‘1 เย็น 1 ซอย’ อบต.สัญจร
เสียงประกาศตามสายให้ชาวบ้านมาประชุม ดังก้องทั่วตำบล กระทั่งวันหนึ่งชาวบ้านที่เคยมาประชุมกันอย่างท่วมท้นนับวันยิ่งลดน้อยลงเรื่อยๆ เป็นสัญญาณเตือนอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า นอกจากชาวบ้านจะไม่มาแล้ว ชาวบ้านทั้งหลายต่างคิดว่าการประชุมที่มีขึ้นนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์กับการเสียเวลามานั่งฟังเลย นี่เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ไม่ว่าชุมชนไหนๆ หรือแม้การเมืองในระดับประเทศก็ต้องเคยประสบ
องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหม้อ อ.เมือง จ.เพชรบุรี ตำบลศูนย์เรียนรู้สุขภาวะชุมชน โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็เป็นอีกตำบลหนึ่งที่เจอกับปัญหาดังกล่าวเช่นกัน จึงคิดกลยุทธ์พิชิตใจชาวบ้านได้สำเร็จทำให้ยอดการเข้าร่วมประชุมแต่ละครั้งเกินครึ่งและดีเกินคาด
ธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ นายก อบต.บ้านหม้อ มัดใจชาวบ้านโดยลงไปประชุมนัดเจอเป็นการประชุมย่อยแต่ละซอย ให้ชื่อกิจกรรมนี้ว่า 1 เย็น 1 ซอย ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นจากปัญหาเรื่องของการทำประชาคมในระดับพื้นที่ ที่คนในตำบลไม่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการจัดการท้องถิ่น
“1 เย็น 1 ซอย เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นจากปัญหาการทำประชาคมในระดับพื้นที่ตำบล เรามีโครงสร้างแบบเมืองอยู่กึ่งหนึ่ง จุดอ่อนคือคนในตำบลจะไม่ให้ความสำคัญเรื่องการจัดการท้องถิ่น เมื่อก่อนเราก็จัดประชุมชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน 6 ครั้ง ผลปรากฏว่า 6 ครั้งคนมา 300 คน จากคนทั้งหมด 8,000 คน มันไม่ใช่คำตอบที่เป็นฐานปฏิบัติการที่จะนำไปสู่การพัฒนา” นายก อบต.บ้านหม้อกล่าว
เมื่อปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นทำให้คิดหนักว่าจะใช้กลยุทธ์แบบไหนเพื่อที่จะเป็นแรงจูงใจให้ชาวบ้านหันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับการจัดการการมีส่วนร่วมพัฒนาท้องถิ่น
“เราจึงปรับกลยุทธ์ เมื่อคุณไม่มาฉันไปเองดีกว่า ก็ไปจัดประชุมกลุ่มเล็กๆ 2 ซอยจัดเป็นหนึ่งกลุ่ม ที่สามารถเดินมาถึงปากซอยได้” เลยเป็นผลทำให้เกิดกิจกรรม 1 เย็น 1 ซอยขึ้น นายกธีรศักดิ์ กล่าว
นอกจากนี้ 1 เย็น 1 ซอยที่จัดขึ้น ยังเป็นการคุยกับแบบกันเอง หรือแบบไม่เป็นทางการ มีเก้าอี้ มีไมค์เล็กๆ แลกเปลี่ยนคุยกันไม่มีวาระ แต่มีคนจดบันทึกเก็บไว้เป็นข้อมูล ซึ่งชาวบ้านแต่ละคนก็จะเล่าความเดือนร้อนหรือปัญหาที่จะให้แก้ไข ส่วนทางอบต. ก็จะพูดคุยว่าปัญหานี้มีข้อจำกัดเรื่องอะไรบ้างและร่วมกันหาทิศทางการแก้ปัญหาต่อไป
“1 เย็น 1ซอย ชาวบ้านก็มานั่งคุยกันสนุกสนาน ปรึกษาหารือกัน เราไม่ได้คุยเรื่องแผนอย่างเดียวแต่คุยเรื่องตลก เฮฮา ด้วย ใครมีอะไรก็มานั่งคุยกัน ฝ่ายเก็บข้อมูลก็ค่อยเก็บข้อมูลไป ชาวบ้านก็เล่าถึงความเดือนร้อนต่างๆ เราก็มาช่วยกันว่าจะทำอย่างไร แก้ได้ไหม เราก็รับฟังความคิดเห็นแลกเปลี่ยนปัญหา ผลปรากฏว่า กลยุทธ์ที่เราทำได้ประโยชน์ เราทำภาพรวมทั้งตำบลเราได้คนเกือบ 40-50 เปอร์เซ็นต์จากทั้งหมด จำนวนคนที่เข้าประชุมเพิ่มขึ้น เหล่านี้เป็นการสะท้อนถึงความสำเร็จของกลยุทธ์ดังกล่าว ซึ่งนอกจากคนที่เข้าร่วมประชุมจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นแล้ว ยังช่วยให้รับรู้ข้อมูลข่าวสารจากอบต. และได้ความใกล้ชิดระหว่างกัน ” นายกฯ เล่า
“นอกจากจะได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารจากอบต. เรายังได้ความใกล้ชิดในการพูดคุย ทำให้เรามั่นใจว่าเขากล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็น เดิมมีเวทีใหญ่ มีคนพูดไม่เกิน 3 คน แต่ตอนนี้มี 10 คน พูดคุยและแสดงความคิดเห็นกัน 5 คน ถือว่าประสบความสำเร็จ ข้อมูลเชิงพัฒนาเราได้ และอีกอย่างคือ เราได้ข้อมูลเชิงปัจเจก รู้ว่าใครเป็นยังไง พฤติกรรมแต่ละบ้านว่ากินเหล้าเมายา หรือไม่อย่างไรด้วย “1 เย็น 1 ซอย” ไม่ได้จบแค่นั้น แต่จะไปตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหา เอามาทำแล้วก็รายงานกลับไป เช่น ซอยนี้ให้มาตัดต้นไม้ ทำแล้วก็มารายงานไป ซอยนี้ขอให้ก่อสร้าง เราก็จะลงไปอีกทีไปดูแบบทำเสร็จก็บอกชาวบ้านไปว่าแก้ไขให้เรียบร้อยแล้ว เราจะมีฝ่ายเจ้าหน้าที่ดูแล วิเคราะห์แผนอยู่จะเป็นคนวางว่าจะมีการจัดการและวางแผนลงซอยไหน เพราะเรามีทั้งหมดกว่า 60 ซอย เราก็จะลง 30 พื้นที่ บางซอยก็ใกล้กันมารวมกันได้” นายกฯ ธีรศักดิ์กล่าว
จากคำบอกกล่าวของ อารมณ์ ม่วงไหมทอง เจ้าของร้านค้าของชำตำบลบ้านหม้อ เล่าว่า ที่ตรงหน้าบ้านของตนก็เป็นจุดนัดพบอีกแห่งหนึ่งของ กิจกรรม 1 เย็น 1 ซอย ซึ่งจะมีการรวมตัวกันขึ้นหากได้ยินประกาศว่ามีการประชุม ซึ่งกิจกรรมดังกล่าว สามารถตอบสนองความต้องการในการแก้ไขปัญหาของชุมชนได้เป็นอย่างดี
“ทางอบต.เขาก็ถามเราว่าจะเอาอะไร มีอะไรต้องแก้ไขดี เดือนร้อนอะไร เราจะได้บอก ถ้าเป็นหมู่ 2 ก็ประชุมตอนเย็นที่บ้านเรานี่แหละ เขาประกาศแล้วก็ออกมารวมตัวกัน บ้านละคน ก็ออกมากันเยอะเพราะใกล้บ้าน” อารมณ์กล่าว
อารมณ์ ได้เล่าอีกว่า เรื่องที่มีการสอบถามหรือแสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสาธารณูปโภค เช่น การบริการของอบต. ด้านการเก็บขยะ น้ำ เรื่องอาชีพ ฯลฯ ซึ่งนายก อบต. จะให้ชาวบ้านเล่าสู่กันฟังว่าจะทำอะไรกันบ้าง ทางอบต. เขาจะได้ส่งเสริมตลอดจนช่วยแก้ไขไขและจัดการปัญหา นอกจากจะมีการประชุมแยกแล้วในตำบลยังมีการจัดประชุมรวมทุกหมู่บ้านด้วย เมื่อรู้ปัญหาเร็วก็แก้ได้เร็ว ชาวบ้านไม่ต้องรอนาน แก้ได้ไม่ได้อย่างไรก็บอก ปรึกษากัน ชาวบ้านจะได้ร่วมมือกัน
นอกจากนี้ นายกฯ ธีรศักดิ์ ยังกล่าวเสริมว่า สิ่งที่จะทำต่อไปก็คือ 1 เช้า 1 ซอย คือการลงไปตรวจสุขภาพ ซึ่งนี่เป็นกิจกรรมใหม่เอี่ยมที่กำลังจะเปิดตัวขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
อย่าไรแล้ว นายกฯ ธีรศักดิ์ ยังได้กล่าวทิ้งท้ายถึง กิจกรรมที่เกิดขึ้นทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น 1 เย็น 1 ซอย หรือ 1 เช้า 1 ซอยที่จะเกิดขึ้น ล้วนเกิดจากบริทบทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ต้องงัดกลยุทธ์ สร้างยุทธศาสตร์ทั้งหลาย สิ่งที่ได้ก็คือสร้างความใกล้ชิดและความเข้าใจระหว่างคนในชุมชน เมื่อคนในชุมชนมีส่วนร่วมไม่ว่าปัญหาอะไรก็สามารถแก้ไขได้ด้วยความร่วมมือระหว่างกัน จึงทำให้ชุมชนก้าวข้ามปัญหาและอุปสรรค์ พร้อมเดินหน้านำไปสู่การพัฒนาต่อไป
ที่มา : สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สน.3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ