สสส. สานพลัง กทม. เดินหน้ายกระดับคุณภาพชีวิตคนเมืองทุกช่วงวัย-กลุ่มเปราะบาง ชูนวัตกรรมสร้างสุขภาวะคนเมือง พัฒนาศักยภาพภาคีหนุนการทำงานผ่านกลไกชุมชน ตั้งเป้าภายใน 5 ปี ครอบคลุม 50 เขต มุ่งสู่กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2566 โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. สานพลัง กรุงเทพมหานคร (กทม.) พัฒนาแผนบูรณาการสร้างเสริมสุขภาวะคนเมืองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) มุ่งบูรณาการงานสร้างเสริมสุขภาพอย่างเป็นระบบ โดยใช้ทิศทางและเป้าหมาย 10 ปี และต้นทุนองค์ความรู้ คน ทรัพยากร กับนโยบาย 9 ดี กรุงเทพฯ ‘เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน’ เป็นกรอบดำเนินงานให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของประชาชนและชุมชน ตั้งเป้าสนับสนุนให้เกิดกลไกระดับเขตนำร่องครอบคลุมประชากรทุกกลุ่ม ทั้งนี้ ในปี 2570 มีแผนการดำเนินงานครอบคลุม 50 เขตในพื้นที่กรุงเทพฯ
ดร.ประกาศิต กล่าวต่อว่า “ความก้าวหน้าในช่วง 1 ปี ได้ขับเคลื่อนผ่านกลไกการทำงาน 7 กลุ่มงาน 1.การพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กแบบไร้รอยต่อ (แพลตฟอร์ม “เติมเต็ม”) ทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน พัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก เยาวชน และครอบครัว กลุ่มเปราะบาง นำร่องในเขตลาดกระบัง และอยู่ระหว่างการหารือเพื่อการขยายผล 2.การพัฒนากลไกหน่วยจัดการเพื่อหนุนเสริมการทำงานชุมชนอย่างมีส่วนร่วมทุกระดับ 10 เขต สนับสนุนโครงการกว่า 200 ชุมชน 3.การเข้าถึงทรัพยากรเพื่อยกระดับบริการปฐมภูมิ สนับสนุนกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม นำร่อง 22 เขต ให้ประชาชนเข้าถึงกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นเพื่อจัดการสุขภาพตนเอง 4.การพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรกลุ่มเปราะบาง พัฒนาศักยภาพคนพิการเพื่อเพิ่มโอกาสได้รับการจ้างงานหน่วยงานในกรุงเทพฯ และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านให้เข้าถึงโอกาสในการมีที่อยู่อาศัยและได้รับความช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ”
“กลไก 5.การพัฒนาพื้นที่สุขภาวะสร้างสรรค์เพื่อทุกวัย พัฒนาพื้นที่สุขภาวะสร้างสรรค์นำร่องทั้งด้านการปรับพื้นที่ทางกายภาพและเชื่อมโยงกิจกรรมสุขภาวะเพื่อคนทุกวัย 6.องค์กรสุขภาวะและการบริหารจัดการที่ดี จัดตั้งคณะกรรมการการพัฒนาสุขภาวะของบุลากรในสังกัด กทม. และนำร่องสำรวจสถานการณ์สุขภาวะใน 2 พื้นที่ 7.การสร้างเครือข่ายร่วมพัฒนาสุขภาวะชุมชนในพื้นที่ กทม. ใช้ชุมชนเป็นฐานในการพัฒนาชุมชน หนุนเสริมการใช้ข้อมูลชุมชนเพื่อการพัฒนา ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพแกนนำและออกแบบระบบการทำงานอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน นำร่อง 11 พื้นที่ ใน 4 เขต นอกจากนี้ยังร่วมกับ กทม. และภาคีเครือข่าย ทำงานเชิงระบบโดยใช้ทุนเดิมออกแบบการทำงาน เพื่อสนับสนุนการบูรณาการ ให้เกิดกลไกการทำงานร่วมกัน สร้างนวัตกรรม/การบริการแบบใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ได้จริง เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ กลไกการทำงาน และคนทำงานสร้างเสริมสุขภาพในทุกระดับ” ดร.ประกาศิต กล่าว
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “ยุทธศาสตร์การทำงาน 2567 มุ่งขยายผลงานนำร่องให้ครอบคลุมพื้นที่ 50 เขต สร้างกลไกเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานระดับพื้นที่ ขับเคลื่อนงานเชิงประเด็น (ผู้สูงอายุ เกษตรในเมือง การสร้างฐานข้อมูลร่วมของทุกหน่วยงานเป็นฐานข้อมูลเดียว “one map”) ปรับกายภาพและโครงสร้างพื้นฐานของเมือง ที่สำคัญคือ การระเบียบ/ข้อบัญญัติ/แนวทางปฏิบัติเพื่อความยั่งยืน ซึ่งแม้ผู้บริหารจะเปลี่ยนไป แต่พลังภาคีเครือข่ายยังคงทำงานได้เข้มแข็งและต่อเนื่อง เกิดผลลัพธ์การทำงานจากความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายภายใต้นโยบาย 9 ด้าน 9 ดีตลอด 1 ปีที่ผ่านมา อาทิ จ้างงานคนพิการ 489 ตำแหน่ง รับคนพิการเข้าบรรจุราชการ 9 อัตรา มีพื้นที่สาธารณะ 21 แห่ง สวน 15 นาที 28 แห่ง พัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ หมอถึงชุมชน 104 แห่ง ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่นำความเชี่ยวชาญมาทำงานร่วมกัน และขอสนับสนุนการทำงานร่วมกันภายใต้แผนบูรณาการ 5 ปีนี้ เพื่อสุขภาวะของคนกรุงเทพฯ ทุกคน สร้างเมืองให้น่าอยู่ต่อไป”