เปิด “ศูนย์ชุมชนสุขภาวะ” ดูแลกลุ่มเปราะบาง สร้างอาชีพ ให้ความรู้ ดูแลผู้ป่วย ช่วยเข้าถึงสิทธิสวัสดิการสังคมและสุขภาพ

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

ภาพประกอบจาก สสส.

                    พิษ! โควิด-19 ทำ “คนจนใหม่” เพิ่มขึ้น สสส. สานพลัง มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย – สปสช. – ภาคีเครือข่าย ลุย ชุมชนเมืองใหม่มาลัยทอง เปิด “ศูนย์ชุมชนสุขภาวะ” ดูแลกลุ่มเปราะบาง สร้างอาชีพ ให้ความรู้ ดูแลผู้ป่วย ช่วยเข้าถึงสิทธิสวัสดิการสังคมและสุขภาพ

                    เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2565 ที่ ชุมชนเมืองใหม่มาลัยทอง ซ.นิมิตใหม่ 22  เขตคลองสามวา  กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายศูนย์พัฒนาชุมชน รวม และภาคีเครือข่าย จัดพิธีเปิด “ศูนย์สุขภาวะชุมชน” ความร่วมมือของหน่วยงาน ในการสนับสนุนกลไกการพัฒนาสุขภาวะชุมชน เพื่อดูแลกลุ่มเปราะบางและคนในชุมชน

                    นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า “คนจนเมือง” ในชุมชนแออัด เป็นประชากรกลุ่มเปราะบาง ที่ต้องได้รับการดูแล ทั้งกาย จิต ปัญญา และสังคม ให้เทียบเท่ากับคนทุกกลุ่ม แต่ยอมรับว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซ้ำเติมคุณภาพชีวิตให้เลวร้ายลง เพราะคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ เป็นแรงงานนอกระบบหรือแรงงานรับจ้างรายวัน เมื่อเศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทำให้ 80% ต้องตกงาน ไม่มีรายได้ ขาดหลักประกันทางสังคมและสุขภาพ สอดคล้องกับรายงาน Profiles Of The New Poor Due To The COVID-19 Pandemic ของธนาคารโลก (2020) ที่ระบุว่า โควิด-19 ทำให้คนทั่วโลก 71 – 100 ล้านคน มีสถานะ ‘ยากจนแร้นแค้นอย่างรุนแรง’ (extreme poverty) และทำให้เกิด “คนจนใหม่” (The New Poor) หรือคนที่เคยมีฐานะดี มีรายได้ กลายเป็นคนยากจน เพิ่มขึ้น 8.8 – 9.2% สสส. จึงสานพลังภาคีเครือข่าย จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพ และสร้างพื้นที่ต้นแบบเพื่อสนับสนุนสุขภาวะคนไร้บ้าน และกลุ่มเปราะบางในชุมชนเมือง จัดตั้ง “ศูนย์สุขภาวะชุมชน” ขึ้นมา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

                    “สสส. ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ให้เข้าถึงสิทธิ สวัสดิการจากรัฐหลายรูปแบบ เช่น พัฒนานวัตกรรมให้คนไร้บ้านมีที่อยู่อาศัย “โครงการที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง”, ส่งเสริมเศรษฐกิจและอาชีพ, จัดตั้งกองทุนหมุนเวียนเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านอาชีพ, เปิดตลาดชุมชนที่สถานีรถไฟ จ.ขอนแก่น ชุมชนหลักหก จ.ปทุมธานี โดย “ชุมชนเมืองใหม่มาลัยทอง” เป็นอีกพื้นที่นำร่องที่ สสส. ต้องการทำให้มีศักยภาพจัดการปัญหา ป้องกัน และดูแลสุขภาพให้สามารถรับมือกับวิกฤตโควิด – 19 ได้ในช่วงวิกฤต จนนำมาสู่การพัฒนาสร้างกลไกจัดการสุขภาวะชุมชนจนเกิดเป็น “ศูนย์สุขภาวะชุมชน” ที่เชื่อว่าทำให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นได้” นางภรณี กล่าว

                    ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า “ศูนย์ชุมชนสุขภาวะ” ชุมชนเมืองใหม่มาลัยทอง เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ ที่แสดงความเข้มแข็งของชุมชนในการฝ่าวิกฤตเป็นโอกาสในการดูแลคนกลุ่มเปราะบาง สะท้อนให้เห็นระบบสุขภาพเข้มแข็ง โดย สปสช. มองว่า การพัฒนาอาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสส.น้อย และแกนนำชุมชน จะเป็นกำลังสำคัญ ที่ทำให้ศูนย์ฯ มีความยั่งยืนได้

                    นางสาวนพพรรณ พรหมศรี เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวว่า “ศูนย์สุขภาวะชุมชน” ที่ ชุมชนเมืองใหม่มาลัยทอง มีหน้าที่พัฒนากลไกด้านสุขภาวะในชุมชน เป็นศูนย์กลางดูแลสุขภาพในชุมชนระยะยาว ด้วยการทำให้คนรุ่นใหม่ที่เป็นเด็กและเยาวชน ตระหนักถึงปัญหาทางสุขภาวะของคนในชุมชน เพื่อทำให้ชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพปฐมภูมิ จึงร่วมมือกับคลินิกอบอุ่นร่วมใจรัก ศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ และภาคีเครือข่ายอื่น ๆ ร่วมกันพัฒนาศักยภาพแกนนำ ให้สามารถทำหน้าที่ให้คำปรึกษา ดูแลสุขภาพ แก้ปัญหาเด็กและเยาวชน ดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง คนพิการ ครอบครัวที่มีความยากลำบาก รวมถึงช่วยเรื่องการเข้าถึงสิทฺธิสวัสดิการทางสังคมและสุขภาพได้ โดยจัดอบรมทักษะรับมือกับโควิด-19 ให้คำปรึกษาเรื่องอาการ Long Covid และอบรมการสร้างความเข้าใจปัญหาสุขภาพ ที่เชื่อมโยงกับสถานการณ์ทางสังคม เช่น ให้ความรู้เรื่องยา การปฐมพยาบาลเบื้องต้น และการดูแลผู้ป่วย ให้เชื่อมประสานกับกรรมการชุมชน จนส่งต่อผู้ป่วยถึงโรงพยาบาลได้ทันท่วงที

Shares:
QR Code :
QR Code