เศรษฐกิจดีที่ชุมชน ทางรอดของครัวเรือนในวันที่รายได้ไม่พอใช้

เรื่องโดย: พลอยไพลิน นราพงษ์ Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลจากงาน “เวทีสานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน ปี 2568”

ภาพโดย: พลอยไพลิน นราพงษ์ Team Content www.thaihealth.or.th

ปกข่าวบทความทันกระแสเรื่อง: เศรษฐกิจดีที่ชุมชน ทางรอดของครัวเรือนในวันที่รายได้ไม่พอใช้

                    “…ใครจะเชื่อว่า “หนี้อันดับหนึ่งของครัวเรือนไทย” ไม่ได้เกิดจากของฟุ่มเฟือย หรือรถยนต์ราคาแพง แต่เกิดจาก “ต้นทุนชีวิตที่จำเป็น” อย่างการเกษตร และการศึกษา สองสิ่งที่ควรจะเป็นรากฐานแห่งความมั่นคง กลับกลายเป็นภาระที่กัดเซาะความฝันและในขณะที่ระบบใหญ่ยังไม่สามารถคลายปม…

                    พลังจากคนตัวเล็กในชุมชน ได้ถูกหยิบยกมาแลกเปลี่ยนและเริ่มค้นพบคำตอบ การจัดการหนี้สิ้นในครัวเรือนด้วยพลังบนเวที “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน ปี 2568” ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดขึ้นที่อาคารชาเลนเจอร์ ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี ในวาระพลังชุมชนท้องถิ่นอภิวัฒน์ระบบสุขภาวะประเทศ เมื่อวันที่ 3 – 5 กรกฎาคม 2568 กำลังสะท้อนออกมาดังขึ้นเรื่อย ๆ

เศรษฐกิจดีที่ชุมชน ทางรอดของครัวเรือนในวันที่รายได้ไม่พอใช้

                    อย่างน้อย ”การจัดการตลาดรูปแบบสมัยใหม่“ ในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรสวนนอก อ.บางคนที ถนนสายวัฒนธรรมเขมราฐธานีกลับมาคึกคัก กลุ่มวิสาหกิจแปรรูปไม้ผลต้นแม่น้ำตาปี จาก “เปลือกมังคุด” สู่ผงสมุนไพร

                    ไม่ใช่แค่หาเงิน แต่คือการฟื้นชีวิตให้ชุมชนมีลมหายใจ ทำให้เศรษฐกิจท้องถิ่นจึงไม่ใช่เรื่องเล็กอีกต่อไป

คุณบุปผา ไวยเจริญ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรสวนนอก ต.บางยี่รงค์ อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม
                    การจัดการตลาดรูปแบบสมัยใหม่ : กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรสวนนอก

                    คุณบุปผา ไวยเจริญ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรสวนนอก ต.บางยี่รงค์ อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม เล่าว่า เธอเคยทำงานในกรุงเทพฯ ก่อนจะกลับมาสานต่องานในครอบครัวที่ปลูกพืชผสมผสาน แต่หลังจากนั้นก็ต้องเจอกับปัญหาราคาผลไม้ตกต่ำ จนทำให้รู้สึกว่ารายได้ไม่พอเลี้ยงครอบครัว

                    ทางออกของเธอก็คือ การนำพืชผสมที่ปลูกไว้มาต่อยอดสร้างมูลค่าพืชผลทางเกษตรแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและผ้ามัดย้อมโดยแนวคิด ZERO WASTE

                    และจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ภายในกลุ่มวิสาหกิจชุมชน

                    ผลลัพธ์คือ เกิดรายได้หมุนเวียนในชุมชน และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนนี้กลายเป็นพื้นที่ต้นแบบของการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า นำมาต่อยอดสร้างอาชีพและสร้างรายได้เข้าสู่ชุมชน

นายธนบูรณ์ชัย อร่ามเรือง รองนายกเทศมนตรีตำบลเขมราฐ จ.อุบลราชธานี

                    การจัดการท่องเที่ยวชุมชน : ถนนสายวัฒนธรรมเขมราฐธานี

                    นายธนบูรณ์ชัย อร่ามเรือง รองนายกเทศมนตรีตำบลเขมราฐ จ.อุบลราชธานี เล่าว่า เมืองเขมราฐเคยเป็นเมืองที่เงียบมาก่อน ก่อนจะเริ่มฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วย “ถนนคนเดินเขมราฐ” ตั้งแต่ปี 2556 โดยนำ “วัฒนธรรมท้องถิ่น” มาสร้างจุดขาย

                    แต่หลังจากนั้นก็เจอกับสถานการณ์โควิด – 19 จนทำให้ถนนคนเดินซบเซาอยู่ 2 ปี

                    และชาวบ้านไม่มีรายได้ เขาและชุมชนจึงขอเปิดถนนคนเดินอีกครั้ง พร้อมกับพัฒนาสินค้าชุมชนให้พึ่งพา “วัฒนธรรม” เป็นแรงบัลดาลใจ ไม่ว่าจะเป็น ผ้าทอลายพื้นถิ่น การฟ้อนรำภูไท และการรำตังหวาย ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเขมราฐ

                    และในวันนี้วัฒนธรรมไม่ใช่แค่ของเก่า

                    แต่เป็นหัวใจหลักของเศรษฐกิจใหม่ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาที่เขมราฐ

                    และสามารถสร้างรายได้กลับคืนสู่ชุมชน

นายปรีชานนท์ สรรพจิต ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน อบต.ยางค้อม อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราช

                    การยกระดับมูลค่าสินค้าชุมชน: กลุ่มวิสาหกิจแปรรูปไม้ผลต้นแม่น้ำตาปี

                    นายปรีชานนท์ สรรพจิต ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน อบต.ยางค้อม อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราช ชี้ว่า ถ้าในยุคสมัยนี้แล้วเรายังคงทำการเกษตรแบบเดิม ก็จะยังถูกกดราคา ผลผลิตเน่าเสียและไม่มีสิทธิ์กำหนดมูลค่าสินค้าของตนเอง

                    เขาจึงผลักดันให้ชุมชนลุกขึ้นมาพัฒนาสินค้าเกษตรมูลค่าสูง เช่นการแปรรูป “เปลือกมังคุด” ให้กลายเป็นผงสมุนไพร และต่อยอดสู่กิจกรรมในชุมชนอย่าง “สปาเท้าจิบชา” โดยผู้สูงอายุได้มาเข้าร่วมเป็นทั้งผู้ผลิตและให้บริการ และในปัจจุบันก็มีการต่อยอดเป็นสินค้าแปรรูปอื่นๆ อีกมากถึง 22 ชนิด

                    แนวคิดนี้ไม่เพียงช่วยให้สินค้าการเกษตรมีมูลค่าเพิ่ม แต่ยังสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างแบรนด์และสิ่งสำคัญคือ ชาวบ้านสามารถกำหนดราคาสินค้าเองได้อย่างภาคภูมิใจ

                    เพียงปรับมุมมองจาก “ผู้ผลิต” มาเป็น “เจ้าของมูลค่า” ก็สามารถเปลี่ยนภาระให้กลายเป็น “โอกาส” เปลี่ยนจากวิกฤตหนี้ให้เป็นจุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจในชุมชนที่แข็งแรงได้

เศรษฐกิจดีที่ชุมชน ทางรอดของครัวเรือนในวันที่รายได้ไม่พอใช้

                    แม้ว่า “หนี้สิน” ไม่ใช่จุดจบแค่ข้ามคืน แต่ถ้าชุมชนลุกขึ้นมาเปิดใจ ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ตัวเล็กรวมพลัง…ก็สร้างเศรษฐกิจใหญ่ได้จากฐานราก สสส. และภาคีฯ พร้อมหนุนทุกก้าว เพื่อชุมชนเข้มแข็ง มีสุขภาวะ และลุกขึ้นอย่างภาคภูมิ

Shares:
QR Code :
QR Code