หยุดสงกรานต์อันตราย หยุดทำลายประเพณีไทย
เครือข่ายต้านน้ำเมารวมพลังหวังลดอุบัติเหตุ
เครือข่ายต้านน้ำเมารวมพลังออกรณรงค์ “หยุดสงกรานต์อันตราย หยุดทำลายประเพณีไทย” หวังลดสาเหตุเสียชีวิตช่วงสงกรานต์ 40% ชี้ลุกขึ้นยืนท้ายกระบะ เสี่ยงพลิกคว่ำ 4 เท่า อึ้ง ซดเหล้าด้วยเสี่ยงตายเท่าตัว วอนรัฐบาลงัดมาตรการบังคับใช้ด่วน
ที่ลานวิคตอรี่พอยท์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อเวลา 10.30 น. เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครือข่ายละครรณรงค์งดเหล้า (ดีดี๊ดี) เครือข่ายองค์กรงดเหล้า มูลนิธิเพื่อนหญิง และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมรณรงค์ “หยุดสงกรานต์อันตราย หยุดทำลายประเพณีไทย” โดยมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ ละครจำลองสถานการณ์คนเมาท้ายกระบะ ที่บาดเจ็บและเสียชีวิตช่วงสงกรานต์ การฉายเทปบันทึกภาพ สงกรานต์อันตรายในปีผ่านมา จากรายการเรื่องจริงผ่านจอ ซึ่งการรณรงค์ครั้งนี้ได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมาก
นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางท่องเที่ยวและกลับภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เพื่อให้การเล่นน้ำ สนุกสนานรื่นเริงและปลอดภัย ภาคีเครือข่ายต่างๆ จึงร่วมรณรงค์สร้างความตระหนักต่อปัญหาสงกรานต์ที่ไม่ปลอดภัย รวมถึงการฟื้นฟูประเพณีอันดีงามของไทย ที่สำคัญรณรงค์ให้รับรู้ถึงมาตรการ ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรถและท้ายกระบะ หรือที่สาธารณะ
“สงกรานต์ปีที่ผ่านมา มีคนเสียชีวิตมากถึง 373 ราย ซึ่ง 40.66% มีสาเหตุมาจากการดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้การดื่มแอลกอฮอล์ในรถหรือท้ายกระบะ อาจเป็นการสังเวยชีวิตในเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้ เพราะหากดูจากผลวิจัยของศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทยชี้ชัดว่า ในรถที่มีคนนั่งท้ายกระบะ 10 คน มีความเสี่ยงต่อการพลิกคว่ำ 2 เท่า ถ้าลุกขึ้นยืน 10 คน จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่า และหากดื่มแอลกอฮอล์ จะมีความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัว อย่างไรก็ตามภาคประชาชนยังหวังว่ารัฐบาลจะหยิบเรื่องนี้มาทบทวนกันอย่างจริงจังเพื่อเป็นอีกหนึ่งมาตรการในการลดอุบัติเหตุจราจรที่มีสาเหตุจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” นายธีระ กล่าว
นายอำนาจ โภชนภักดี ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงตอนนี้คือเด็กและเยาวชนเป็นนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ อาจก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เพราะจากบทเรียนสงกรานต์ที่ผ่านมา พบว่าการทำร้ายร่างกาย ทะเลาะวิวาท ลวนลาม เกิดขึ้นแทบทุกพื้นที่ โดยมีสาเหตุมาจากการดื่มแอลกอฮอล์ขณะเล่นน้ำสงกรานต์ หรือดื่มบนท้ายกระบะ นอกจากนี้ยังพบว่าการแต่งกายไม่เหมาะสมซึ่งกลายเป็นเรื่องปกติในหมู่วัยรุ่น รวมถึงการเปิดเพลงเสียงดัง แล้วเต้นแบบสุดเหวี่ยง ซึ่งการกระทำดังกล่าวล้วนทำลายวัฒนธรรมอันดีงามแทบทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรกำหนดมาตรการแก้ไขอย่างจริงจัง
นายอัครพงษ์ บุญมี หรือ “น้องกอล์ฟ” อดีตเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า วัยรุ่นทุกคนมีโอกาสเสี่ยงกับชีวิตที่ผิดพลาด ดังนั้นผู้ใหญ่ควรสร้างกลไกเพื่อป้องกันปัญหา มากกว่าปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม เพราะเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมักจะโทษเด็ก ในฐานะที่ตนเคยก้าวพลาด อยากฝากไปยังเยาวชนว่าการดื่ม เมา สนุก เป็นเพียงสีสันปลอมๆของชีวิตเท่านั้น จึงไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะการดื่มอย่างคึกคะนองในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพราะเยาวชนส่วนใหญ่มักจะชอบนั่งท้ายกระบะรถยนต์ และดื่มแอลกอฮอล์ เพียงเพราะคิดว่าเท่ห์ สนุกสนาม แต่ที่จริงแล้วเป็นเรื่องที่เสี่ยงและอันตรายมาก ซึ่งปัญหาที่ตามมาอาจหนีไม่พ้นความสูญเสีย
ที่มา: สำนักข่าว สสส.
Update:07-04-53
อัพเดทเนื้อหาโดย: ณัฏฐ์ ตุ้มภู่