อุบัติเหตุ 409 ครั้ง สาเหตุเมาแล้วขับ
ที่มา : มติชนออนไลน์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
สถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 11 เมษายน ซึ่งเป็นวันแรกของการรณรงค์ ภายใต้แนวคิด “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” พบว่าเกิดอุบัติเหตุ 409 ครั้ง สาเหตุหลักได้แก่ เมาแล้วขับ
เมื่อวันที่ 12 เมษายน ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) พล.ท.ธเนศ กาลพฤกษ์ หัวหน้าฝ่ายกิจการพลเรือน ส่วนงานการรักษาความสงบเรียบร้อย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2560 โดย พล.ท.ธเนศกล่าวว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) ประจำปี 2560 รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 11 เมษายน ซึ่งเป็นวันแรกของการรณรงค์ ภายใต้แนวคิด “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” พบว่าเกิดอุบัติเหตุ 409 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 33 ราย ผู้บาดเจ็บ 420 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาแล้วขับร้อยละ 45.48 ขับรถเร็ว ส่วนยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดได้แก่ รถจักรยานยนต์ร้อยละ 77.80 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรงร้อยละ 65.28 บนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 36.67 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดร้อยละ 32.03 คือช่วง 16.01-20.00 น.
พล.ท.ธเนศ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,025 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 63,299 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 603,474 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดีรวม 93,564 ราย มีความผิดฐานไม่มีใบขับขี่ 27,081 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 26,465 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 18 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ อุบลราชธานี และนครราชสีมา 4 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงราย 17 คน สำหรับสถิติในปีนี้ยังอยู่ในกรอบที่สามารถควบคุมได้ แต่ขอความร่วมมือจากประชาชนปฏิบัติตามหลัก 4 ห้าม 2 ต้อง คือ 1.ห้ามเมาแล้วขับ 2.ห้ามโทรแล้วขับ 3.ห้ามใช้ความเร็วเกินกฎหมายกำหนด 4.ห้ามง่วงแล้วขับ ส่วน 2 ต้อง 1.ต้องสวมหมวกกันน็อก 2.ต้องคาดเข็มขัดนิรภัย ทั้งนี้ ภายหลังการออกมาตรา 44 เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ประชาชนพยายามให้ความร่วมมือ แต่บางส่วนอาจพลั้งเผลอ แต่จะมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหารที่จะอำนวยความสะดวก ให้คำแนะนำที่ถูกต้องในการใช้ชีวิตช่วงสงกรานต์อย่างปลอดภัยและมีความสุข โดยการชี้แจง ตักเตือน ตรวจสอบความพร้อมของผู้เดินทางและยานพาหนะและความพร้อมของผู้ขับขี่
พล.ท. ธเนศ กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการเมาแล้วยึดรถนั้น ยังมีอยู่แต่ไม่อยากให้เรียกว่ายึดเพราะจะดูแรงเกินไป แต่ขอให้ใช้คำว่าใส่ใจ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการตรวจสอบความปลอดภัยทั้งสภาพผู้ขับ สภาพผู้ร่วมเดินทาง สภาพของรถ ส่วนมาตรการห้ามนั่งท้ายรถกระบะนั้น ทางรัฐได้ผ่อนผันไปก่อนระดับหนึ่ง แต่ก็ขอความร่วมมือจากประชาชนเลี่ยงการนั่งกระบะท้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณขอบกระบะที่จะก่อให้เกิดอันตรายได้ เรื่องการเสียชีวิตและบาดเจ็บ ตนไม่อยากให้เป็นสถิติที่ต้องทำลายเพราะไม่ใช่เรื่องที่ดี จึงได้เน้นย้ำต่างจังหวัด ช่วยกันดูแลอย่างเข้มข้น สำหรับมาตรการคุมเข้มรถโดยสารสาธารณะนั้น เป็นหน้าที่หลักของกระทรวงคมนาคมที่จะต้องดูแลคนขับให้มีความพร้อม ถ้าพบสิ่งบอกเหตุที่ไม่พร้อมในการขับต้องระงับการขับทันที หากฝ่าฝืนจะผิดกฎหมาย อีกทั้งมาตรการการคาดเข็มขัดจะต้องปฏิบัติอย่างเข้มงวด อาจจะไม่สะดวกสบายแต่ก็ต้องค่อยเป็นค่อยไป