สสส. สานพลังภาคีเครือข่าย จัดมหกรรม “Learn เล่น เห็น Local” หนุนคนรุ่นใหม่ เปิดพื้นที่สื่อสารเชิงบวก สร้างพัฒนาการเด็ก-เยาวชนที่ยั่งยืน
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
อึ้ง! เด็กไทยเผชิญสารพัดปัญหา “บูลลี่-สิ่งเสพติด-สุขภาพจิต” มท.–สสส.–SIY สานพลัง 47 อปท.ต้นแบบ จัดมหกรรม “Learn เล่น เห็น Local” หนุนพลังคนรุ่นใหม่และคนรุ่นใหญ่ ออกแบบสร้างความเปลี่ยนแปลงท้องถิ่น ด้าน กมธ.พัฒนาการเมืองฯ เตรียมเสนอเปิด 3 พื้นที่ เพิ่มส่วนร่วมเด็กและเยาวชน
เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2567 ที่ รร.ทีเค. พาเลซ กรุงเทพฯ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม (SIY) จัดมหกรรม “Learn เล่น เห็น Local” แสดงผลงานขับเคลื่อนระบบสนับสนุนการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชนในท้องถิ่นทั่วประเทศ นายสุรพล เจริญภูมิ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า “การให้สิทธิเด็กมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น เป็น 1 ใน 4 ของสิทธิเด็ก ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสำคัญผ่านกลไกพัฒนาเครือข่ายเด็กและเยาวชนทุกระดับ โดยเฉพาะสภาเด็กและเยาวชน เพื่อเปิดให้มีพื้นที่สร้างการสื่อสารเชิงบวก แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดสร้างสรรค์ เป็นภารกิจที่มีความสำคัญกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อีกทั้งสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ที่กำหนดให้องค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาล มีภารกิจส่งเสริมสภาเด็กและเยาวชนให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้นอกห้องเรียน ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีส่วนร่วมเสนอแนะนโยบายร่วมกับ อปท. พัฒนาชุมชน”
“ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ อปท. ได้ขับเคลื่อนงานด้านสภาเด็กและเยาวชน สนับสนุนการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ในท้องถิ่น รองรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสังคมในปัจจุบัน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริม พัฒนา อปท. ให้มีความรู้ ความเข้าใจในการส่งเสริมสภาเด็กและเยาวชน โดยร่วมขับเคลื่อนโครงการตำบลต้นแบบสร้างการเรียนรู้ ด้านการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชน ตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน เกิดพื้นที่เรียนรู้ต้นแบบจำนวน 47 แห่ง ซึ่งจะเป็นตัวอย่างให้แก่ อปท. อื่น ร่วมเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนและพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยต่อไป” นายสุรพล กล่าว
น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. กล่าวว่า “รายงานสถานการณ์เด็กและเยาวชน ปี 2566 พบ 6 สถานการณ์สำคัญที่ต้องใส่ใจมากขึ้น 1. ผลกระทบจากโควิดยังส่งผลให้ครอบครัวเปราะบางไม่สามารถพ้นวิกฤติ เด็ก เยาวชนในครอบครัวเหล่านี้เกิดปัญหาหลายอย่างซ้อนทับกัน 2. วัยรุ่น/เยาวชน สนใจสร้างรายได้มากขึ้น เพราะแรงกดดันทางเศรษฐกิจของครัวเรือน แต่การมีงานดี รายได้ดี เป็นเรื่องยากสำหรับเยาวชนส่วนใหญ่ 3. เด็ก เยาวชนในระบบการศึกษายังไม่ได้รับการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในโลกยุคใหม่ 4. วัยรุ่น/เยาวชนมีภาวะเครียด ซึมเศร้า เสี่ยงฆ่าตัวตายมากขึ้น แต่บริการด้านสุขภาพจิตมีจำกัด ไม่เพียงพอ 5. ความรุนแรงในเด็กและเยาวชนมีมากขึ้น รูปแบบซับซ้อนขึ้น 6. เด็กรุ่นใหม่ฝันถึงสังคมที่เอื้อให้เติบโตและพัฒนาศักยภาพอย่างก้าวกระโดด แต่ไม่มีช่องทางให้สื่อสารพูดคุยในระดับนโยบาย อีกทั้งการสำรวจสถานการณ์เด็กและเยาวชนในท้องถิ่นต้นแบบ ปัญหาที่พบบ่อยคือความไม่เข้าใจระหว่างวัยในครอบครัว ปัญหาการล้อเลียน/บูลลี่ สิ่งเสพติดในชุมชน การติดเกมและอบายมุขต่าง ๆ รวมถึงสุขภาพกายและใจที่เกิดจากไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสมกับวัย”
“จากการสำรวจความคิดเห็น น้อง ๆ มองว่า “การมีส่วนร่วม” คือ ได้ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ และลงมือทำในกิจกรรมที่สนใจด้วยการเปิดโอกาส สนับสนุนและช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ที่ไว้วางใจ สสส. ร่วมกับ สถ. SIY และภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนงานหลายด้าน ทั้งพัฒนาชุดความรู้พร้อมใช้ เครื่องมือทำงานพัฒนาเยาวชน กิจกรรมสร้างเสริมสุขภาวะและทักษะชีวิต พัฒนาศักยภาพบุคลากรท้องถิ่นให้สามารถทำงานกับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ จนเกิดกระบวนการ “เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน” ท้องถิ่นต้นแบบที่ดำเนินงานด้านสภาเด็กและเยาวชนได้ดี เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนมีพื้นที่ส่งเสียงความต้องการและทำงานร่วมกับผู้ใหญ่ที่เป็นกลไกท้องถิ่น เช่น สำรวจปัญหาและความต้องการของเด็กและเยาวชนในตำบลทุกปี เพื่อจัดทำแผนพัฒนาเด็กและเยาวชน ป้องกันและแก้ปัญหาต่าง ๆ ส่งเสริมการเรียนรู้ การทำกิจกรรมสร้างสรรค์ หลายแห่งสามารถจัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อเด็กและเยาวชน เป็นความยั่งยืนของการพัฒนาเด็กและเยาวชนในระดับพื้นที่” น.ส.ณัฐยา กล่าว
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า “ปัจจุบันเยาวชนมีความตื่นตัวทางการเมืองและประเด็นสาธารณะมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ยังรู้สึกว่าเสียงที่สะท้อนไปยังไม่ถูกรับฟังอย่างเพียงพอ ทั้งในรั้วโรงเรียนและสังคมโดยรวม กมธ. พัฒนาการเมืองฯ จึงร่วมกับฝ่ายวิชาการ เช่น 101 PUB ภาคประชาสังคม เช่น มูลนิธิ SIY และตัวแทนสภาเด็กและเยาวชน เตรียมจัดทำข้อเสนอในการแก้กฎหมาย-กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อเปิด “พื้นที่” ให้เยาวชนมีส่วนร่วมมากขึ้นใน 3 พื้นที่ 1. ปลดล็อกให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมใน “พื้นที่เดียวกัน” กับผู้ใหญ่โดยตรง อาทิ การปรับเกณฑ์เรื่องอายุขั้นต่ำในการมีส่วนร่วมทางการเมือง เช่น อายุขั้นต่ำในการลงสมัครรับเลือกตั้งระดับชาติ หรือท้องถิ่น ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมักมองว่าหากมีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง ก็ถือว่าอายุมากพอที่จะมีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งเช่นกัน แต่ในไทยแม้สามารถเลือกตั้งได้ตั้งแต่อายุ 18 ปี แต่ต้องรอถึงอายุ 25 ปีจึงจะลงสมัครเป็น สส. หรือ สมาชิกสภาท้องถิ่น และอายุ 35 ปี จึงจะสมัครเป็นผู้บริหารท้องถิ่นได้”
นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า “2. ออกแบบ “พื้นที่พิเศษ” สำหรับเยาวชน ให้เป็นสะพานเชื่อมที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นระหว่างเยาวชนกับกลไกทางการเมือง หรือทางนโยบาย เช่น ปฏิรูปสภาเด็กและเยาวชน ให้ยึดโยงกับเยาวชนมากขึ้น รวมถึงเพิ่มอำนาจในการผลักดันนโยบายผ่านการเสนอร่างกฎหมายไปที่สภาฯ หรือผ่านการมีโควต้าตั้งกระทู้ถามและเสนอแนะรัฐมนตรีที่ต้องมาตอบในสภาเยาวชน 3. เปิด “พื้นที่สถานศึกษา” ให้นักเรียน มีส่วนร่วมออกแบบการศึกษาและกติกาในโรงเรียนมากขึ้น ผ่านการส่งเสริมประชาธิปไตยในห้องเรียน เปิดให้นักเรียนมีส่วนร่วมประเมินคุณภาพการศึกษาที่ได้รับ ทั้งประเมินครูเพื่อให้เกิดการประเมินแบบรอบทิศ รวมถึงตรวจสอบมาตรฐานบริการในโรงเรียน เช่น หนังสือเรียน คอมพิวเตอร์ ห้องน้ำ ซึ่งขณะนี้ ได้ตั้งคณะทำงานที่เป็นตัวแทนจากหลายพรรค หลายภาคส่วน เพื่อศึกษาและจัดทำข้อเสนอโดยละเอียด และผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป จึงขอเชิญชวนเยาวชนและประชาชน ร่วมแสดงความเห็นต่อประเด็นนี้ได้ที่ เฟซบุ๊กแฟนเพจ คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ สภาผู้แทนราษฎร”