โรคหลอดเลือดสมองเสียชีวิต 1 คน/ 6 วินาที

ที่มา : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ 


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


โรคหลอดเลือดสมองตาย 1 คน/ 6 วินาที thaihealth


ทุก 6 วินาที จะมีคนตายด้วยโรคหลอดเลือดสมองอย่างน้อย 1 คน คาดปี พ.ศ. 2563 จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า แพทย์แนะหากพบความผิดปกติ หน้าชา ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด แขน ขา ข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง เคลื่อนไหวลำบาก  อาจเป็นสัญญาณอันตราย ควรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด


นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคทางระบบประสาทที่มีความรุนแรงมักพบบ่อยในผู้สูงอายุ และเป็นสาเหตุการตายอันดับ 3 รองจากโรคหัวใจและโรคมะเร็ง จากรายงานองค์การอนามัยโลกพบว่าในแต่ละปีมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองราว 15 ล้านคนทั่วโลก โดยเฉลี่ยทุกๆ 6 วินาที จะมีคนตายด้วยโรคหลอดเลือดสมองอย่างน้อย 1 คน ทั้งนี้ ในปี พ.ศ.2563 คาดว่าจะมีผู้ป่วยโรคดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า


โรคหลอดเลือดสมองหรือโรคอัมพาต อัมพฤกษ์ เป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดความพิการทุพพลภาพ ที่ส่งผลกระทบต่อทั้งผู้ป่วย ครอบครัว รวมทั้งระบบสุขภาพไทยในปัจจุบัน โรคหลอดเลือดสมองเกิดจากภาวะสมองขาดเลือดไปเลี้ยงทำให้เกิดอาการชาที่ใบหน้า ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด แขน ขา ข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรงเคลื่อนไหวไม่ได้หรือเคลื่อนไหวลำบากอย่างทันทีทันใดเป็นนาทีหรือเป็นชั่วโมง โรคหลอดเลือดสมอง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือโรคหลอดเลือดสมองแตกและโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน ซึ่งอาการเตือนที่เป็นสัญญาณอันตรายของโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ พูดไม่ออก หรือพูดไม่ชัด  แขน ขา หรือหน้าอ่อนแรง ชา หรือขยับไม่ได้ทันทีทันใด ตาข้างใดข้างหนึ่งมัวหรือมองไม่เห็น เห็นภาพซ้อนภาพมัวหรือมืดลง ปวดศีรษะรุนแรงฉับพลันชนิดที่ไม่เคยเป็นมาก่อน งุนงง เวียนศีรษะหรือเสียการทรงตัว หากเกิดอาการดังกล่าวให้รีบพบแพทย์โดยด่วนหรือแม้อาการดีขึ้นก็ควรมาพบแพทย์โดยเร็วเพราะจะช่วยรักษาชีวิตและฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาเป็นปกติหรือใกล้เคียงคนปกติมากที่สุด


ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ ภาวะความดันโลหิตสูง การสูบบุหรี่ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง และปัจจัยอื่นๆ เช่น อายุที่เพิ่มขึ้น ความเครียด โรคอ้วน ดื่มเหล้าเบียร์มากๆ ขาดการออกกำลังกาย เป็นต้น โรคหลอดเลือดสมองป้องกันได้โดยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ คุมน้ำหนัก อย่าให้อ้วน ลดการรับประทานอาหารเค็มหวาน มัน เพิ่มผักผลไม้ งดสูบบุหรี่ ตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หากมีปัจจัยเสี่ยงต้องรักษาและพบแพทย์สม่ำเสมอห้ามหยุดยาเองโดยเด็ดขาด ซึ่งผู้ที่เคยเป็นโรคหลอดเลือดสมองแล้วจะมีโอกาสเป็นซ้ำอีกมากกว่าคนปกติ


การรักษาโรคหลอดเลือดสมองขึ้นอยู่กับชนิด ความรุนแรงและระยะเวลาที่ผู้ป่วยมีอาการ หากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเร็วเท่าใดความพิการและอัตราการตายจะลดลงมากเท่านั้น นอกจากนี้ ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงหรือป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองอยู่แล้วควรรับการรักษาและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

Shares:
QR Code :
QR Code