1 ใน 6 แม่หลังคลอด ป่วย’โรคซึมเศรา’
ที่มา: มติชน
แฟ้มภาพ
สำหรับคนทั่วไป ภาวะซึมเศร้าหลังตั้งครรภ์ฟังดูแล้วแปลกประหลาด แต่แท้จริงแล้วอาการดังกล่าวถือเป็นเรื่องปกติที่พบได้บ่อย เพราะการตั้งครรภ์มักส่งผลให้ร่างกายและอารมณ์ของคุณแม่มือใหม่เปลี่ยนแปลงไป จนอาจนำไปสู่ความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบต่อจิตใจถึงขั้นมีอาการซึมเศร้าหลังคลอดอย่างรุนแรง
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด เป็นกลุ่มอาการที่พบได้บ่อยที่สุดถึง 1 ใน 6 ของคุณแม่หลังคลอดบุตร ส่วนใหญ่มักมีอาการซึมเศร้าเพียงเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น โดยอาการดังกล่าวมีผลมาจากฮอร์โมนที่ลดระดับลงอย่างรวดเร็วจากการเปลี่ยนแปลงหลังการตั้งครรภ์ ซึ่งตามหลักการทางวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คุณแม่เกิดภาวะ ซึมเศร้าหลังคลอด
อย่างไรก็ตาม แม้อารมณ์เศร้าของแต่ละคนจะมีความรุนแรงแตกต่างกันออกไป แต่ส่วนใหญ่อารมณ์เศร้ามักปรากฏให้เห็นในช่วง 2-5 วันแรกหลังคลอด กินระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์หลังคลอด หลังจากนั้นอาจจะพบได้บ้างประปราย แต่บางกรณีอาจจะพบอาการซึมเศร้าหลังจากคลอดบุตรต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือนก็ได้ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม คนรอบข้าง และปัญหาต่างๆ ที่คุณแม่ยังแก้ไม่ตกเป็นปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ถือเป็นเรื่องปกติที่พบว่าคุณแม่จะมีอารมณ์เศร้าหลังคลอดใหม่ๆ โดยคุณแม่อาจจะรู้สึกสับสนแปรปรวน มีอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย หงุดหงิดง่าย วิตกกังวล จิตใจอ่อนไหว นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย เบื่ออาหารแต่ไม่ถึงกับกินอะไรไม่ได้เลย มีอาการเศร้า เหงา และอาจถึงกับร้องไห้ออกมาโดยไม่ทราบสาเหตุ อาการเหล่านี้จะมีมากขึ้นหากคุณแม่ต้องรับภาระเลี้ยงดูลูกน้อยเพียงลำพัง
นพ.ชิโนรส ลี้สวัสดิ์ รองอธิบดี กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจัยที่สัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ได้แก่ สุขภาพมารดา ความขัดแย้งระหว่างคู่สมรส ความไม่เพียงพอของรายได้ และความกดดันทางสังคมของเพศหญิง ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดมักมีอาการรุนแรงในช่วง 3 เดือนแรก ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาการทารก โดยเฉพาะด้านภาษา หญิงที่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดมักจะมีปัญหาในการเลี้ยงดูบุตร เช่น ขาดปฏิสัมพันธ์กับเด็ก ขาดพฤติกรรมการเลี้ยงดูที่เหมาะสม ขาดการแสดงความรัก รวมถึงมีพฤติกรรมเสี่ยงอันตรายมากขึ้น เช่น การใช้อารมณ์กับบุตร โดยพบถึงร้อยละ 41 ที่มีความคิดทำร้ายลูก การช่วยเหลือแม่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดตั้งแต่เริ่มแรกจึงมีความสำคัญอย่างมาก ซึ่งจะส่งผลถึงพัฒนาการของเด็กในอนาคต โดยเฉพาะพัฒนาการทางด้านภาษา
นพ.ชิโนรส มีข้อแนะนำในการสังเกตภาวะซึมเศร้าในหญิงที่เพิ่งคลอดบุตร ว่า ส่วนใหญ่จะมีอาการเซื่องซึมง่าย เศร้าง่าย ร้องไห้ง่าย อารมณ์จะขึ้น-ลง หงุดหงิดง่าย วิตกกังวลไปหมด ร่างกายอ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ฯลฯ หากอาการเป็นอยู่นานกว่า 2 สัปดาห์ ควรพบจิตแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย เพราะอาจกลายเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดได้ ซึ่งวิธีที่จะช่วยให้คุณแม่หลุดพ้นจากภาวะซึมเศร้า คนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัว ต้องช่วยกันสังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิม เช่น พูดน้อยลง กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้เหมือนเดิม
เมื่อพบความผิดปกติ บุคคลใกล้ชิดต้องแสดงความใส่ใจ โดยใช้การพูดคุยหรือสัมผัสโอบกอด เพื่อให้คุณแม่หลังคลอดรู้สึกว่าไม่ได้ถูกทอดทิ้ง สร้างความผ่อนคลาย ให้ได้ระบายให้ฟังว่าตอนนี้กำลังเผชิญกับปัญหาอะไรบ้าง นอกจากนี้ สามีหรือคนในครอบครัวต้องช่วยดูแลลูก เพื่อให้แม่หลังคลอดมีเวลาพักผ่อนเป็นส่วนตัว หรืออาจช่วยแบ่งเบาภาระในบ้าน เช่น ทำความสะอาดบ้าน ดูแลลูกให้คุณแม่ได้พักผ่อน การช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ สามารถช่วยให้คุณแม่ผ่อนคลายได้มากทีเดียว
ท้ายที่สุด ผู้ใกล้ชิดหรือคนในครอบครัว คือเกราะป้องกันที่ดีที่สุด ต่ออาการซึมเศร้าของคุณแม่ ที่เริ่มจากการ เข้าอกเข้าใจในธรรมชาติของภาวะซึมเศร้า ต้องไม่คิดว่าสิ่งที่หญิงคลอดบุตรกำลังเผชิญเป็นภาระและปล่อยให้ต้องเผชิญสถานการณ์ที่ยากลำบากเพียงลำพัง การเอาใจใส่ดูแลจะช่วยให้คุณแม่หลังคลอดผ่านพ้นความทุกข์ทรมานจากโรคซึมเศร้า กลับมามีสภาวะจิตใจที่เป็นปกติ สามารถเลี้ยงลูกและเติมเต็มความสุขให้แก่ครอบครัวได้อย่างเต็มที่ต่อไป