม ก็เป็นบุญ (ธรรมเทศนามัย)
- ทำความเห็นให้ถูกต้องและเหมาะสม มีการปรับทิฏฐิ แก้ไข ปรับปรุง พัฒนาความคิดเห็น ความเข้าใจให้ถูกต้องตามธรรม ให้เป็นสัมมาทัศนะอยู่เสมอ เป็นการพัฒนาปัญญาอย่างสำคัญ ถือเป็นบุญด้วยเช่นกัน (สมมาทัศนะหรือทิฎฐุชุกรรม) เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการทำบุญทุกชนิด และทุกโอกาส จะต้องประกบและประกอบเข้ากับบุญ กิริยาวัตถุข้ออื่นทุกข้อ เพื่อให้งานบุญข้อนั้น ๆ เป็นไปอย่างถูกต้องตามความหมาย และความมุ่งหมายพร้อมทั้งได้ผลถูกทาง