โรคอ้วน ประตูสู่โรคร้าย

เรื่องโดย เทียนทิพย์  เดียวกี่ Team Content www.thaihealth.or.th


ภาพโดย ปารมี ขันธ์แก้ว  Team Content  www.thaihealth.or.th และ สสส


โรคอ้วน ประตูสู่โรคร้าย thaihealth


“ บอกซิเออ เธอจะเอาเท่าไหร่ เอาเท่าไร ไม่อ้วนเอาเท่าไร” เนื้อเพลงติดหู ที่ไม่ว่ากี่ยุคกี่สมัย เมื่อได้ยินเพลงนี้หลายคนก็มักจะร้องตามได้ นอกจากทำนองเพลงจะสนุกสนานแล้ว เนื้อเพลงยังบ่งบอกถึงความเป็นห่วงเป็นใยต่อผู้ที่มีภาวะโรคอ้วน ที่จะมีปัญหาสุขภาพตามมาอีกด้วย


ปัจจุบันทั่วโลกมีคนอ้วนกว่า 800 ล้านคน ซึ่งผลกระทบของโรคอ้วนเป็นสัญญาณว่าในอนาคตมีโรคร้ายอย่าง NCDs ย่างกรายเข้ามาแน่นอน ซึ่งทำให้เจ็บป่วยง่าย และมีอายุสั้นลงกว่าคนไม่อ้วนอีกด้วย


โรคอ้วน ประตูสู่โรคร้าย thaihealth


เนื่องในวันอ้วนโลก 4 มีนาคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายคนไทยไร้พุง จัดเสวนาถอดบทเรียนสถานการณ์โรคอ้วนในประเทศไทย เพื่อตระหนักถึงภัยเงียบที่แฝงมากับพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสมจนน้ำหนักเกินและเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs


รู้ได้อย่างไรว่าอยู่ในภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน?


1.ดัชนีมวลกาย (Body mass index) เป็นค่าดัชนีความสัมพันธ์ระหว่างส่วนสูง และน้ำหนักตัว โดยคำนวณจากน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หารด้วยความสูง (เมตรยกกำลังสอง) โดยทั่วไปเกณฑ์วินิจฉัยโรคอ้วนในคนไทยและคนเอเชียใช้ค่าดัชนีมวลกาย ≥ 25


2.เส้นรอบเอว (waist circumference) เป็นค่าที่ได้จากการวัดรอบเอว ด้วยสายวัดมาตรฐาน โดยวัดรอบเอว ซึ่งภาวะอ้วนลงพุง หมายถึง ความยาวเส้นรอบเอว ≥90ซม. ในชาย และ ≥80ซม. ในหญิง


โรคอ้วน ประตูสู่โรคร้าย thaihealth


ในปี 2557 ถึงปัจจุบัน พบคนไทย 19.3 ล้านคน มีภาวะอ้วน และมีคนไทยที่รอบเอวเกินอ้วนลงพุง กว่า 20.8 ล้านคน โดย ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ ประธานเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย  กล่าวว่า  โรคอ้วนที่เกิดจากพันธุกรรมเป็นส่วนน้อย แต่ที่เราเห็นว่าคนในครอบครัวอ้วน เพราะว่าพฤติกรรมการกินจะเหมือนกัน ซึ่งการกิน การอยู่ เป็นจุดสำคัญที่ทำให้คนเราน้ำหนักขึ้น เพราะว่าส่วนใหญ่เรากินมากกว่าที่ใช้ไป  ถ้าเราเอาเข้าไปแล้วไม่เผาผลาญออกก็เป็นส่วนเกิน ร่างกายเก็บพลังงานส่วนเกินโดยอยู่ในรูปไขมัน เพราะฉะนั้นคนบางคนก็อ้วนได้  และเมื่อมีไขมันเยอะๆ ก็จะเกิดปัญหา


โรคอ้วน เป็นประตูสู่อนาคตของโรคร้ายอีกหลายๆ โรคตามมา และเมื่อมีคนใดคนหนึ่งในบ้านป่วยลง ก็นำมาซึ่งปัญหาหลายๆ ด้าน  เช่น การดูแลรักษาต้องใช้เงิน ต้องใช้เวลาในการพบแพทย์ ต้องกินยาหลายอย่าง ต้องทุ่มเททรัพยากรบุคคลในการดูแล เป็นต้น


โรคอ้วน ประตูสู่โรคร้าย thaihealth


ดังนั้น โรคอ้วนมักสัมพันธ์กับอาหารและพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน พ.ท.หญิง พญ.สิรกานต์ เตชะวณิช กรรมการเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย แนะนำว่า เราสามารถป้องกันไม่ให้อ้วนได้  โดยกินอาหารที่ให้พลังงานเพียงพอกับงานหรือกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน โดยทุกคนสามารถใช้สูตร 2:1:1 และสูตรรสกลมกล่อม 6:6:1 มาใช้ในการปรุงอาหาร


1.อาหาร 2:1:1 เป็นแนวทางการกินอาหารอย่างง่าย  เพื่อให้ได้ปริมาณอาหารที่เหมาะสมและได้สารอาหารครบทั้ง 5 หมู่  โดยในแต่ละมื้อแบ่งจานออกเป็น 4 ส่วนเท่าๆ กัน  โดย 2 ส่วน เป็นผัก อีก 1 ส่วนเป็นข้าว แป้ง และอีก 1 ส่วนเป็นโปรตีน


2.สูตร 6:6:1 คือ กินน้ำตาลไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา น้ำมันไม่เกิน 6 ช้อนชา เกลือไม่เกิน 1 ช้อนชา ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น


โรคอ้วน ประตูสู่โรคร้าย thaihealth


นอกจากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์แล้วนั้น สิ่งหนึ่งที่ต้องทำควบคู่ไปด้วยคือ การมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมในแต่ละวัน  นางสาวอรณา จันทรศิริ นักวิจัยจากสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกได้ให้นิยามด้านกิจกรรมทางกายว่า “ทุกขยับนับหมด”  นั่นหมายความว่า ทุกกิจกรรมที่มีการใช้พลังงานในทุกระยะเวลามีประโยชน์ต่อร่างกาย ดังนั้น ทุกคนสามารถทำกิจกรรมอะไรก็ได้ตลอดทั้งวันทุกเวลา เพื่อลดพฤติกรรมเนยนิ่ง เช่น การทำงานบ้าน รดน้ำต้นไม้ ขึ้นบันได ใช้วิธีเดินแทนการนั่งมอเตอร์ไซค์ เป็นต้น


โรคอ้วน ประตูสู่โรคร้าย thaihealth


ในช่วงนี้ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19  รศ.พญ.พิมพ์ใจ อันทานนท์ กรรมการสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ได้อธิบายความสัมพันธ์ของโรคอ้วนกับโควิด-19 ไว้ว่า  โรคอ้วนไม่ได้ทำให้ติดหรือเสี่ยงติดโควิดเพิ่มมากขึ้น เพียงแต่ว่าถ้าเป็นโรคอ้วนแล้วติดโควิด สิ่งที่ตามมาจะมีภาวะแทรกซ้อนกับมีอาการที่รุนแรงมากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากโรคอ้วนเป็นโรคที่มีอาการอักเสบเรื้อรังอยู่แล้วในร่างกาย ทำให้เซลล์ภูมิคุ้มกันทำงานบกพร่อง และโรคอ้วนมักจะมีโรคร่วม เช่น  ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน รวมถึงการศึกษาในต่างประเทศพบว่า คนที่อ้วนโดยที่ดัชนีมวลกายมากกว่า 35  อาจจะมีโอกาสใส่ท่อช่วยหายใจสูงมากกว่าคนทั่วไป 7 เท่า และคนที่อ้วนหากติดโควิด การรักษาในห้องไอซียู หรือผู้ป่วยวิกฤตก็จะสูงขึ้นด้วย  ดังนั้น หากป้องกันโรคอ้วนตั้งแต่วัยเด็กได้จะยิ่งดี เพราะการป้องกันโรคอ้วนเป็นสิ่งสำคัญ พ่อแม่ต้องชวนออกกำลังกาย กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เด็กก็จะปฏิบัติตามอย่าง ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคอ้วนในเด็กได้


นับว่าโรคอ้วน เป็นเพชฌฆาตเงียบที่คร่าชีวิตผู้คนมากมาย ดังนั้น ต้องร่วมกันขจัดโรคอ้วน เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs ลง สสส.และภาคีเครือข่าย สนับสนุนให้ทุกคนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยทานอาหารที่มีประโยชน์ มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ลด ละ เลิก ปัจจัยเสี่ยงอย่างเหล้า และบุหรี่ มาร่วมกันลดจำนวนผู้ป่วย NCDs และสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีให้แก่ตนเองไปด้วยกัน

Shares:
QR Code :
QR Code