10 ความเข้าใจผิดๆ สิงห์อมควันไม่เลิกบุหรี่

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


10 ความเข้าใจผิดๆ สิงห์อมควันไม่เลิกบุหรี่ thaihealth


ใกล้ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม วันงดสูบบุหรี่โลก มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่และภาคีเครือข่ายสร้างสุขภาวะที่ดีในบ้านเรา ห่วงใยและใส่ใจเหล่าสิงห์อมควัน ชวนผู้สูบบุหรี่มาเลิกบุหรี่ในวันสำคัญนี้เพื่อตนเอง ครอบครัวที่รักและสังคม พร้อมถือโอกาสสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเลิกบุหรี่ แน่นอนว่าตอนนี้ยังมีความเข้าใจผิดๆ หรือสารพัดเหตุผลของนักสูบ แต่ข้อมูลความรู้ที่สื่อสารครั้งนี้หนีไม่พ้นต้องดับบุหรี่ในมือให้ได้


ผศ.กรองจิต วาทีสาธกกิจ ที่ปรึกษาด้านการเลิกสูบบุหรี่ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า จากการเดินสายให้คำแนะนำช่วยเลิกสูบบุหรี่ให้แก่ผู้สูบบุหรี่ที่ผ่านมากว่า 20 ปี พบว่า ผู้สูบบุหรี่จำนวนมากมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการไม่เลิกสูบบุหรี่มากถึง 10 ข้อ ทำให้ไม่ยอมเลิกสูบ ทั้งนี้หลักฐานการวิจัยพบว่า ครึ่งหนึ่งของผู้สูบบุหรี่ระยะยาวในประเทศรายได้สูง และ 1 ใน 3 ของผู้สูบบุหรี่ในประเทศรายได้ปานกลางจะป่วยและเสียชีวิตก่อนเวลาจากการสูบบุหรี่ ขณะที่การเลิกสูบบุหรี่จะเกิดผลดีต่อสุขภาพในเวลาอันสั้น โดยโอกาสหัวใจวายและเกิดโรคเส้นเลือดสมองเฉียบพลันปัจจุบันจะลดลงครึ่งหนึ่งหลังจากเลิกบุหรี่ได้ 1 ปี


จากการติดตามผลศึกษาระยะยาว พบว่า ผู้สูบบุหรี่ที่เลิกสูบเมื่ออายุ 30 ปีจะได้กำไรจากการมีอายุยืนขึ้น 10 ปีในอนาคตเทียบกับการไม่เลิกสูบ ผู้ที่เลิกสูบบุหรี่เมื่ออายุ 40 ปีจะมีอายุยืนขึ้น 9 ปี ผู้ที่เลิกสูบเมื่ออายุ 50 ปี อายุยืนขึ้น 6 ปี และแม้แต่เลิกเมื่ออายุ 60 ปี อายุก็ยังจะยืนขึ้นถึง 3 ปี


"ขอให้กำลังใจให้ผู้สูบบุหรี่ทุกคนลงมือเลิกบุหรี่ในโอกาสวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ ทั้งนี้ข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ. 2554 พบว่า ร้อยละ 90 ของคนไทย 4.6 ล้านคนที่เลิกสูบบุหรี่ได้ใช้วิธีเลิกด้วยตนเอง ดังนั้นถ้าหากตั้งใจเลิกจริงๆ ก็จะเลิกได้สำเร็จ" ที่ปรึกษาเลิกบุหรี่ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าว


ส่วนความเข้าใจผิด "ผมสูบวันละไม่กี่มวน คงไม่เป็นไร" ความจริง แม้แต่สูบวันละ 1 ถึง 4 มวน ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคร้ายแรง เช่น โอกาสเกิดมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น 2.79 เท่า โอกาสเกิดโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 2.74 เท่า ความเข้าใจผิด "ผมสูบมานานแล้ว หากเลิกสูบจะเป็นอันตราย" ความจริง ไม่ว่าจะสูบบุหรี่มานานเท่าไรแล้วก็ตาม การเลิกสูบจะทำให้สุขภาพดีขึ้น และไม่มีอันตรายใดๆ


อีกความเข้าใจผิดของนักสูบ "ผมสูบมานานแล้ว การเลิกสูบทันทีโดยการหักดิบร่างกายจะช็อกตายได้" ความจริงที่มูลนิธิยืนยันคือ การเลิกทันที หรือที่เรียกว่า "เลิกโดยหักดิบ" อาจจะทำให้เกิดอาการอยากบุหรี่ หรือเสี้ยนบุหรี่มากในบางคน แต่จะไม่มีอันตรายต่อร่างกาย และอาการเสี้ยนบุหรี่จะค่อยๆ หายไปในแต่ละวันที่ผ่านไป จนหมดไปในเวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ในผู้สูบบุหรี่ส่วนใหญ่


"ผมสูบมานานแล้ว อายุมากแล้ว คงช้าเกินไปที่จะเลิกสูบ" ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดที่พบบ่อยไม่แพ้กัน ความจริงนั้นไม่มีคำว่า ช้าเกินไปที่จะเลิกสูบ เพราะเลิกสูบเมื่อไร ร่างกายก็จะค่อยๆ ดีขึ้น ไม่ว่าจะสูบมาแล้วนานเท่าไร ถัดมาความเข้าใจผิด "ผมสูบมานานแล้ว อวัยวะผมคงเสียหายไปมากแล้ว เลิกสูบไปก็ไม่มีประโยชน์" แหม อยากเผยความจริง เพราะทันทีที่เหล่าสิงห์อมควันเลิกสูบ ร่างกายพวกเขาจะเริ่มซ่อมแซมตัวเอง แม้จะเริ่มเจ็บป่วยแล้ว การเลิกสูบบุหรี่ยิ่งมีประโยชน์ จะทำให้อาการของโรคดีขึ้นตามลำดับ


รวมถึงความเข้าใจผิด "ผมสูบบุหรี่ยาเส้นมวนเอง อันตรายน้อยกว่า คงไม่เป็นไร" แต่ความจริงการสูบยาเส้นก็มีอันตรายไม่น้อยกว่าการสูบยาซองที่ผลิตจากโรงงาน เนื่องจากสารก่อมะเร็งมีอยู่ตามธรรมชาติในใบยาสูบนั่นเอง


ใครที่ยึดถือความเข้าใจผิดว่า "ผมสูบบุหรี่ก้นกรอง คงจะอันตรายไม่มาก" ก็อธิบายกันชัดๆ ความจริง ก้นกรองนั้นกรองได้เพียงเขม่า แต่ไม่สามารถกรองสารพิษและสารก่อมะเร็งที่เป็นควันได้ หรือผู้สูบบุหรี่ส่วนหนึ่งยังเข้าใจผิด "ผมออกกำลังกายสม่ำเสมอ ระมัดระวังเรื่องอาหารการกิน คงจะช่วยลดอันตรายจากการสูบบุหรี่ลงได้บ้าง" บอกให้รู้ไว้ว่าเป็นคนละเรื่องกัน ไม่มีอะไรที่จะลดอันตรายจากการสูบบุหรี่ได้ นอกจากหยุดสูบ


นอกจากนี้ยังมีความเข้าใจผิดที่ว่า ถ้าหากไม่มียาที่ช่วยในการเลิกคงจะเลิกไม่สำเร็จ ความจริงวันนี้คนไทยที่เลิกสูบบุหรี่ได้ 4.6 ล้านคน 9 ใน 10 ใช้วิธีเลิกด้วยตนเองโดยไม่ต้องใช้ยาช่วยแต่อย่างใด รวมถึงความเข้าใจผิด "กลัวว่าเลิกสูบบุหรี่แล้วจะน้ำหนักขึ้น" มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ขอให้หมดกังวล ไม่ใช่ว่าคนที่เลิกสูบบุหรี่จะมีน้ำหนักขึ้นเสมอไป หากควบคุมอาหารและออกกำลังกายสม่ำเสมอหลังเลิกบุหรี่สามารถควบคุมน้ำหนักได้แน่นอน.


"ความเข้าใจผิด ผมสูบวันละไม่กี่มวน คงไม่เป็นไร ความจริง แม้แต่สูบวันละ 1 ถึง 4 มวน ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคร้ายแรง เช่น โอกาสเกิดมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น 2.79 เท่า โอกาสเกิดโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 2.74 เท่า…."


 

Shares:
QR Code :
QR Code