เสนอปรับแก้เพิ่มอายุขั้นต่ำการสมรสเป็น 18 ปี
ที่มา : เว็บไซต์ไทยรัฐ
แฟ้มภาพ
กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดสัมมนาเรื่อง “การแต่งงานของผู้เฒ่ากับเด็กน้อย” ซึ่งนำกรณีชายชาวมาเลเซียอายุ 41 ปี แต่งงานกับเด็กหญิงไทยวัย 11 ปี มาเป็นกรณีศึกษา
นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสวัสดิการเด็กในคณะอนุกรรมการเด็กแห่งชาติ เปิดเผยว่า ปัจจุบันกระแสโลกเกือบทุกประเทศกำหนดอายุขั้นต่ำในการสมรสอยู่ที่ 18 ปี มีเพียงไม่กี่ประเทศรวมถึงไทยที่กำหนดอายุ 17 ปีบริบูรณ์ ดังนั้น คณะอนุกรรมการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับเด็กกำลังเสนอปรับแก้เพิ่มอายุขั้นต่ำการสมรสเป็น 18 ปี รวมถึงเสนอแก้บทบัญญัติประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 ให้ตัดวรรคที่ระบุให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ที่ให้ทั้งสองฝ่ายสมรสกันได้ในคดีพรากผู้เยาว์และทั้งสองฝ่ายยินยอม ทั้งนี้ การสมรสไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่จะเป็นการเพิ่มปัญหามากขึ้นด้วยซ้ำ หากเราไม่ปรับแก้ ประเทศไทยจะถูกเพ่งเล็งเป็นแกะดำในคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติและอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ (CEDAW) ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในภาคี
ขณะที่ น.ส.อุษา เลิศศรีสันทัด ผอ.มูลนิธิผู้หญิง กล่าวว่า ข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ระหว่างปี 2549-2559 รายงานตัวเลขนักเรียนออกกลางคันโดยระบุสาเหตุสมรสถึง 32,058 คน คิดเฉลี่ยปีละ 3,000 กว่าคน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นประถมศึกษาซึ่งเป็นช่วงอายุต่ำกว่า 12 ปี ถึง 1,640 คน ม.ต้น 19,043 คน และ ม.ปลาย 11,375 คน สาเหตุมาจากความ ไม่เสมอภาคระหว่างเพศ รวมถึงความยากจน ตลอดจนเมื่อเด็กถูกละเมิดทางเพศก็แก้ปัญหาโดยให้ผู้กระทำผิดรับผิดชอบแต่งงานเพื่อรักษาหน้าตาครอบครัว ซึ่งไม่ได้แก้ปัญหาที่ยึดประโยชน์เด็กอย่างแท้จริง แต่เป็นการละเมิดสิทธิเด็ก