เตือนระวัง SMS ข่าวปลอม “แผ่นดินไหว” Cofact เช็กข่าวชัวร์ก่อนแชร์ ป้องตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

ภาพประกอบจาก สสส.

ภาพหน้าปกข่าว เตือนระวัง SMS ข่าวปลอม “แผ่นดินไหว” Cofact เช็กข่าวชัวร์ก่อนแชร์ ป้องตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

                    สสส.-โคแฟค เตือนประชาชน ระวังมิจฉาชีพส่ง SMS ดูดข้อมูลส่วนตัว-อย่าหลงเชื่อข่าวปลอมบนออนไลน์อ้างเหตุการณ์แผ่นดินไหว หลังพบ ภายใน 24 ชั่วโมง ประชาชนแห่ตรวจข่าวลวงเหตุการณ์ภัยพิบัติพุ่ง 7,832 ราย ชวนทุกคนใช้แพลตฟอร์ม “cofact” ตรวจสอบข่าวให้ชัวร์ ก่อนแชร์ พร้อมแนะนำคาถา “อย่าเพิ่งเชื่อ อย่าเพิ่งแชร์ อย่าเพิ่งโอน” ป้องกันไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

ภาพประกอบ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
                    เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2568 นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เผยว่า จากกรณีการเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในเมียนมา ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ประชาชนที่ไม่ได้ตั้งรับกับเหตุการณ์ภัยพิบัติอาจมีภาวะเครียด วิตกกังวล และต้องเผชิญภัยหลอกลวงจากมิจฉาชีพ เนื่องจากหลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ในโลกออนไลน์ได้มีการแชร์ข่าวปลอมจำนวนมาก สอดคล้องกับรายงานสถิติผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม cofact.org พัฒนาโดย สสส. และโคแฟค ประเทศไทย เพื่อตรวจสอบข่าวลวง ภายใน 24 ชม. พบมีประชาชนเข้าระบบตรวจสอบข่าวเกี่ยวกับการรายงานเหตุการณ์ภัยพิบัติ อาคารสูงที่มีรอยร้าวจากแผ่นดินไหว สอบถามข้อเท็จจริงผู้รับเหมาอาคารที่ตึกถล่ม 7,832 ราย นอกจากนี้ ยังพบอีกว่ามิจฉาชีพอาศัยสถานการณ์ดังกล่าว ส่งลิงก์ผ่าน SMS และโพสต์ลิงก์ข่าวปลอม โดยอ้างว่าเป็นการแจ้งเตือนเหตุการณ์แผ่นดินไหว หากประชาชนรู้ไม่เท่าทันและเผลอกดลิงก์ดังกล่าว จะส่งผลให้มิจฉาชีพสามารถเข้าควบคุมเครื่องโทรศัพท์จากทางไกลได้ นำมาสู่ความไม่ปลอดภัยในทรัพย์สินและข้อมูลส่วนตัว

ภาพประกอบทำจาก AI ภาพครอบครัวชาวเอเชียภายในอาคารหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว กำลังรับข่าวสารเกี่ยวกับภัยพิบัติ
                    “สสส. ขอส่งความห่วงใยให้ประชาชน หากได้รับข้อความ SMS ที่แนบลิงก์ ต้องสงสัย ให้ระมัดระวังไม่กดลิงก์โดยทันที SMS ทางการจากภาครัฐใช้ชื่อว่า DDPM แต่จะไม่มีลิงก์ให้กด และอย่าหลงเชื่อข่าวปลอม หรือข่าวลือที่ไม่มีแหล่งที่มาอย่างชัดเจน เพราะอาจส่งผลกระทบทำให้เกิดความแตกตื่นในสังคม ขอเชิญชวนทุกคนใช้คาถา “อย่าเพิ่งเชื่อ อย่าเพิ่งแชร์ อย่าเพิ่งโอน” ป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ตามแนวทาง 3 ข้อ ดังนี้ 1.อย่าเพิ่งเชื่อ อย่าพึ่งรีบตัดสินใจเชื่อในทันที 2.อย่าเพิ่งแชร์ หาข้อมูล เช็กให้ชัวร์ หาข้อมูลประกอบการตัดสินใจก่อน 3.อย่าเพิ่งโอน เมื่อหาข้อมูลที่ถูกต้องได้แล้ว ค่อยตัดสินใจลงมือทำต่อไป ทั้งนี้ ทุกคนสามารถตั้งหลักตรวจสอบข่าวเช็คให้ชัวร์ก่อนเผยแพร่ เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวง สามารถเข้าใช้งานฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายได้ที่เว็บไซต์ https://blog.cofact.org หรือ Line OA : @Cofact หากพบว่ามีการส่งลิงก์ต้องสงสัยหรือได้รับข้อความที่อ้างถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวพร้อมแนบลิงก์ที่ไม่ได้ส่งจากหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานที่น่าเชื่อ สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วนตำรวจไซเบอร์ โทร. 1441 โทร 1212 ETDA ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์” ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code