ไข้มาลาเรียตัวร้าย อันตรายของสายเดินป่า

ที่มา : โครงการกำจัดโรคไข้มาลาเรียประเทศไทย

                     โรคไข้มาลาเรียเป็นโรคติดต่อที่มียุงก้นปล่องบางชนิดเป็นพาหะ เกิดจากเชื้อโปรโตซัวพลาสโมเดียม ซึ่งเป็นเชื้อโรคที่อาศัยในเลือด มีวงจรของเชื้อระยะต่างๆ สลับกัน คือระยะมีเพศและไม่มีเพศ และมีวงจรชีวิตอยู่ทั้งในสัตว์มีกระดูกสันหลังและสัตว์จำพวกยุง

                     ยุงก้นปล่อง เป็นแมลงชนิดหนึ่ง มีปากคล้ายงวงยื่นยาวออกไปข้างหน้า มักยกส่วนท้องขึ้นสูงเป็นปล่องอย่างเห็นได้ชัดในขณะดูดเลือด
                     ยุงก้นปล่องอาศัยได้หลายที่ เช่น บ้านเรือน ป่า ภูเขา จึงพบมากในชนบทที่อยู่แถวชายป่า ชอบวางไข่ในแหล่งน้ำใสไหลริน แอ่งน้ำสะอาด ธารน้ำไหล หรือน้ำตก โดยยุงชนิดนี้ชอบกัดคนในเวลาพลบค่ำ ตอนดึก และเช้าตรู่ ซึ่งเชื้อมาลาเรียในคนสำหรับประเทศไทยมีทั้งหมด 5 ชนิด ได้แก่

  1. Plasmodium falciparum (Pf)
  2. Plasmodium vivax (Pv)
  3. Plasmodium malariae (Pm)
  4. Plasmodium ovale (Po)
  5. Plasmodium knowlesi (Pk)

                     สาเหตุหลักของการเป็นไข้มาลาเรีย คือถูกยุงก้นปล่องที่มีเชื้อกัด ส่วนสาเหตุอื่นๆ ที่อาจพบได้ เช่น จากแม่ที่ป่วยเป็นไข้มาลาเรียสู่ลูกในครรภ์ การถ่ายโลหิต เป็นต้น  เมื่อยุงก้นปล่องตัวเมียกัดผู้ป่วยที่มีเชื้อไข้มาลาเรีย เชื้อจะอยู่ในตัวยุงประมาณ 10 – 12 วัน เมื่อยุงนั้นไปกัดคนอื่นต่อก็จะปล่อยเชื้อมาลาเรียจากต่อมน้ำลายเข้าสู่คน จึงทำให้คนที่ถูกยุงกัดเป็นไข้มาลาเรียต่อไป

                     โดยทั่วไปอาการเริ่มแรกของไข้มาลาเรียจะเกิดขึ้นหลังจากถูกยุงก้นปล่องที่มีเชื้อกัดประมาณ 10 -14 วัน โดยจะจับไข้ไม่เป็นเวลา ไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวและกล้ามเนื้อ อาจมีอาการคลื่นไส้และเบื่ออาหารได้ หลังจากนั้นจะจับไข้เป็นเวลา มีอาการหนาวๆ ร้อนๆ เหงื่อออก ผู้ป่วยจะอ่อนเพลียและเหนื่อย

                     เมื่อสงสัยเป็นไข้มาลาเรียให้เข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล หรือมาลาเรียคลินิกใกล้บ้าน ซึ่งมีขั้นตอนคือการเจาะเลือดหาเชื้อ หากพบเชื้อจะได้รับยา โดยการกินยาต้องกินให้ครบตามแพทย์สั่ง และต้องมาตรวจเลือดซ้ำตามแพทย์นัด

                     แต่เนื่องจากไม่มีวัคซีนและไม่มียากินเพื่อป้องกันการเกิดโรค ดังนั้นหากต้องเข้าป่าหรือไปในพื้นที่เสี่ยงควรป้องกันตนเองดังนี้

  1. สวมใส่เสื้อผ้าปกคลุมแขนขาให้มิดชิด
  2. ใช้ยาทากันยุงหรือจุดยากันยุง
  3. นอนในมุ้งชุบน้ำยาทุกคืน
  4. ใช้มุ้งชุบน้ำยาคลุมเปลเวลาต้องไปค้างคืนในไร่นาป่าเขา

                     ในด้านความชุกชุมของโรค ส่วนมากจะพบบริเวณที่เป็นป่าเขาและมีแหล่งน้ำ ปัจจุบันเป็นโรคประจำถื่นที่เป็นปัญหาด้านสาธารณสุข ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชน

                     การกำจัดโรคไข้มาลาเรีย (Malaria Elimination) หมายถึง การดำเนินงานกำจัดการแพร่เชื้อมาลาเรียไม่ให้เกิดขึ้นในท้องที่ใดๆ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ไม่ให้มีผู้ป่วยมาลาเรีย หรือต้องกำจัดยุงพาหะนำเชื้อมาลาเรียให้หมดไปจากท้องที่นั้น แต่เป็นการดำเนินงานให้ท้องที่ปลอดโรคไข้มาลาเรียโดยไม่มีผู้มีเชื้อมาลาเรียในกระแสเลือดที่ได้รับเชื้อมาลาเรียจากในพื้นที่นั้นๆ (Indigenous case) แต่ถ้ามีผู้ป่วยมาลาเรียเข้ามา (Imported case) จะต้องมีมาตรการค้นหา สกัดกั้นและป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่เชื้ออย่างต่อเนื่อง โดยเหตุผลที่ประเทศไทยต้องกำจัดโรคไข้มาลาเรีย ก็คือ

  • ปัญหาเชื้อมาลาเรียดื้อยารักษาในประเทศลุ่มแม่น้ำโขง (Epicenter of multi-drug resistant malaria)
  • ประเทศไทยมีอัตราอุบัติการณ์โรคน้อยกว่า 1 ต่อประชากรพันคน ตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งอยู่ในเกณที่องค์การอนามัยโลกได้สนับสนุนและส่งเสริมให้ประเทศนั้นดำเนินนโยบายการกำจัดโรคไข้มาลาเรีย
  • มีความร่วมมือของประเทศในภูมิภาคอาเซียนและประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดนที่ร่วมแสดงจุดยืนที่ชัดเจน
  • ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะดำเนินการกำจัดโรคไข้มาลาเรียได้ ในปัจจุบันความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีในด้านการควบคุมป้องกันโรคที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ

สามารถติดตามบทความและข้อมูลอ้างอิงต่อได้ที่… https://malaria.ddc.moph.go.th/malariaR10/page_malaria_home_new.php

Shares:
QR Code :
QR Code