เปิดตัว`ตลาดผักปลอดภัย`เพื่อสุขภาพ

สสส.เปิดตัว'ตลาดผักปลอดภัย'เพื่อสุขภาพ thaihealth


แฟ้มภาพ


สสส. เปิดตัวตลาดผักปลอดภัย "ตลาดวัดชัยฉิมพลี" ตลาดกลางรองรับผักสุขภาพส่งตรงผู้บริโภค ราคายุติธรรม 15 บาท ราคาเดียว เผยได้รับการรับรองควบคุมคุณภาพผักปลอดภัย หวังครอบคลอบคลุมทุกตลาดในกทม. พร้อมชวนคนเมืองปลูกผักกินเอง ชี้พื้นที่ไม่ใช่ข้อจำกัดแค่ 1 ตร.ม. ได้ผักถึง 1 กก.


วันที่ 22 ส.ค. ที่ตลาดวัดชัยฉิมพลี แขวงบางแวก เขตภาษีเจริญ กทม. ศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาชุมชน (ศวพช.) มหาวิทยาลัยสยาม ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานเขตภาษีเจริญ และภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดมหกรรม "พื้นที่ไม่ใช่ข้อจำกัด…ของผัก (สุขภาพ) คนเมือง" ตอน "ผักสุขภาพดี ที่ภาษีเจริญ" ที่ตลาดวัดชัยชิมพลี เพื่อเป็นตลาดกลางรองรับผักสุขภาพแห่งแรกของเขตภาษีเจริญ โดยมีนายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดงาน


ผศ.ดร.กุลธิดา จันทร์เจริญ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาชุมชน (ศวพช.) มหาวิทยาลัยสยาม และ เลขาธิการมูลนิธิวิจัยเพื่อพัฒนามนุษย์และชุมชน กล่าวว่า ได้ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อสุขภาวะ (Healthy Space) นำร่องในพื้นที่เขตภาษีเจริญ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนและทุกฝ่ายจัดการข้อจำกัดของพื้นที่ให้เอื้อประโยชน์ต่อสุขภาวะ ซึ่งคณะทำงานพัฒนาพื้นที่สุขภาวะ ได้ขับเคลื่อนการทำงานจนเกิดตลาดกลางรองรับผักปลอดภัยที่ตลาดวัดชัยฉิมพลี เป็นพื้นที่แรกในเขตภาษีเจริญ ดำเนินงานภายใต้กระบวนการสร้างความร่วมมือของเกษตรกร แม่ค้า ผู้บริโภค เครือข่ายที่มีความเชี่ยวชาญ อาทิ มูลนิธิชีววิถี สวนเงินมีมา (ตลาดสีเขียว) ชุมชนภาษีเจริญ สำนักงานเขตภาษีเจริญ โดยตลาดวัดชัยฉิมพลี รองรับการจำหน่ายผักปลอดภัยอย่างเป็นระบบ ชื่อ "ผักสุขภาพ ภาษีเจริญ" ภายใต้มาตรฐานและการควบคุมคุณภาพผักของคณะกรรมการตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพผัก ด้วยกระบวนการที่ยึดหลักคุณธรรม และการมีส่วนร่วม (PGS, Participatory Guarantee Systems) เกษตรกรอยู่ได้ แม่ค้าไม่ขาดทุน ผู้บริโภคเข้าถึง สามารถตรวจสอบได้ทางวิชาการ มีการกำหนดราคาผักร่วมกันคือ ผักสุขภาพ ภาษีเจริญ 15 บาท ทุกรายการ อาทิ ผักคะน้า ผักบุ้ง ผักกวางตุ้ง ฯลฯ ซึ่งเป็นผักที่มาจากเกษตรกรในเขตภาษีเจริญที่มั่นใจได้ว่าปลอดภัย


"ปัจจุบันการปลูกผักมีการใช้สารเคมีเพื่อกำจัดศัตรูพืช ใช้สารเร่งให้พืชเจริญเติบโต ทำให้เกิดสารพิษตกค้างเป็นจำนวนมาก การบริโภคผักของคนไทยจึงมีความเสี่ยง โดยในปี 2551-2554 กรมวิชาการเกษตร ได้ทำการสุ่มตรวจผัก กว่า 50 ชนิด มี 8 ชนิด ที่พบสารเคมีตกค้างมากที่สุด คือ พริกขี้หนู คะน้า กวางตุ้ง ถั่วฝักยาว มะเขือเทศมะเขือเปราะ ผักชี กะหล่ำปลี และแตงกวา ซึ่งการบริโภคผักและผลไม้ที่มีสารพิษตกค้างจะสะสมในร่างกาย และหากได้รับติดต่อกันนานจะทำให้เจ็บป่วยได้ ปัญหาการบริโภคผักที่มีสารพิษตกค้าง ผนวกกับข้อจำกัดเชิงพื้นที่ของการปลูกผักของคนเมืองกรุง ทำให้การเข้าถึงผักที่ปลอดภัยต่อสุขภาพน้อยลงตามข้อจำกัดของคนเมือง จึงอยากชวนคนเมืองมาปลูกผักกินเอง ซึ่งการมีพื้นที่จำกัดไม่ใช่อุปสรรคของการปลูกผัก หากเราปรับพื้นที่ให้เหมาะสม เช่น การปลูกผักคอนโด ผักลอยฟ้า ผักอุโมงค์หรือผักลอยน้ำ แค่พื้นที่ 1 ตารางเมตร ทุกครอบครัวสามารถผลิตผักได้ประมาณ 1 กิโลกรัม และยังได้สานสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ด้วยกิจกรรมดีๆ อีกด้วย" ผศ.ดร.กุลธิดา กล่าว


ด้าน ดร.พรชัย มงคลวนิช อธิการบดี มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า ม.สยาม ได้ร่วมสนับสนุนการจัดการข้อจำกัดเชิงพื้นที่ของเมืองกรุง ด้วยการ บูรณาการการเรียนการสอนให้นักศึกษาร่วมกระบวนการด้วยการเรียนรู้วิถีชุมชน นอกจากนี้ ยังเริ่มพัฒนารูปแบบการปลูกผักของคนเมืองกรุงให้เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยสยามเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ต่อไปด้วย หากผู้กำหนดนโยบายของกรุงเทพมหานครได้ส่งเสริม สนับสนุน ให้เกิดการขยายวงกว้างในทุกเขต คาดว่าเส้นทางผักที่ปลอดภัยต่อสุขภาพคงต่อเนื่องและเข้มแข็ง มหาวิทยาลัยพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ สำหรับในงานมหกรรมที่เปิดตัวเป็นครั้งแรกนี้ จะพบกับกิจกรรมที่สำคัญ อาทิ นิทรรศการทางวิชาการ ลานเสวนา การตรวจสารเคมีตกค้างและการจำหน่าย "ผักสุขภาพ ภาษีเจริญ" รวมทั้งการแสดงผลงานต่างๆ ของภาคีเครือข่าย.


 


 


ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

Shares:
QR Code :
QR Code