1ต.ค.คัดแยกขยะรัฐ หวั่นนำเข้าเศษโลหะ

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ 


1ต.ค.คัดแยกขยะรัฐ หวั่นนำเข้าเศษโลหะ thaihealth


แฟ้มภาพ


ดีเดย์หน่วยงานภาครัฐคัดแยกขยะ 1 ต.ค. เผยข้าราชการ 2.53 ล้านคนสร้างขยะในสำนักงานเฉลี่ย 300 กรัม/คน/วัน คาดลดขยะได้ราว 1.2 หมื่นตันต่อปี รมว.ทรัพยากรฯ มอบปลัดศึกษาเก็บค่าใช้ถุงพลาสติกนำเงินเข้ากองทุนสิ่งแวดล้อม หวั่นปัญหานำเข้าขยะเศษเหล็ก ตะกั่ว ทองแดง


พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ "มาตรการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยในหน่วยงานภาครัฐ" เพื่อชี้แจงให้ทุกหน่วยงานภาครัฐได้รับทราบ กรอบแนวทางการดำเนินงานตามมาตรการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยในหน่วยงานภาครัฐและนำไปใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานในหน่วยงานได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ โดยมีตัวแทนทั้งจากภาครัฐจากทุกกระทรวงและภาคเอกชนเข้าร่วมกว่า 500 คน


พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า มาตรการลดและ คัดแยกขยะมูลฝอยในหน่วยงานภาครัฐ เป็น 1 ใน 5 กิจกรรม ภายใต้โครงการ "ทำดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม" ที่ครม.เห็นชอบ เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2561 ให้ทุกหน่วยงานภาครัฐดำเนินกิจกรรม ที่ส่งเสริมสนับสนุนการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยในหน่วยงาน เพื่อให้การจัดการขยะมูลฝอยมีประสิทธิภาพและง่ายต่อการนำไปใช้ประโยชน์ โดยให้ดำเนินงานพร้อมกัน ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.นี้ และกำหนดเป็นตัววัดประสิทธิภาพของหน่วยงานภาครัฐ เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 หรือวันที่ 1 ต.ค.นี้ เบื้องต้นกำหนดเป้าหมายให้ข้าราชการ


ทั่วประเทศ  2.53 ล้านคน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและคัดแยกขยะมูลฝอยเป็นตัวอย่างให้ประชาชน และหน่วยงานเอกชนและทุกอาคารสำนักงานของหน่วยงานภาครัฐ โดยจากข้อมูลของ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) พบว่าข้าราชการแต่ละคน สร้างขยะในสำนักงานเฉลี่ยคนละ 300 กรัมต่อคนต่อวัน ถ้าข้าราชการทุกคนร่วมมือกัน จึงจะช่วยลดขยะได้เป็นจำนวนมาก


โดยคาดว่าขยะมูลฝอยจากหน่วยงานภาครัฐจะลดลงได้มากถึง 1.2 หมื่นตันต่อปี ส่งผลให้หน่วยงานภาครัฐประหยัดงบประมาณในการจัดการขยะมูลฝอย รวมทั้งสามารถสร้างรายได้จากขยะรีไซเคิลที่คัดแยกได้ ซึ่งจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับประชาชนหน่วยงานเอกชนในการดำเนินการร่วมกันต่อไป


"ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ไปศึกษาพิจารณาการเก็บค่าใช้ ถุงพลาสติก ว่าจะสามารถนำมาใช้กับประเทศไทยได้หรือไม่ ถ้ารัฐบาลให้เก็บแล้วจะเอาเงินไปไหน เป็นไปได้ที่จะนำมาเข้ากองทุนสิ่งแวดล้อมเพื่อแก้ปัญหาขยะพลาสติกต่อไปได้หรือไม่ ซึ่งต้องพิจารณาให้ดี เพราะหากเสนอมาแล้วรัฐบาลอาจจะได้ก้อนหินจะมากกว่าดอกไม้" พล.อ.สุรศักดิ์กล่าว


พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ถือเป็นโชคร้ายของประเทศไทย ที่มีการลักลอบนำเข้าขยะจากต่างประเทศ ในขณะที่กำลังเริ่มรณรงค์ โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่ลักลอบนำเข้ามากว่า 5 แสนตัน เป็นสิ่งที่เข้ามาแทรกซ้อนในเวลานี้ ซึ่งรัฐบาลได้ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อ บูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศ อย่างเป็นระบบขึ้นมา วันนี้ถึงเวลาแล้วที่ข้าราชการ ทุกคนต้องลุกขึ้นมาทำหน้าที่ของตัวเองให้ เต็มที่ วันนี้มี 35 ประเทศเป็นอย่างน้อยที่เอาขยะพลาสติกเข้าประเทศไทย


"ในที่ประชุมมีการต่อรองกับผม ซึ่งผมได้ชี้แจงประธานสภาอุตสาหกรรมและนักธุรกิจทั้งหมดว่า รัฐบาลมุ่งหวังในเรื่องสุขภาพของคนไทยและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ดังนั้นไม่ต้องมาต่อรองกับผม การนำขยะเข้าประเทศควรจะยุติได้แล้ว ซึ่งทุกคนก็เห็นด้วยกับ เรื่องนี้"


พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีขยะอีกหลายชนิดที่กำลังเข้าสู่ประเทศไทย เช่น เศษเหล็ก ตะกั่ว ทองแดง เป็นต้น เพราะยังไม่มีกฎหมายการห้ามนำเข้าส่งออก ภาษีก็แทบจะไม่มี โดยในวันที่ 15 ส.ค.2561 จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการฯ จะมีข้อสรุปบัญชีรายชื่อขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกเพื่อให้กระทรวงพาณิชย์นำไปออกประกาศการห้ามนำเข้ามาภายในราชอาณาจักรไทยต่อไป


"คนที่ร่ำรวยจากการทำอาชีพนำเข้าขยะก็ขอให้ไปทำอาชีพอื่น ซื้อมากิโลกรัมละ 6 บาท ขายออกไปกิโลกรัมละ 19 บาท แต่สิ่งที่ประเทศไทยได้คือซากเหลือที่ เป็นพิษ แต่คนในวงจรธุรกิจนี้กำไรมหาศาล ให้หันมาทำอาชีพปลูกป่า ปลูกต้นไม้แทน โดยกระทรวงทรัพยากรฯ กำลังจะแก้ พ.ร.บ.ป่าไม้ มาตรา 7 เพื่อให้สามารถปลูกและตัดไม้ขายได้ง่ายๆ"


"นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ต้องเข้าไปดู ในส่วนของประชาชนที่มีอาชีพคัดแยกขยะอย่างผิดกฎหมายและทำไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เป็นอันตรายทั้งต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม อย่างเช่นใน อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ ที่กำลังแพร่ไปในพื้นที่อื่นๆ เพราะรายได้ดีถึงเดือนละ 3 หมื่นบาท เรื่องนี้ต้องเร่งดำเนินการไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นปัญหาลุกลามต่อไป" พล.อ.สุรศักดิ์กล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code