10 ปี ผลงาน สสส. ชัด ลดยอดนักดื่มลงร้อยละ 20
การดำเนินงานของ สสส. ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีตัวอย่างความสำเร็จที่เห็นได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะการลดสัดส่วนจำนวนนักดื่มแบบอันตรายหรือดื่มหนักตลอดปีได้ถึง 20% และกลุ่มผู้ดื่มอายุ 60 ปีขึ้นไป
ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงกรณีที่ผู้อำนวยการสายการตลาด บริษัท สิงห์ คอร์ปอเรชัน จำกัด ระบุว่า สสส. ไม่สามารถลดจำนวนผู้ดื่มได้สำเร็จในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ว่า การดำเนินงานของ สสส. ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีตัวอย่างความสำเร็จที่เห็นได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะการลดสัดส่วนจำนวนนักดื่มแบบอันตรายหรือดื่มหนักตลอดปีได้ถึง 20% และกลุ่มผู้ดื่มอายุ 60 ปีขึ้นไป ลดลง 17% ทำให้อัตราการดื่มต่อจำนวนประชากรโดยเฉลี่ยลดลงถึง 12% ในรอบ 14 ปี (ระหว่างปี 2540-2554) ที่สำคัญมีการรณรงค์สังคมให้มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม อาทิ โครงการงดเหล้าเข้าพรรษา มีผู้สนใจร่วมโครงการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2557 มีผู้ร่วมงดดื่มเกือบ 17 ล้านคน หรือคิด 83.4% ของจำนวนผู้ดื่มทั้งหมด ในจำนวนนี้มีถึง 8 ล้านคน ที่งดดื่มได้ตลอดช่วงเข้าพรรษา ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเดิมในปี 2546 ที่มีผู้เข้าร่วม 40.4% และร่วมงดดื่มตลอดช่วงเข้าพรรษา 19%
“เปรียบเทียบภาพรวมรายได้ประชากร(จีดีพี) กับจำนวนนักดื่มแล้ว โดยทั่วไปประเทศที่มีจีดีพีเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับจำนวนนักดื่มที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย แต่ประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แม้จีดีพีคนไทยเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า แต่ยังสามารถคงอัตรานักดื่มไว้ที่ 31.5% เป็นผลจากทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และภาคีเครือข่ายต่างๆ ทั้งในด้านการขับเคลื่อนนโยบาย งานวิชาการ สร้างเครือข่าย รณรงค์สื่อสาร เพราะ สสส. มีงบฯ ปีละ 0.1% ของงบประมาณแผ่นดิน หรือคิดเป็น 3.7% ของ สธ. ดังนั้นการขับเคลื่อนเรื่องปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องเหล้าให้เกิดผลเปลี่ยนแปลงในระดับประเทศต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกๆ ภาคส่วน” ดร.นพ.บัณฑิต กล่าว
ดร.นพ.บัณฑิต กล่าวอีกว่า ในส่วนการทำงานด้านป้องกันและลดจำนวนผู้ดื่มแอลกอฮอล์ใช้งบประมาณ 10% ของงบทั้งหมด แบ่งเป็นงานขับเคลื่อนนโยบายร่วมกับหน่วยงานต้นสังกัดที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนงานวิจัย สนับสนุนให้เกิดเครือข่ายและสื่อสารณรงค์ โดยไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อโจมตี หรือสนับสนุนหน่วยงานใดทำลายบริษัทธุรกิจแอลกอฮอล์ อย่างไรก็ตามการตามหลักวิชาการการลดจำนวนผู้ดื่มเหล้า หรือสกัดกั้นนักดื่มหน้าใหม่ ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องพูดถึงทั้งในส่วนการขาย การดื่ม และผลกระทบที่ตามมา มาตรการต่างๆ อาทิ การควบคุมราคา การจำกัดการโฆษณา จากการวิจัยพบว่า ส่งผลชัดเจนต่อการลดการดื่ม ก็อาจส่งผลกระทบต่อบริษัทผู้ผลิตบ้าง แต่อยากให้มองว่า เพื่อเป็นการปกป้องเยาวชน และสุขภาพคนไทยมากกว่าเป็นการทำร้ายบริษัท
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9580000013545
www.banmuang.co.th/news/politic/8043