‘เวียนศีรษะ’ภัยสุขภาพใกล้ตัว
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
หลายคนอาจเคยเผชิญกับอาการเวียนศีรษะ ซึ่งพบได้บ่อย เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย และก่อนต้องเผชิญกับการเจ็บป่วยด้วยอาการดังกล่าว การป้องกันโดยดูแลสุขภาพ รู้เท่าทันโรคเพื่อเข้าถึงการรักษามีความสำคัญ
อาการเวียนศีรษะ จากข้อมูลงานการพยาบาลป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพงานสร้างเสริมสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความรู้ว่า เวียนศีรษะ เป็นอาการที่ใช้อธิบายความรู้สึกไม่สบายที่เกิดขึ้นจากการรบกวนสภาวะการรับรู้สภาพการทรงตัวของร่างกาย เกิดจากความผิดปกติของระบบการทรงตัวระบบใดระบบหนึ่ง หรือหลายระบบ ได้แก่ สายตา ระบบรับความรู้สึกของข้อต่อทั่วร่างกาย ระบบประสาทการทรงตัวในหูชั้นใน และระบบประสาทกลาง ซึ่งทำหน้าที่รวบรวมสัญญาณประสาท
สำหรับ อาการเวียนศีรษะหมุน เป็นความรู้สึกเหมือนมีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติของ สิ่งแวดล้อมรอบตัว หรือของตนเอง หรือเสียการทรงตัว ทำให้ผู้นั้นไม่สามารถควบคุมการทรงตัวในลักษณะ ปกติได้ มักมีอาการเวียนหมุน สิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัว ไม่ว่าจะเป็น บ้าน โต๊ะ เก้าอี้ ฯลฯ รอบตัวหมุน ซึ่งในความจริงนั้นสิ่งแวดล้อมรอบตัว ไม่ได้หมุน อาการเวียนศีรษะชนิดนี้จึงค่อนข้างรุนแรง และอาจมีอาการแทรกซ้อน อื่น ๆ ตามมาได้ เช่น ใจเต้นแรง ฯลฯ โดยสาเหตุอาการเวียนศีรษะชนิดนี้คือ ความผิดปกติของอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นใน
โรคที่เป็นสาเหตุของอาการเวียนศีรษะจึงได้แก่ โรคหูชั้นในผิดปกติ อาจเกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุ ขณะที่บางรายอาจมีประวัติโรคทางหู หรืออุบัติเหตุมาก่อน โรคกลุ่มนี้จะก่อให้เกิดอาการเวียนศีรษะที่พบบ่อยที่สุด โดยเป็นแบบบ้านหมุนหรือโคลงเคลง และมักมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วย ขณะเกิดอาการมักต้องอยู่นิ่ง ๆ หากเคลื่อนไหวศีรษะอาจทำให้มีอาการมากขึ้น และมักเป็นขณะเปลี่ยนท่าทาง เช่น ลุกจากเตียงนอนหรือล้มตัวลงนอน ตะแคงซ้ายขวา ในบางรายอาจมีอาการหูอื้อและเสียงรบกวนในหู
การอักเสบติดเชื้อ เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง เชื้อไวรัสเป็นสาเหตุที่พบบ่อย มักจะเป็นหวัดหรือระบบทางเดินหายใจอักเสบนำมาก่อน หากเชื้อลามเข้าหูชั้นในและเส้นประสาทจะเกิดการอักเสบ ส่งผลให้มีอาการเวียนศีรษะรุนแรง และเป็นอยู่หลายวัน แต่การได้ยินจะปกติดี ส่วนการอักเสบของหูชั้นในที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย อาการจะรุนแรงมากและอาจสูญเสียการได้ยิน พบในผู้ที่มีประวัติโรคการอักเสบของหูส่วนกลาง หูน้ำหนวก แล้วโรคลุกลามเข้าไปในหูชั้นใน
นอกจากนี้เกิดจาก อุบัติเหตุ ที่ทำอันตรายต่อหูชั้นใน โดยเฉพาะอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นใน จะทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะอย่างมาก ร่วมกับคลื่นไส้อาเจียน บางรายอาจสูญเสียการได้ยินร่วมด้วย โดยอาการจะเป็นนานหลายวันถึงสัปดาห์ จากนั้นจะค่อย ๆ ดีขึ้น
โรคเนื้องอกเส้นประสาทการทรงตัวหรือเส้นประสาทการได้ยิน มักพบอาการเสื่อมการได้ยิน ร่วมกับอาการมึน เวียนศีรษะ อาจมีเสียงรบกวนในหู ในรายที่ก้อนเนื้องอกขนาดใหญ่ ไม่ได้รับการรักษา อาจมีอาการชาที่ใบหน้าซีกนั้น เดินเซ หรืออาการทางสมอง เนื่องจากก้อนเนื้องอกไปกดเส้นประสาท
อีกทั้งระบบการไหลเวียนเลือดก็เป็นอีกสาเหตุ หากเลือดไหลเวียนไปสมองไม่เพียงพอ ก็อาจทำให้เกิดอาการมึนเวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลมได้ อย่างเช่น การลุกขึ้นยืนเร็ว ๆ จากท่านอนหรือท่านั่ง ซึ่งทั่วไปจะหายได้เอง
แต่สำหรับผู้ป่วยจะเกิดอาการค่อนข้างบ่อย สาเหตุเกิดจากความดันโลหิตต่ำ เส้นเลือดตีบ เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หรือโลหิตจาง เป็นต้น ส่วน โรคทางระบบประสาท มักมีอาการเวียนศีรษะร่วมกับอาการทางระบบประสาทอื่นๆ เช่น แขนขาอ่อนแรง ชารอบปากและแขนขา เห็นภาพซ้อน และโรคภูมิแพ้ก็เป็นอีกสาเหตุซึ่งบางคนอาจเวียนศีรษะเมื่อได้รับสิ่งที่แพ้
อย่างไรก็ตามอาการเวียนศีรษะเป็นอาการที่เกิดจากหลายสาเหตุ เมื่อมีอาการพบความผิดปกติไม่ควรวางใจ ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง ทั้งนี้การดูแลสุขภาพ ออกกำลังกาย การเล่นกีฬาเบา ๆ หรือบริหารร่างกาย เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพการทรงตัว ทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ลดภาวะที่จะก่อให้เกิดความเครียด รักษาอารมณ์และสภาพจิตใจให้เบิกบานแจ่มใส พักผ่อนให้เพียงพอ ฯลฯ ส่วนหนึ่งนี้มีความสำคัญ ช่วยลดโอกาสการเกิดอาการเวียนหัว หลีกไกลจากความเจ็บป่วย.