ไม่ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน = ลูกคนนี้ขี้เกียจ จริงเหรอ?

ที่มา : เว็บไซต์ afterschoolonline.tv


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


ไม่ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน = ลูกคนนี้ขี้เกียจ จริงเหรอ? thaihealth


ปัญหาลูกไม่ช่วยงานบ้านเป็นปัญหาสุดฮิตระดับตำนาน ไม่ว่าบ้านไหนก็ต้องมีสักครั้งที่พ่อแม่จะบ่นใส่ลูก ไม่ว่าจะเป็นบอกให้ลูกไปล้างจานอย่างนุ่มนวลครั้งที่หนึ่ง ลูกก็เงียบใส่ ไม่เป็นไรเอาใหม่ บอกไปล้างจานครั้งที่สอง อ้าว เมินกันเฉย ไม่ทนแล้วนะเพิ่มความดังให้สุดเสียงแล้วตะโกนออกไปว่า “มาล้างจานได้แล้วโว้x!!” เชื่อสิว่าต้องมีจะปรี๊ดแตกกันบ้าง แต่ก็ถือว่าประสบความสำเร็จเพราะเมื่อลูกเจอไม้นี้ก็จะยอมทำตามแต่โดยดี แม้บางทีจะไม่เต็มใจก็ตาม


เข้าใจว่าแม่ทุกคนเหนื่อยกับการพูดเรื่องเดิม ๆ ซ้ำ ๆ แบบนี้ทุกวัน แต่อยากให้คุณแม่มั่นใจได้เลยว่าคุณไม่ได้เหนื่อยอยู่ฝ่ายเดียวอย่างแน่นอน เพราะทางฝั่งของลูกก็ไม่น้อยหน้า เขาก็มีมุมเหนื่อย ๆ ที่พ่อแม่ไม่รู้อยู่เหมือนกัน


หน้าที่หลักเด็กไทย คือ เรียนเยอะ


นอกเหนือไปจากเรื่องงานบ้านแล้ว สิ่งที่เรื่องที่ผู้ปกครองให้ความสำคัญไม่แพ้กันนั้น อันดับหนึ่งก็คงหนีไม่พ้นเรื่องเรียนอย่างแน่นอน


หากใครได้เห็นข้อมูลนี้ของ UNESCO อาจคิดไปไกลได้ว่าเด็กไทยคงเป็นประเภทคลั่งเรียนทีเดียว เพราะข้อมูลระบุว่าเด็กนักเรียนไทยอายุ 9-13 ปีมีจำนวนชั่วโมงเรียนมากที่สุดในโลก เป็นเวลา 1,200 ชั่วโมงต่อปี ซึ่งตัวเลขนี้นับเฉพาะที่เรียนในโรงเรียนเท่านั้น ยังไม่นับรวมเวลาเรียนพิเศษอื่น ๆ อีก


ถึงแม้ว่าเราจะไม่ทราบชั่วโมงเรียนพิเศษที่แน่ชัด แต่ว่ารายละเอียดของเรื่องเรียนไม่ได้หยุดอยู่แต่ที่โรงเรียนกับที่เรียนพิเศษเท่านั้น เพราะเมื่อเด็กกลับมาบ้านเขายังต้องทำการบ้านของแต่ละวิชาที่คาดเดาไม่ได้ว่าวันนี้จะต้องใช้เวลาทำมากหรือน้อยแค่ไหนจนต้องโต้รุ่งไปถึงเช้าเลยไหม


ถือว่าเด็กไทยเรียนเยอะไม่ใช่เล่น ๆ มันก็ไม่น่าแปลกใจเลยที่ว่าทำไมเด็กถึงได้งอแงไม่อยากทำงานบ้าน


ไม่ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน = ลูกคนนี้ขี้เกียจ จริงเหรอ? thaihealth


หน้าที่รอง คือ งานบ้านที่พ่อแม่ไม่รักษาคำพูด


เรียนหนักแค่ไหนก็ไม่ใช่ข้ออ้างในการเฉยใส่งานบ้าน เพราะลูกก็ยังเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัว และงานบ้านก็ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยให้ลูกรู้จักรับผิดชอบมากขึ้นได้ มันจึงเป็นการดีที่ผู้ปกครองจะสนับสนุนให้ลูกทำ แต่รู้หรือไม่อะไรที่อยู่เบื้องหลังการปฏิเสธการทำงานบ้านของลูก คำตอบนั้นก็คือการไม่รักษาคำพูดของพ่อแม่


โดยปกติแล้วแต่ละบ้านก็จะมีการตกลงว่าใครทำหน้าที่อะไรเป็นกิจจะลักษณะอยู่แล้ว แต่เหตุผลหลัก ๆ ที่ทำให้ลูกงอแงไม่ยอมทำนั้น ไม่ใช่เพราะความขี้เกียจ แต่มันคือการที่พ่อแม่สั่งนอกเหนือจากข้อตกลงที่ได้ให้กันไว้ เด็กเลยต่อต้านพ่อแม่ด้วยการเลือกไม่ทำตามคำสั่งไปเลย เนื่องจากพลังของการรักษาคำพูดนั้นมีคุณค่ากับจิตใจลูกไม่น้อย ทั้งช่วยสร้างความน่าเชื่อถือและความเชื่อใจเพื่อประครองความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ปกครองกับลูก ในทางตรงกันข้ามหากผิดสัญญาพ่อแม่ก็จะกลายเป็นคนที่ลูกไม่ให้ความเชื่อถือ คาดเดาไม่ได้และลูกจะรู้สึกไม่ไว้ใจ


ฉะนั้น ผู้ปกครองควรรักษาคำพูดต่อพวกเขาด้วยการแบ่งหน้าที่อย่างชัดเจนและไม่ไปก้าวก่ายข้อตกลงที่ให้ไว้กับลูก


การที่เราไม่ขอความร่วมมืออะไรกับลูกเลยก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเหมือนกัน เพราะถือเป็นต้นตอการผลิตเด็กที่ขาดระเบียบวินัย ความรับผิดชอบและความมุมานะพยายามในการทำสิ่งต่าง ๆ และเมื่อเด็กไม่ได้ถูกกระตุ้นหรือส่งเสริมให้ถูกทางก็อาจจะทำให้โตไปเป็นคนที่ไม่ประสบความสำเร็จในอนาคตได้ ซึ่งไม่ดีแน่ถ้าคน ๆ นั้นจะเป็นลูกของเราเอง


ฉะนั้น การปลูกฝังให้ลูกรู้จักรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตัวเองยังเป็นสิ่งที่ต้องทำ แต่ควรชัดเจนว่าลูกต้องรับผิดชอบส่วนไหนและไม่ควรก้าวก่ายความรู้สึกดี ๆ ของลูก หากเขาเลือกจะปฏิเสธในวันที่ขอร้องให้เขาช่วยงาน นอกเหนือหน้าที่ที่เขาได้รับ


ไม่ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน = ลูกคนนี้ขี้เกียจ จริงเหรอ? thaihealth


แต่หากมีกรณีจำเป็นต้องวานลูกนอกเหนือจากหน้าที่ที่เขาต้องรับผิดชอบจริง ๆ เราก็พอมีเทคนิคดี ๆ มาแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่เช่นกัน โดยนำเทคนิคนี้มาจากรายการรอลูกเลิกเรียน ตอน ลูกไม่ช่วยงานบ้าน ที่ได้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กอย่าง แพทย์หญิงวิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์มาเผยเคล็ดลับสุดยอดที่จะทำให้ลูกช่วยงานเราได้อย่างไม่ฝืนใจ


ถ้าลูกมีอะไรมาอวดก็ควรพูด “ชม”


บางครั้งการที่เราหวังอยากได้ความรักจากใครเราก็ควรจะให้เขาก่อน อย่างคำชมก็เป็นทางเลือกที่ดีไม่น้อย หากเราจะหยิบยื่นความรู้สึกดี ๆ ให้ลูกออมไว้เป็นกระปุกแห่งความภูมิใจไว้แล้วเมื่อเราต้องการความช่วยเหลือจากลูก มันก็จะไมเหลือความรู้สึกตะขิดตะขวงใจในการให้ความช่วยเหลือเราในครั้งนี้


อย่าลืมพูด ‘I message’ หรือประเด็นหลักที่อยากให้ลูกทำ


ย้ำกันอีกครั้งว่าการขอความช่วยเหลือเรื่องานบ้านจากลูกไม่ใช่เรื่องผิดและไม่ใช่สิ่งที่พ่อแม่ไม่ควรทำ แต่เราต้องเน้นไปที่ประเด็นหลักที่อยากให้ลูกช่วย ไม่ใช่ให้คำพูดทำร้ายความรู้สึกเป็นของแถมเมื่อลูกปฏิเสธ เช่น “เออ ไม่อยากทำก็ไม่ต้องทำ เดี๋ยวกูทำเอง” คำพูดมอบพลังลบ ใครฟังก็คงไม่อยากทำกันใช่ไหม? ลองเปลี่ยนเป็นการอ้อนอย่าง “ช่วยแม่หน่อยนะลูก แม่ทำไม่ทันจริง ๆ” ถ้าเป็นอย่างนี้..ก็ไม่เป็นการยากที่คนฟังจะให้ความช่วยเหลือกับผู้พูด


สะท้อนให้ลูกรู้ว่าเรานี่แหละเข้าใจเขามากที่สุด


การสะท้อนความรู้สึกเป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรทำก่อนที่จะวานให้ลูกช่วยทำงานต่าง ๆ เป็นเหมือนการสร้างและสะสมความรู้สึกดี ๆ ให้กับลูกและเมื่อวันไหนที่เราต้องการความช่วยเหลือจากเขา มันก็จะเป็นเรื่องง่ายดายในทันทีเพราะลูกจะทำด้วยความเต็มใจ


ตัวอย่างการสะท้อนความรู้สึก คือ การพูดสิ่งที่เราสังเกตเห็นจากตัวลูก เช่น หากเราสังเกตเห็นว่าลูกมีความกังวลใจเรื่องเรียน เราอาจจะบอกเขาว่า “แม่เข้าใจที่ลูกกังวลเรื่องการเรียนนะ แต่ลูกไม่ต้องเครียดมาก ทำตัวสบาย ๆ ไม่ต้องกดดันตัวเองนะลูก มีอะไรก็บอกแม่ได้” เพียงเท่านี้ลูกก็จะรับรู้ถึงความรู้สึกดี ๆ ที่คุณมีให้และอาจส่งผลให้เขาช่วยเหลือคุณในอนาคต


ถึงตรงนี้แล้วยังมองว่าการที่ลูกไม่ช่วยทำงานบ้านมาจากสาเหตุที่ลูกขี้เกียจอย่างเดียวอยู่ไหม?  ผู้ปกครองท่านไหนที่เพิ่งทราบหรือมองเห็นว่าความเหนื่อยต่างหากที่ทำให้ลูกไม่ช่วยเราก็ไม่ต้องเสียใจไป เพราะเราจะได้รู้ว่าอาจเป็นที่คุณและลูกสื่อสารกันน้อยเกินไปจึงทำให้ไม่รู้ความในใจของกันและกันมากนั้น


หากใครไม่มั่นใจว่าสื่อสารกับลูกได้ดีพอหรือไม่โดยเฉพาะเรื่องการขอให้ลูกช่วยทำงานบ้าน สามารถเข้าไปทำแบบทดสอบการสื่อสารได้ที่ลิ้งค์นี้ https://bit.ly/2XqJvPw


ส่วนผู้ปกครองท่านใดอยากศึกษาเรื่องการสื่อสารกับลูกรวมถึงเทคนิคการพูดคุยกับลูกแบบนี้ได้ที่ https://bit.ly/2uZnpYh

Shares:
QR Code :
QR Code