10 จว.ปฏิรูปการเรียนรู้สานฝัน’ท้องถิ่นจัดการศึกษา’

            สสค.เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความสำเร็จ “10 จังหวัดดีเด่น” ต้นแบบพื้นที่นำร่องปฏิรูปการศึกษา ประสานเครือข่ายการทำงานระดับจังหวัด ต่อยอดขยายผลการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม สร้างแรงกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนในสังคม โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เข้ามามีบทบาทในการจัดการศึกษา “เพื่อท้องถิ่น โดยท้องถิ่น”

/data/content/23585/cms/bdgjkmnvwx48.jpg

            สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับ คณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้จังหวัดน่าน จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งที่ 2 “10 จังหวัดแห่งความสำเร็จ เพื่อยกระดับการเรียนรู้” ณ วิทยาลัยสงฆ์นครน่าน ภายใต้ “โครงการติดตามและสนับสนุนการยกระดับการพัฒนาการเรียนรู้ระดับจังหวัด” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความสำเร็จของการปฏิรูปการเรียนรู้ของทั้ง 10 จังหวัด ได้แก่ น่าน ลำพูน กำแพงเพชร อำนาจเจริญ สุรินทร์ ชัยภูมิ จันทบุรี เพชรบุรี ภูเก็ต และยะลา

            เสวนาได้มีการแบ่งกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อถอดบทเรียนความสำเร็จ คณะทำงานจากทั้ง 10 จังหวัดออกเป็น 4 กลุ่ม และนำข้อสรุปที่ได้รับจากการระดมความคิดเห็นร่วมกันมานำเสนอต่อที่ประชุมอีกครั้งหนึ่ง โดยประเด็นแรก “ผลผลิตและผลลัพธ์ของโครงการที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนในจังหวัด” นั้น ผลที่ได้รับเกิดกระบวนการทำงานอย่างมีส่วนร่วมในทุกภาคในจังหวัดเพิ่มมากขึ้น เกิดระบบดูแลช่วยเหลือเด็กที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย เกิดเป็นองค์กรหรือสถาบันซึ่งทำหน้าที่เป็นคนกลาง ในการประสานด้านการศึกษาในท้องถิ่น และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเกิดกลไกการทำงานด้านการยกระดับคุณภาพการศึกษาขึ้นในแต่ละจังหวัด

/data/content/23585/cms/acefghilmpr4.jpg

            ในประเด็น “ผลจากการสร้างความตระหนักและความสำคัญของการยกระดับการเรียนรู้” คณะกรรมการจากทุกจังหวัดได้ค้นพบวิธีการหรือกระบวนการทำงานที่จะทำให้ประชาชนหรือท้องถิ่นเกิดความตระหนักในเรื่องของการศึกษารวมไปถึงแนวทางที่จะทำให้เกิดความต่อเนื่องในพื้นที่ 

            ส่วนประเด็น “ผลการดำเนินงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” พบว่า เป้าหมายของทุกจังหวัดนั้นเหมือนกันคือ ทำอย่างไรเด็กๆ จะได้รับการพัฒนาในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาเรื่องของการขาดแคลนทั้งในเชิงของสติปัญญา ความไม่เท่าเทียมกันในเชิงของศักยภาพ และความขาดแคลนในเชิงสังคม โดยการที่จะปฏิรูปการเรียนรู้ให้เกิดความยั่งยืนในระดับท้องถิ่นได้นั้น ทุกจังหวัดจะต้องมีองค์กรกลางที่ไม่ใช่หน่วยงานราชการ มาทำหน้าที่ประสานความร่วมมือกับท้องถิ่น และเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นได้ทำงานอย่างเต็มที่ 

            ประเด็นสุดท้าย “ก้าวอย่างไรให้ต่อเนื่องและยั่งยืน เพื่อยกระดับการเรียนรู้” นั้น คณะกรรมการมีความเห็นตรงกันว่า จะต้องขยายหลักคิดในการทำงานด้านการจัดการศึกษาเหล่านี้ออกไปสู่กลุ่มอื่นๆ ให้มากขึ้น โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ต่อไปในอนาคตทั้งที่เป็นการเมืองและข้าราชการประจำ มีความจำเป็นที่จะต้องปลูกฝังแนวคิดและแนวทางต่างๆ เหล่านี้ให้แก่บุคลากรในทุกระดับ อย่างสม่ำเสมอ เพราะความสำเร็จของการปฏิรูปการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ ความคิดของผู้ที่เกี่ยวข้องต้องต่อเนื่อง และคนทำงานต้องมีความต่อเนื่อง และปัจจัยสุดท้ายต้องนำเอาสิ่งเหล่านี้บรรจุเข้าในวาระหรือในแผนของจังหวัดและในแผนของท้องถิ่น 

/data/content/23585/cms/ceijruvy2356.jpg

            นายบัณฑูร ทองตัน ประธานสภาการศึกษา จ.ภูเก็ต กล่าวเสริมถึงแนวทางการทำงานให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืนในพื้นที่ว่า สสค. จะต้องผลักดันให้เกิดสภาการศึกษา เพราะคณะกรรมการต่างๆ ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ถ้ามีกฎหมายที่สามารถยกระดับของสภาการเรียนรู้หรือสภาการศึกษา ให้หน่วยงานราชการสามารถสนับสนุนเงินงบประมาณลงไปได้ ตรงนั้นจะทำให้เกิดความยั่งยืนสำหรับคนที่จะทำงานด้านการศึกษาไปได้อย่างต่อเนื่อง แต่ละจังหวัดต้องขยายผลไปทำงานร่วมกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ เพราะพวกเขาเหล่านั้นจะเป็นคนที่จะมาทำหน้าที่แทนพวกเราในอนาคต อย่าง จ.ภูเก็ต ก็ได้นำเอาเรื่องนี้ไปจุดประกายและขยายผลต่อกับสภาผู้นำนักเรียน

            นายทองสุข รวยสูงเนิน ประธานคณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ จ.สุรินทร์ กล่าวว่า ถามว่าถ้าจะทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็งเฉพาะการศึกษาเราคงไม่มีทางไปรอด เพราะทุกเรื่องล้วนเกี่ยวโยงกัน ต้องทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็งในทุกองค์รวมของความเป็นมนุษย์ ซึ่งการศึกษาเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นพื้นฐานที่ทำให้คนเกิดความเข้มแข็ง และเมื่อใดที่คนในสังคมหรือชุมชนมีความเข้มแข็ง ท้องถิ่นก็จะเข้มแข็งไปด้วย 

            นายนพพร สุวรรณรุจิ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสค. กล่าวถึงการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ว่า สสค.จะรวบรวมกระบวนการต่างๆ ที่ทำให้การทำงานของทั้ง 10 จังหวัดประสบความสำเร็จ เพื่อที่จะนำมาเผยแพร่เพื่อให้จังหวัดอื่นๆ ได้มองเห็นว่าการยกระดับการเรียนรู้ เป็นเรื่องที่แต่ละจังหวัดสามารถทำได้ผ่านพลังของทุกภาคส่วนในพื้นที่ และพลังความร่วมมือของคนในท้องถิ่น

            “นอกจากจะเผยแพร่องค์ความรู้แล้ว สสค.จะเชิญคณะทำงานจาก 10 จังหวัด มาแลกเปลี่ยนกันอีกครั้งในระหว่างการจัดงานประชุมวิชาการอภิวัฒน์การเรียนรู้…สู่จุดเปลี่ยนประเทศไทย ซึ่งเป็นก้าวสำคัญของพลังความร่วมมือสู่การยกระดับคุณภาพการศึกษา ที่จะจัดขึ้นวันที่ 6-8 พฤษภาคม 2557 ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี เพื่อถ่ายทอดทุกองค์ความรู้ที่ได้รับจากการทำงานของตนเองให้แก่จังหวัดใหม่ๆ ได้รับทราบ และเกิดแรงบันดาลใจที่จะทำงานเพื่อยกระดับการเรียนรู้ให้แก่เด็กและเยาวชนในพื้นที่ของตนเองต่อไป” อ.นพพร กล่าวสรุป

 

          ที่มา : คมชัดลึก

Shares:
QR Code :
QR Code