10 คนทำงานบันดาลใจสังคม
10 คนทำงาน สร้างแรงบันดาลใจเพื่อสังคม 10 ต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการทำงานเพื่อสร้างประโยชน์เพื่อสังคม
นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) เขียนเอาไว้ในหนังสือ "คนทำงานบันดาลใจ"ว่า"…เราไม่ใช่หุ่นยนต์ เราเป็นมนุษย์มีความใฝ่ฝันและมีศักยภาพในการเลือก เลือกที่จะอยู่เลือกที่จะเป็น เลือกที่จะทำตามเสียงของความเป็นมนุษย์ในตัวเรา เลือกที่จะเดินตามความฝันที่เรามี แทนที่จะยอมถูกกลืนและใช้ชีวิตสิ้นเปลืองไปกับบทละครที่เราไม่ได้มีส่วนเขียนขึ้นก็ได้ แต่เราเลือกที่จะทำงานที่มีคุณค่า มีความหมายและมีความสุขได้…" อยู่ที่ว่าคุณจะเลือกแบบไหน
ในการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ "ก้าวแรกสู่งานบันดาลใจ" ที่สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล(องค์การมหาชน) เครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอ (District Health System; DHS)และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดขึ้น เพื่อระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานที่เป็นรูปธรรมในด้านการส่งเสริมสุขภาวะทางจิตวิญญาณและมิติ ความเป็นมนุษย์ในที่ทำงานให้มีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรที่หล่อเลี้ยงให้มนุษย์เติบโตกับงาน เบิกบานกับชีวิตและได้เชิญ 10 คนต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ มาเล่าประสบการณ์ชีวิตในการสร้างงานบันดาลใจให้ได้ฟังกัน
เป็น 10 คน ที่มองข้อจำกัดเป็นสิ่งที่ท้าทายของชีวิตแม้จะไม่ใช่คนดัง หรือเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนมากนักแต่ในความเป็นคนตัวเล็กๆ ที่มีชีวิต และมุมคิดดีๆ ก็อดไม่ได้ที่จะต้อง "บอกต่อ" เพื่อให้ "คนทำงาน" เหล่านี้ เป็นตัวอย่างของการทำงานที่มีคุณค่า มีความหมาย และมีความสุขให้กับทุกครอบครัวต่อไป
"เกื้อจิตร" นางฟ้าของผู้ป่วยระยะสุดท้าย มีงานประจำเป็นหัวหน้าตึกศัยกรรมกระดูกพิเศษโรงพยาบาลบุรีรัมย์ แต่เนื้องานที่ เกื้อจิต แขรัมย์ ต้องรับบทหนักที่สุดก็คือ การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้พร้อมและยอมรับการเผชิญหน้ากับสิ่งที่มนุษย์ไม่อาจหลีกหนีพ้นนั่นก็คือ "ความตาย" ดังนั้น หากไม่ติดธุระออกนอกพื้นที่เกือบทุกคืน เธอจะพาคนไข้สวดมนต์ก่อนนอน เพื่อชวยให้คนไข้ค่อยๆ พาตัวเองออกจากความทุกข์ ความกังวลเรื่องโรคภัยที่เป็นอยู่
"พี่เป็นเด็กบ้านนอก เข้าใจสภาพเวลาญาติเราป่วยไข้ดีแล้วก็เป็นพยาบาลที่เคยเป็นคนไข้ด้วย พี่รู้ว่าเวลาคนเราป่วยนั้น ไม่ได้ป่วยทางกายอย่างเดียว ใจมันป่วยด้วยมันหว้าเหว่ เคว้งคว้าง อ่อนแอ คำพูดคำจา ท่าทีของหมอพยาบาลจึงสำคัญสำหรับคนไข้มาก"พยาบาลเกื้อจิตรบอกก่อนเผยให้ต่อไปถึงความท้อแท้ว่ามีเข้ามาเหมือนกัน
"ในระบบงานอาจมีท้อบ้าง แต่เนื้องานไม่เหนื่อยเลยเห็นคนไข้ เห็นญาติมีความเปลี่ยนแปลง เราก็ดีใจ และมีความสุขที่จะทำงาน แม้บางครั้งจะเจอคำถามว่าทำทำไมมันไม่ใช่ แต่เราจะทำซะอย่าง อีกส่วนที่ทำให้งานมีความสุขก็คือ ความรัก ความเมตตาต่อกัน ไม่เอาความดีใส่ตัวคนเดียวดังนั้น งานสร้างคน คนสร้างสิ่งแวดล้อม และคนทำงานให้มีความสุข" พยาบาลเกื้อจิตรบอกน้ำเสียงแห่งความสุข
ช่างเชื่อม สไตล์ "ครูจิ๋ว" แม่พระของเด็กข้างถนน จากเด็กบ้านแตกสาแหรกขาด แถมเผชิญกับความกดดันจากความยากจน ทำให้ ครูจิ๋ว-ทองพูล บัวศรี ผู้จัดการโครงการครูข้างถนนและเด็กก่อสร้าง มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก เข้าใจถึงจิตใจของเด็กที่อยากเรียนแต่ไม่มีทุนทรัพย์ จึงเป็นที่มาของการสมัครเป็นครูอาสาตามโครงการก่อสร้างต่างๆเพื่อช่วยเหลือเด็กที่ติดตามพ่อแม่ไปทำงานก่อสร้าง และไม่มีโอกาสเข้าเรียนในโรงเรียน
แม้ความไว้วางใจกับพ่อแม่จะเป็นเรื่องยาก แต่ครูที่เปรียบตัวเองเหมือนเป็น "ช่างเชื่อม (โอกาส)" คนนี้ก็ไม่ย้อท้อเพราะเชื่อว่าการให้โอกาสและความรู้ คือการให้เด็กมีจิตสำนึกที่ดีงาม และมีทางเดินแห่งอาชีพที่พวกเขาเลือกเดินได้ นี่คือเคล็ดลับในการสร้างพลังใจสไตล์ครูจิ๋ว
"เราต้องสู้กับปัญหา วันนี้แก้ไม่ได้หรอก แต่พรุ่งนี้มันถึงเวลาของเรา ดังนั้น คนทำงานต้องสร้างแรงบันดาลใจ พลังของตนเองขึ้นมา แล้วนำพลังเหล่านี้ไปส่งต่อให้คนอื่น ถามว่าชีวิตมีท้อไหม มีค่ะ ทั้งท้อ ทั้งเหนื่อย แต่การสร้างพลังใจให้ตัวเองด้วยการสร้างกำลังใจ และให้โอกาสเด็กๆ นี่ความสุขของครูความสุขที่ได้ดูแลเด็กๆ แม้จะเหนื่อย แต่ก็มีความสุขกับมันได้เสมอ เพราะมันคืองานที่รัก" ครูจิ๋วบอกเธอคือคนปลดโซ่ตรวนผู้ป่วยจิตเวช
ณัฐกานต์ เหมือนตา พยาบาลวิชาชีพและนักจิตเวชรพ.สต.ส้มป่อย ศรีสะเกษ ซึ่งการช่วยเหลือ ไม่ใช่กระบวนการรักษาอย่างเดียว แต่พยายามหาแนวร่วม การยอมรับจากชุมชนและทลายจารีตประเพณีจนค่อยๆ หายไปจากชุมชนด้วยการรักษาที่มองความเป็นมนุษย์ของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน มองเห็นสายใยความสัมพันธ์ของคนในชุมชนอย่างเข้าใจถึงรากเหง้าชุมชน และความสุขที่เห็นชีวิตที่ดีขึ้นของคนในชุมชน เป็นสิ่งที่ทำให้ รพ.สต.ส้มป่อย เป็น รพ.สต.ใกล้บ้าน ใกล้ใจอย่างแท้จริง
"ความอดทนแม้เป็นสิ่งที่ขมขื่น แต่ผลของมันมักหวานชื่นเสมอ…อย่าให้เสียงของคนอื่น มาเอาชนะเสียงภายในของตัวเราเอง ส่วนตัวเคยท้อ ร้องไห้ ความกดดัน คนในครอบครัวไม่อยากให้ยุ่ง เพราะกลัวจะเดือดร้อน แต่ก็ไม่ท้อ เดินหน้าต่อจนสามารถทำให้เขามาใช้ชีวิตปกติได้อย่างมีความสุข มีชีวิตคู่มีลูกตัวน้อยๆ "แอปเปิ้ล" เปลี่ยนจากกลัว เป็นกล้า อยู่ในสายงานที่แวดล้อมไปด้วยผลกระทบจากความรุนแรง ความขัดแย้ง และการทารุณกรรม เช่น เด็กโดนทำร้ายถูกพ่อแท้ๆ ข่มขืน ทำให้ วรภัทร แสงแก้วหรือแอ็ปเปิ้ล หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมสวัสดิการสังคมศูนย์พึ่งได้ รพ.ปทุมธานี นั่งดูอยู่เฉยๆไม่ได้ แม้จะเจอแรงกดดัน แต่ก็ไม่ท้อ เปลี่ยนจากความกลัว เป็นความกล้า แล้วหาตัวช่วย เช่น ตำรวจ ศาล อัยการ จากนั้นเผชิญหน้าอย่างมีสติ ทำแบบแนบเนียน ไม่เผชิญหน้าโดยตรงมุ่งมั่นช่วยเหลือเด็ก และสตรี เพราะมองเห็นคุณค่าของงานที่ทำว่ามีความหมายต่อผู้ถูกกระทำอย่างไร
"ระบบไม่เอื้อ ตัวเราต้องเปลี่ยนแปลง ทำให้เต็มที่ ถ้าทำดีไม่เห็นต้องกลัวอะไร ทำดีไม่ได้ดีก็ให้มันรู้กันไป สุดท้ายที่ทำทั้งหมดก็ได้รับการยอมรับ แถมยังเป็นต้นแบบให้หน่วยงานต่างๆรวมไปถึงเด็กที่เคยช่วยเหลือเมื่อหลายปีก่อน ปัจจุบันสอบติดคณะแพทยศาสตร์ ม.มหิดล นี่คือแรงบันดาลใจให้ก้าวต่อไปเวลาเจอปัญหาหนักๆ ก็จะนึกย้อนเรื่องราวของเคสต่างๆบางเคสเจอหนักกว่าปัญหาที่เรามีอีก" แอปเปิ้ลเผยพ่อพระของเด็กดอย
ด้วยความเป็นครูที่ต้องการให้เด็กทุกคนได้เรียนหนังสือหลังจากย้ายมาที่โรงเรียนบ้านแม่เงา ต.แม่สวด อ.สบเบยจ.แม่ฮ่องสอน ผอ.ศรีใจ วงศ์คำลือ ทุ่มเททำทุกวิถีทางเพื่อให้เด็กขาวเขาได้เข้าสู่ระบบโรงเรียน แม้จะเดินเข้าป่าไปตามเด็กๆที่ช่วยพ่อแม่ในไร่ ผอ.คนนี้ก็ทำ
นอกจากนั้น ยังต้องก้าวความอาย เข้าเมืองไปตลาดเพื่อหาซื้อวัตถุดิบในการทำอาหาร เนื่องจากเด็กส่วนใหญ่เป็นเด็กไม่มีสัญชาติ ไม่ได้เงินสนับสนุนอาหารกลางวันจากรัฐ เวลาเห็นพืชผัก ผลไม้ที่พ่อค้าแม่ขายทิ้งขว้างก็ไม่รีรอที่จะขอมาให้เด็กทันทีหรือแม้กระทั่งถังสังฆทานจากวัด รวมไปถึงร้านขายของชำของภรรยาก็ไปขอเชื่อสินค้าเพื่อนำของมาใช้ในโรงเรียน
"เด็กเห็นทุกข์ เขาด้อยโอกาส อยากให้โอกาส เราสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เข้าได้ เอาลูกเขามาดูแลแล้ว ต้องดูแลให้ดีที่สุด" ชีวิตนอกกะลาของ "อ.วิเชียร" ไม่มีการสอบ ไม่มีเสียงออด เสียงระฆัง ไม่มีดาวให้ผู้เรียนไม่ต้องใช้แบบเรียน ไม่มีครูอบรมหน้าเสาธง ไม่จำกัดลำดับความสามารถของผู้เรียน ครูสอนเสียงเบาที่สุด และพ่อแม่ต้องมาเรียนรู้ร่วมกับลูก เนื่องจากผอ.วิเชียร ไชยบัง ต้องการให้เด็กได้เรียนอย่างมีความสุข และอยากให้โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาเป็นโรงเรียนนอกกะลาตัวอย่างให้กับโรงเรียนอีก 3 หมื่นกว่าแห่งในชนบท
ด้วยความที่อยากเห็นการศึกษาตอบโจทย์ของการพัฒนาความเป็นมนุษย์ จึงเป็นสาเหตุของการลาออกจากราชการในขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารโรงเรียนเพื่อสร้างโรงเรียนนอกกะลาแห่งนี้
"ผมมองอนาคตของตนเองจากเพื่อนผู้บริหารที่ไม่รู้จะทำอะไรหลังเกษียณอายุราชการ กลายเป็นชีวิตที่เหี่ยวเฉามากเป็นประการแรกจนได้มีโอกาสเข้าไปร่วมช่วงปฏิรูปการศึกษา จะเห็นว่าเด็กที่เรียนไม่ผ่าน ติด ร. ติด มส. เด็กจะถูกทอดทิ้ง ไม่มีอะไรดึงเด็กกลับขึ้นมา และผมเองตั้งเป้าชีวิตว่าจะอยู่ถึงอายุ 70 ปี และตายอย่างมีคุณค่า"เขาคือ "แพทย์เดินเท้า" แห่งอมก๋อย
"เบาหวาน" เป็นจุดเปลี่ยนให้ หมอเล็ก-นพ.ประจินต์ เหล่าเที่ยง ตัดสินใจปิดคลินิก เพราะไม่ได้ตอบโจทย์ชีวิตแม้จะมีเงิน แต่สุขภาพกลับทรุดลง จึงย้ายไปบรรจุอยู่อมก๋อยเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลอมก๋อย ก่อตั้งโครงการแพทย์เดินเท้า ช่วยเหลือผู้ป่วยด้วยการเดินเท้าเข้าไปรักษา โดยมีหลักคิดจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมถึงสมเด็จพระเทพฯ ที่ทรงทำงานด้วยความยากลำบาก และไม่หวังผลตอบแทน ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระจันทร์เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา
"หากเปล่อยให้คนต้องมาตายเพียงเพราะเขาไม่สามารถเดินทางมาโรงพยาบาลได้ เป็นเรื่องที่ไม่สมควรเนื่องจากเขาเหล่านั้นเป็นคนเช่นเดียวกับเรา ไม่ว่าเขาจะอยู่ในสถานะไหน มีสัญชาติหรือเชื้อชาติอะไร คนเมื่อเจ็บป่วยก็ต้องมีหมอไปช่วยรักษา" นพ.ประจินต์บอกด้วยน้ำเสียงหนักแน่น
"หมอตุ่ย" หัวใจเพื่อมวลชนได้ชื่อว่าเป็นแพทย์ที่อุทิศตนให้กับเพื่อนมนุษย์ผู้ห่างไกล สำหรับ หมอตุ่ย-นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก คุณหมอที่รักษาทุกคนทุกเชื้อชาติด้วยมาตรฐานเดียวกัน เพราะเขาบอกกับตัวเองอยู่ตลอดว่า
"ชาวบ้านเขาก็เป็นคนเหมือนเรา เจ็บป่วยมา ไม่มีสิทธิแล้วไม่รักษา คงจะไม่ได้หรอก ผมต้องช่วยคน อย่าว่าแต่คนเลย หมาคลอดลูกไม่ออก เราก็ผ่าตัดทำคลอดให้" ด้วยคุณงามความดี และผลงานที่ปรากฎ ทำให้ได้รางวัลผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนดีเด่นประจำปี 2537 รางวัลแพทย์ชนบทดีเด่นประจำปี 2538 และรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบทประจำปี 2551 ชีวิตที่มากกว่าแค่นักกายภาพบำบัด
"ไม่มีคนไข้คนไหนที่ไม่เข้าถึงบริการของผม" เป็นสโลแกนในการทำงานของสมคิด เพื่อนรัมย์ นักกายภาพบำบัดโรงพยาบาลท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ ผู้ทุ่มเทใช้ความรู้ฟื้นฟูชีวิตคนพิการให้กลับมีคุณค่าความเป็นมนุษย์
ชีวิตการทำงานของผู้ชายคนนี้ เปรียบเสมือนสายน้ำ ไม่ใช่เป็นน้ำแค่ในบ่อ เป็นสายน้ำไหลไปถึงผู้ป่วยถึงที่ไม่ใช่นั่งรอผู้ป่วยอยู่แต่ในห้องแอร์ แต่ลงพื้นที่ เยี่ยมบ้านผู้ป่วยด้วยหลักคิด 4 ประการคือ 1. ทุกครั้งที่ออกไป คนไข้จะต้องดีขึ้น (กาย จิต สังคมปัญญา) 2. ให้ความรู้ครอบครัวช่วยเยียวยาคนในบ้าน 3. สร้างเครือข่าย 4. ต้องเก่งขึ้นทุกวันไม่มีความรู้เรื่องยา ก็ต้องไปฝึกฝน
เรียนรู้เรื่องยา"เกษม" สง่างามในวิถีที่เป็น ร่วม 30 ปีบนเส้นทางการทำงาน เกษม เผียดสูงเนิน เจ้าหน้าที่ประจำ รพ.สต. อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี มุ่งมั่น ทุ่มเท และไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ ที่ผ่านเข้ามา จากสถานีอนามัยที่ชาวบ้านมองข้าม สู่ความไว้วางใจของคนในชุมชน และเป็นความภูมิใจของโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพระดับตำบลที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ความสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้ มาจากแรงบันดาลที่มีพื้นฐานของการมองเห็นคุณค่าจากงาน และความเป็นพี่เป็นน้องของผู้ชายคนนี้นั่นเอง
"อย่าเอาความขาดแคลนมาเป็นข้ออ้าง แต่จงเอาความขาดแคลนมามาทำให้งานนั้นมีประสิทธิภาพ"เจ้าหน้าที่ในวัย 49 ปีทิ้งท้าย แม้จะมีโอกาสไปทำงานในที่ที่ดีกว่าแต่เขาขอยอมสง่างามในวิถีที่เป็น
นี่คือ 10 คนทำงานบันดาลใจจาก "โครงการงานบันดาลใจ" ของสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.)นับเป็นตัวอย่างของการทุ่มเท และเป็นตัวอย่างของความไม่ยอมจำนนกับข้อจำกัดต่างๆ ทั้งยังเป็นตัวอย่างของการ
ทำงานที่ขัดเกลา หล่อเลี้ยงความเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์พร้อมเติบโตงอกงามไปกับงานที่ทำโดยไม่ปล่อยให้ตัวเองกลายเป็นหุ่นยนต์ที่ทำได้แต่งานตามหน้าที่ หรือถูกสั่งให้ทำโดยไม่ต้องคิด และไม่รู้สึก
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต