เตือนอย่าปล่อยเด็กและคนชราอยู่ใกล้เเหล่งน้ำตามลำพัง
ที่มา: กรมควบคุมโรค
แฟ้มภาพ
กรมควบคุมโรคลงพื้นที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วม พบมีรายงานผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเด็กและผู้สูงอายุมักพลัดตกหรือนั่งเล่นบริเวณแหล่งน้ำบ่อยครั้ง ไร้ซึ่งคนคอยดูแล โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี แนะผู้ปกครองไม่ควรปล่อยเด็กลงเล่นน้ำโดยลำพัง พร้อมสอนวิธีการเอาชีวิตรอดเมื่อตกน้ำ และควรบอกบุตรหลานถึงพื้นที่เสี่ยงห้ามลงเล่นโดยเด็ดขาด
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ร่วมกับภาคีเครือข่าย พบว่าพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยมีรายงานการเสียชีวิตจากการจมน้ำในเด็กและผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้น โดยจากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค ในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมาในเบื้องต้นพบว่า มีเด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำแล้ว 19 ราย และในผู้สูงอายุ เฉพาะในเขตสุขภาพที่ 7 (ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม เเละกาฬสินธุ์) ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2560 มีรายงานผู้เสียชีวิตแล้ว 2 ราย ซึ่งเหตุมาจากการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเเล้วหมดเเรง เเละการเล่นน้ำในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งปัจจุบันการจมน้ำยังคงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กไทย (อายุต่ำกว่า 15 ปี) ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ปี 2559 ที่ผ่านมา พบเด็กไทยจมน้ำเสียชีวิตกว่า 713 ราย คาดในช่วงนี้มีโอกาสพบผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำเพิ่มขึ้น เนื่องจากในหลายพื้นที่ของประเทศยังมีน้ำท่วมขัง ทำให้กลุ่มผู้ใหญ่มักออกไปหาปลา เก็บผัก ส่วนกลุ่มเด็กมักชวนกันออกไปเล่นน้ำ และเสี่ยงพลัดตกหรือจมน้ำค่อนข้างสูง เพราะระดับน้ำและความแรงของแหล่งน้ำเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอยู่มาก
ดังนั้น เพื่อป้องกันการเสียชีวิตในเด็ก ผู้ปกครองควรสอนให้เด็กรู้จักแหล่งน้ำที่เสี่ยงและอันตรายที่ไม่ควรลงเล่นน้ำ แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องเดินลุยน้ำให้เด็กใส่เสื้อชูชีพ หรือเสื้อช่วยพยุงตัวทุกครั้ง ระหว่างที่เด็กอยู่ในน้ำ ผู้ปกครองต้องดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ในกรณีที่ผู้ใหญ่ออกไปหาปลาหรือประกอบอาชีพให้พกถังแกลลอนพลาสติกเปล่าและสะพายแล่งติดตัวไปด้วยเสมอ เพื่อใช้พยุงตัวกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน อีกทั้งให้หลีกเลี่ยงการลงไปในบริเวณแหล่งน้ำเชี่ยวหรืออันตราย เพราะเสี่ยงต่อการหมดเเรงได้ง่าย เเละยังคาดเดากระแสน้ำได้ยาก เเละไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ประการสำคัญคือชุมชนควรติดป้ายแจ้งเตือน อีกมาตรการสำคัญที่ต้องยึดไว้ใช้ยามฉุกเฉิน คือ “ตะโกน โยน ยื่น” ได้แก่ 1.ตะโกน คือ การเรียกให้ผู้ใหญ่มาช่วยและโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 2.โยนอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวเพื่อให้คนตกน้ำจับ เช่น เชือก ถังแกลลอนพลาสติกเปล่าหรือวัสดุที่ลอยน้ำได้ โดยโยน ครั้งละหลายๆ ชิ้น และ 3.ยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ เสื้อ ผ้าขาวม้า เพื่อให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมา จากน้ำ หากมีข้อสงสัยประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422