1มี.ค.ขนส่งฯขอสแกนโรคทำขับขี่
ที่มา: เว็บไซต์เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
แพทยสภาได้กำหนดแบบมาตรฐานของใบรับรองแพทย์สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมออกให้กับผู้ขอรับบริการตรวจสุขภาพเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. นี้ เนื่องจากแต่เดิมไม่มีมาตรฐานเดียวกัน แต่ได้กำหนด 5 โรคต้องห้าม
นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า แพทยสภาได้กำหนดแบบมาตรฐานของใบรับรองแพทย์สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมออกให้กับผู้ขอรับบริการตรวจสุขภาพเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. นี้ เนื่องจากแต่เดิมไม่มีมาตรฐานเดียวกัน แต่ได้กำหนด 5 โรคต้องห้ามได้แก่ โรคเท้าช้าง, วัณโรค, โรคเรื้อน, พิษสุราเรื้อรัง และโรคติดยาเสพติดให้โทษ โดยรายละเอียดใบรับรองแพทย์แบบมาตรฐานใหม่แบ่งเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 ของผู้ขอรับใบรับรองสุขภาพกรอกประวัติโรคประจำตัว ประวัติอุบัติเหตุและการเข้ารับการผ่าตัดประวัติเคยเข้ารับการรักษาในรพ.ตามความจริง
ส่วนที่ 2 ของแพทย์รับรองผู้ขอรับบริการตรวจสุขภาพว่าไม่เป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่ปรากฏอาการของโรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน หรือปัญญาอ่อนไม่ปรากฏอาการของการติดยาเสพติดให้โทษ และอาการของโรคพิษสุราเรื้อรังและไม่ปรากฏอาการและอาการแสดงของโรคเรื้อนในระยะติดต่อหรือในระยะปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคมวัณโรคในระยะอันตราย โรคเท้าช้างในระยะปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม
นายสนิท กล่าวต่อว่า กรณีผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถหรือใบอนุญาตเป็นผู้ประจำรถใช้ใบรับรองแพทย์ไม่เป็นไปตามแบบมาตรฐานดังกล่าวให้นายทะเบียนแจ้งผู้ยื่นคำขอไปดำเนินการขอใบรับรองแพทย์ใหม่ให้ถูกต้องก่อนรับดำเนินการรวมทั้งให้สำนักงานขนส่งจังหวัดประสานสถานพยาบาลในพื้นที่ให้ออกใบรับรองแพทย์ตามแบบที่ถูกต้องเพื่อการคัดกรองผู้ขับรถที่มีความรู้และทักษะการขับรถได้อย่างถูกต้องปลอดภัยและไม่เป็นภัยอันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนนรายอื่น
นายสนิท กล่าวต่อว่า สำหรับโรคประจำตัวบางกลุ่มแม้ตามกฎหมายจะยังไม่กำหนดให้เป็นโรคต้องห้ามที่เป็นอุปสรรคต่อการขับรถ เช่นโรคลมชัก โรคความดันโลหิตสูง แต่กรณีผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถไปแล้วอาการของโรคกำเริบขณะขับรถจนเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงนายทะเบียนอาจพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตขับรถได้เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนส่วนรวม
สำหรับความคืบหน้าการปรับปรุงร่างกฎกระทรวงขณะนี้อยู่ในระหว่างหารือร่วมกับแพทยสภาเพื่อกำหนดรายละเอียดของใบรับรองแพทย์ให้สามารถกลั่นกรองผู้ที่มีโรคในกลุ่มเสี่ยงที่อาจเป็นอันตรายต่อการขับรถเพิ่มเติม เช่นโรคเบาหวานระยะที่ต้องฉีดอินซูลิน โรคความดันโลหิตสูง โรคลมบ้าหมูหรือลมชักผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดทางสมอง ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายที่ผ่านการผ่าตัดหัวใจหรือขยายเส้นเลือดหัวใจซึ่งแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าเป็นอุปสรรคต่อการขับรถและอาจพิจารณาให้มีการตรวจรับรองโรคเป็นระยะสำหรับผู้ที่ได้รับใบอนุญาตขับรถตลอดชีพก่อนที่กรมฯจะประกาศยกเลิกการออกใบอนุญาตขับรถตลอดชีพเมื่อวันที่28 ก.ค. 2546 เพื่อคุ้มครองผู้ใช้รถใช้ถนนให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น