10 ต้นแบบองค์กรสร้างสุข
ปลัด ก.แรงงาน ชี้ ต้องพัฒนาคน เพื่อสร้างอุตสหกรรมแข็งแกร่ง พร้อมแข่ง AEC “มูลนิธิพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม-สสส.” เร่งสร้างองค์กรสุขภาวะ ปลื้ม 2 ปี ปั้น 10 องค์กรต้นแบบ ครอบคลุมแรงงานกว่า 137,000 คน ผลผลิตเพิ่มกว่า 10% เดินหน้าขยายสู่อุตสาหกรรมแฟชั่นทันที
วันที่ 15 พ.ค. ที่ รร.เซนจูรี่ ปาร์ค มูลนิธิพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย และสํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดแสดงผลงาน 10 ต้นแบบองค์กรสุขภาวะในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม(Happy Work-Life Variety Show) และเปิดโครงการส่งเสริมการเป็นองค์กรสุขภาวะในอุตสาหกรรมแฟชั่น(Fashion’s Happiness Design)
นายจิระศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การกำหนดทิศทางพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งเครื่องนุ่งห่ม แฟชั่น สิ่งทอ อัญมณีและเครื่องประดับ โดยเน้นส่งเสริมบุคลากรให้มีความสุขในการทำงาน ใช้ชีวิตอย่างสมดุลเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะแรงงานสตรี เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้ ใช้แรงงานสตรีมากถึง 90% ซึ่งจะเป็นการสร้างคน สร้างงานที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาบุคลากรของกระทรวงแรงงาน ในการสร้างอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งและมีความพร้อมที่จะแข่งขันกับต่างประเทศ โดยเฉพาะการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558
นายพิษณุ มุนิกานนท์ ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า จากการดำเนินโครงการส่งเสริมองค์กรสุขภาวะในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ตั้งแต่ มิ.ย. 2555 – พ.ค. 2557 สามารถกระตุ้นให้เกิดองค์กรสุขภาวะในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม 137 องค์กร สร้างต้นแบบองค์กรสุขภาวะ 10 องค์กร ผู้ได้รับประโยชน์ไม่ต่ำกว่า 137,000 คน เฉลี่ย Productivity เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10% เกิดกลุ่ม Community เชื่อมโยงความสุขทั้งในและนอกองค์กร เรื่อง การลดการสูบบุหรี่ จำนวน 10 องค์กร เป็นความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมชัดเจน จึงขยายผลดำเนินการในกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น ซึ่งครอบคลุม อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องหนัง รองเท้า และไลฟ์สไตล์ ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า ไทยมีแรงงานขึ้นทะเบียนกับสํานักงานประกันสังคมกว่า 8,600,000 คน ในสถานประกอบการทุกขนาดเกือบ 400,000 แห่ง การสร้างเสริมสุขภาพแรงงานด้วยการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อาทิ การบริโภคยาสูบ ดื่มสุรา การพนัน และอุบัติเหตุ ต้องได้รับความร่วมมือจากสถานประกอบการ ความร่วมมือครั้งนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่ผ่านมา สสส. ร่วมกับแผนงานพัฒนาการสร้างเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ สมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม(ส.พ.ส.) ส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพด้วยการควบคุมปัจจัยและพฤติกรรมเสี่ยงในสถานประกอบการ ตั้งแต่ ต.ค. 2553 – ม.ค. 2556 ทำให้เกิดสถานประกอบการสร้างเสริมสุขภาพ 216 แห่ง คุ้มครองสุขภาพของพนักงานในสถานประกอบการกว่า 138,000 คน พนักงานเลิกจากพฤติกรรมเสี่ยงโดยเลิกสูบบุหรี่ 1,064 คน วันที่ 30 พ.ค.นี้ สสส. และภาคี จะเปิดตัวโครงการ “รณรงค์จิตอาสาขยายพื้นที่ปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย” ส่งเสริมสังคมไทยร่วมสนับสนุนนโยบายการทำให้สถานที่สาธารณะเป็นเขตปลอดบุหรี่ 100% ด้วยการติดสัญลักษณ์ห้ามสูบบุหรี่ทั่วประเทศ
ที่มา: สำนักข่าวสร้างสุข