10 ตุลาคม วันสุขภาพจิตโลก

ที่มา : เว็บไซต์สยามรัฐออนไลน์


10 ตุลาคม วันสุขภาพจิตโลก thaihealth


แฟ้มภาพ


วันที่ 10 ตุลาคม องค์การอนามัยโลกถือเป็นวันสุขภาพจิตโลก เพื่อให้ผู้คนสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ เพราะเป็นสาเหตุของการตายสูงอันดับต้นๆ และเป็นปัญหาต่อคุณภาพชีวิตมากที่สุดเรื่องหนึ่ง ปีนี้ เขาเน้นที่เรื่องการป้องกันการฆ่าตัวตาย


ตามสถิติขององค์การอนามัยโลกประเทศไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่14.4 ต่อประชากร 100,000 คน เป็นอันดับที่ 32 ของโลก ซึ่งเป็นอันดับที่ไม่น่าภูมิใจเลย อาจจะพอปลอบใจตัวเองได้บ้างว่า เกาหลีใต้ฆ่าตัวตายเป็นอันดับ 4 (เฉลี่ย 26.9 คน) ญี่ปุ่นอันดับ 14 (เฉลี่ย18.5 คน) อินเดีย อันดับที่ 21 (เฉลี่ย16.3 คน) ศรีลังกา อันดับที่ 29 (เฉลี่ย14.6 คน)

ประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ล้วนอันดับต่ำกว่าไทย สิงคโปร์ อันดับ 67 (9.9 คน)จีน อันดับ 69 (9.7 คน) ลาว อันดับ 84 (8.6 คน) พม่า อันดับ 94 (7.8 คน) เวียดนาม อันดับ 101 (7.3 คน) มาเลเซีย อันดับ 123 (5.5 คน) และฟิลิปปินส์ อันดับ163 (3.2 คน)


นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ผู้เปิดเผยข้อมูลต่างๆ บอกว่า ส่วนใหญ่อายุเฉลี่ยอยู่ที่45 ปี โดยเป็นเพศชาย 80.4% ซึ่งปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการฆ่าตัวตาย ในปี2561-2562 พบว่าเป็นปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ 53.04% ปัญหาจากสุรา 29%โรคทางกาย 25.7 ปัญหาด้านเศรษฐกิจ19% โรคทางจิต 12% และโรคซึมเศร้า7.8% ไม่มีข้อมูลว่า ล่าสุดคนพยายามฆ่าตัวตายแต่ทำไม่สำเร็จมีจำนวนเท่าใดการวิจัยที่สหรัฐอเมริกาหลายปีก่อนบอกว่า จำนวนคนพยายามฆ่าตัวเองมีมากกว่าที่ตายจริงถึง 3 เท่า และส่วนใหญ่ไม่ใช่เพราะปัญหาเศรษฐกิจ แต่เพราะ "ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม" "ชีวิตไม่มีความหมาย" "เบื่อโลก"


กรณีของไทย แพทย์บอกว่า สาเหตุสำคัญเป็นเรื่อง "ความสัมพันธ์" ที่ไม่ดีกับสามีภรรยา คนรัก พ่อแม่ หน้าที่การงาน ซึ่งน่าจะสัมพันธ์กับปัญหาอื่นๆ ทั้งหมด(จนบางครั้งแยกไม่ออก) โดยเฉพาะปัญหาทางจิตอื่นๆ ที่ควรรู้ ขอสรุปข้อมูลจากโรงพยาบาลรามา 5 โรคสำคัญทางจิตเวชที่คนไทยควรรู้


1.โรคแพนิค โรคตื่นตระหนกเกิดขึ้นจากระบบประสาทอัตโนมัติมีการทำงานที่ไวต่อสิ่งกระตุ้น ทำให้มีอาการแพนิค ได้แก่หัวใจเต้นเร็ว หายใจติดขัด จุกแน่น เวียนศีรษะ คล้ายจะเป็นลม หรือเหมือนกับจะถึงชีวิต กังวลอยู่ตลอดเวลาว่าจะมีอาการเกิดขึ้นมาอีกหรือกลัวผลที่ตามมา เช่น ควบคุมตนเองไม่ได้ เป็นบ้า มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน โดยเกี่ยวเนื่องกับอาการ เช่นไม่กล้าไปไหนถ้าไม่มั่นใจว่าจะมีคนช่วยได้ไหม หมกมุ่นกังวลกลัวเป็นโรคหัวใจ


2.โรคซึมเศร้า ผู้ป่วยจะมีอาการหดหู่ ท้อแท้ เบื่อหน่าย รู้สึกไม่มีคุณค่าในตนเอง บางรายอาจไม่รู้สึกเศร้าแต่จะเบื่อหน่ายทุกอย่างรอบตัว และไม่รู้จะอยู่ต่อไปเพื่ออะไร ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษามีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูงหากมีอาการของโรคซึมเศร้านานเกิน 2 สัปดาห์ ควรพบแพทย์เพื่อประเมินว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะอารมณ์เปลี่ยนแปลงไป เศร้า หดหู่ สะเทือนใจง่าย ร้องไห้บ่อย ความคิดเปลี่ยนแปลง มองทุกอย่างแย่ไปหมด รู้สึกไร้คุณค่า หรือคิดว่าตนเองเป็นภาระของผู้อื่น มองเห็นแต่ความผิดพลาดของตนเอง รู้สึกสิ้นหวังอาจมีความคิดอยากตาย สมาธิความจำแย่ลง หลงลืมง่าย จิตใจเหม่อลอย ประสิทธิภาพการทำงานลดลง มีอาการทางร่างกายต่างๆ อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปวดหัว เมื่อยตัว


3.โรคจิตเภท ผู้ป่วยจะมีอาการประสาทหลอน หูแว่ว มีภาพหลอนเกิดขึ้นและจะแสดงออกโดยการพูดคนเดียว หัวเราะคนเดียว มีความหลงผิดหรือหวาดระแวง โรคจิตเภทเป็นโรคเรื้อรัง การรักษาจะช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น แต่จะต้องใช้ยาไปตลอดชีวิต ผู้ป่วยบางรายเมื่อพบว่าตนเองอาการดีขึ้น มักคิดว่าหายแล้วและหยุดใช้ยา ทำให้อาการกำเริบขึ้นมาอีก


4.โรคไบโพลาร์ โรคไบโพลาร์หรือโรคอารมณ์สองขั้ว เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ของผู้ป่วยที่เปลี่ยนแปลงไปมาระหว่างช่วงซึมเศร้าและช่วงที่อารมณ์ดีเกินปกติ โดยในช่วงซึมเศร้าจะมีอาการหดหู่ ท้อแท้ สิ้นหวัง อาการช่วงนี้จะ

เหมือนผู้ป่วยโรคซึมเศร้า อาการจะคงอยู่ติดต่อกันนานหลายเดือนแล้วหายไปเหมือนคนปกติก่อนจะเข้าสู่ช่วงอาการแมเนีย ซึ่งจะมีอารมณ์คึกคัก มีพลัง ใจดีมนุษยสัมพันธ์ดี อารมณ์ดี แต่มีปัญหาในเรื่องของการควบคุมอารมณ์ของตนเอง อยากทำอะไรแล้วต้องได้ทำทันที เมื่อมีคนขัดใจผู้ป่วยจะฉุนเฉียวมาก หงุดหงิดง่าย ควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้เลย


5.โรคสมองเสื่อม พบมากในคนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป คนเป็นโรคสมองเสื่อมไม่ใช่คนที่หลงลืมในลักษณะใจลอยเช่น วางกุญแจไว้แล้วลืมว่าตนเองวางไว้ตรงไหน แบบนั้นเป็นอาการใจลอย สมาธิไม่ได้อยู่กับเรื่องที่ทำ แต่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม โรคนี้มีลักษณะคือไม่สามารถจดจำสิ่งที่เรียนรู้ใหม่ได้ หรือสามารถเล่าเรื่องในอดีตได้ แต่ไม่สามารถจำได้ว่าเมื่อเช้ากินอะไรมา เป็นต้น


ตัวเลขคนไทยมีปัญหา "ทางจิต"ประมาณ 1.5 ล้านคน หรือ 1 ใน 10 คนมีปัญหา ซึ่งก็คงไม่แน่ชัดนักว่า เครียดหรือบ้าขนาดไหนถึงรวมเข้าไปในคนประเภทนี้ ก็เป็นเรื่องแปลกแต่จริง (paradox) ของโลกวันนี้ที่พัฒนามาไกลมาก มีมือถือคนละหลายเครื่องหลายเบอร์ โทร. ถึงใครต่อใครที่ไหนได้หมด ดูหนังฟังเพลงได้ตลอดเวลา แต่ยัง "เหงา เครียด บ้าฆ่าตัวตาย" กันมากมายขนาดนี้ แล้วเกี่ยวโยงไปถึงการทะเลาะกันตีกัน ฆ่ากัน ปัญหาอาชญากรรม ฆ่ากันตายในอัตราที่สูง บ่งบอกถึงควมเจ็บป่วยทางจิตวิญญาณของสังคม

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ