สสส. ลุยภาคใต้ ดันพื้นที่ปลอดบุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้า สกัดภัยเงียบ Toy Pod เจาะเด็ก เยาวชน
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
สสส. สานพลัง เครือข่าย อปท. ร่วมปกป้องพื้นที่ภาคใต้ไร้บุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้า พบสถิติคนไทยป่วยจากบุหรี่ไฟฟ้า 4 โรคร้าย ปี 67 สูญเงินค่ารักษาผู้ป่วย 3 แสนล้านบาท ห่วงบุหรี่ไฟฟ้ารูปแบบใหม่ Toy Pod แทรกซึมเข้าถึงเยาวชนได้ง่ายในสถานศึกษา ดึงกลไกศาสนาสกัดนักสูบหน้าใหม่
วันที่ 23 พ.ค. 2568 ที่ โรงแรมคริสตัล หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย จัดเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมศักยภาพและสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นในการเพิ่มประสิทธิภาพ การควบคุมการบริโภคบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้าอย่างยั่งยืนในพื้นที่ภาคใต้ โดยมีตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ที่ประกอบด้วย นายก ปลัด ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่สาธารณสุข นักวิชาการ ผู้นำชุมชน และภาคีเครือข่ายเข้าร่วม เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และนำเสนองานต้นแบบของการควบคุมการบริโภคยาสูบอย่างมีประสิทธิภาพในระดับพื้นที่
น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า ในปี 2567 พบคนไทยมีอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้า 900,459 คน เด็กเยาวชน อายุ 13-15 ปี มีอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 5.3 เท่าใน 7 ปี ภาคใต้เป็นอันดับ 1 ที่พบผู้สูบบุหรี่สูงที่สุด สสส. เดินหน้าขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาร่วมกับภาคีเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งไปที่กลุ่มเด็กและเยาวชนในภาคใต้ เพื่อป้องกัน และลดการใช้บุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้าให้ได้มากที่สุด โดยสนับสนุน และผลักดันให้เกิดสถานศึกษาปลอดบุหรี่ และพัฒนาสื่อรณรงค์ พร้อมสร้างเครือข่ายสถานศึกษาปลอดบุหรี่ทั่วประเทศ พัฒนาศักยภาพครูแกนนำ และเยาวชนนักสื่อสารเรื่องบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ที่สามารถส่งต่อข้อมูลความรู้ความเข้าใจถึงพิษภัยบุหรี่ในกลุ่มวัยเดียวกัน และทำให้สามารถตัดสินใจเลือกการมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ด้วยตัวเอง
“ขณะนี้บุหรี่ไฟฟ้า และบุหรี่แบบไอระเหย (heated tobacco product) หรือ HTP ซึ่งเป็นนิโคตินสังเคราะห์ ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย และทำให้เสพติด ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ระบุว่า นิโคตินเป็นสารเสพติดสูง และผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ายังเสี่ยงป่วยจาก 4 โรคคือ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจขาดเลือด โรคหอบหืด ข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2567 พบต้นทุนค่ารักษาพยาบาลของโรคที่เกิดจากบุหรี่ไฟฟ้า ระยะยาวกว่า 306,636,973 บาท” น.ส.รุ่งอรุณ กล่าว
ดร.นิสา รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวว่า การขับเคลื่อนงานควบคุมการบริโภคบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในระดับชุมชน สสส. มุ่งเน้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะในระดับตำบล ผ่านกลไกสำคัญ คือ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะประเด็น (ศชช.), ศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชน (ศจค.) และ ศูนย์ประสานงานเครือข่ายเฉพาะประเด็น (ศปง.) เพื่อพัฒนาความสามารถของพื้นที่ในการจัดการกับปัจจัยเสี่ยง และเพิ่มปัจจัยเสริมสุขภาพเป้าหมายสำคัญ คือลดอัตราการสูบบุหรี่ในพื้นที่ลงไม่น้อยกว่า 10% ของคนสูบบุหรี่ในพื้นที่ ที่เก็บจากระบบข้อมูล TCNAP สสส. มุ่งเน้นการการส่งเสริมให้ชุมชนมีทักษะในการรับรู้สถานการณ์ เข้าใจปัญหา มีข้อมูลในการวางแผนพัฒนาและสามารถจัดการได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน
“ ‘ก้าวต่อไป’ ในงานชุมชนท้องถิ่นของ สสส. มุ่งเน้นสนับสนุนการพัฒนาอย่างเป็นระบบใน 4 มิติ ได้แก่ 1. พัฒนาศักยภาพผู้นำและบุคลากรในชุมชน ให้สามารถรู้เท่าทันธุรกิจบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า 2. สนับสนุนระบบข้อมูล สำหรับใช้ติดตาม วางแผน และควบคุมการบริโภค 3. จัดหาเครื่องมือ ชุดความรู้ และสื่อรณรงค์ ที่สามารถเข้าถึงและใช้ได้จริงในแต่ละพื้นที่ 4. ผลักดันให้งานควบคุมบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เป็นส่วนหนึ่งของ “งานประจำ” ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ” ดร.นิสา กล่าว
รศ.ดร.พญ.รัศมี โชติพันธุ์วิทยากุล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ กล่าวว่า ไทยกำลังเผชิญกับภัยคุกคามจากสารเสพติด โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้าที่กำลังแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในกลุ่มเด็กและเยาวชน ปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้าถูกออกแบบให้ดึงดูดสายตาเด็ก ทั้งสีสัน ลวดลายการ์ตูน และรูปร่างคล้ายของเล่น ทำให้เด็กบางคนอยากสะสมโดยไม่รู้ว่าเป็นสิ่งเสพติด เด็กหลายคนถึงกับถามพ่อแม่ว่า “บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร” หลังเห็นเพื่อนนำมาอวดที่โรงเรียน การใช้บุหรี่ไฟฟ้าส่งผลต่อพัฒนาการสมอง เสี่ยงภาวะสมาธิสั้นเทียม นอกจากนี้บุหรี่ไฟฟ้ายังแทรกซึมเข้าไปในสถานศึกษาทั่วประเทศ ทำให้การเข้าถึงง่ายยิ่งขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งสร้างความเข้าใจแก่เด็กและเยาวชนผ่านระบบการศึกษา เสริมทักษะการปฏิเสธ พร้อมผลักดันกฎหมายที่เข้มงวด และขับเคลื่อนร่วมกับ อปท.โดยมี Ottawa Charter เป็นเข็มทิศสำคัญในการสร้างพื้นที่ปลอดบุหรี่
น.ส. ธิดารัตน์ หนูช่วยนักวิชาการศึกษา เทศบาลตำบลเกาะแต้ว อ.เมือง จ.สงขลา กล่าวว่า เทศบาลตำบลเกาะแต้ว ได้ขับเคลื่อนพื้นที่ปลอดบุหรี่โดยเน้นการมีส่วนร่วมของศาสนาและการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัย ผ่านแนวทาง “มัสยิดปลอดบุหรี่” และ “ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กปลอดบุหรี่ 100%” โดยจัดทำข้อตกลงร่วมกับผู้นำศาสนาให้มัสยิดทุกแห่งปลอดควันบุหรี่ และใช้หลักศาสนาเป็นแนวทางกำกับพฤติกรรม ในขณะเดียวกัน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของเทศบาลยังรณรงค์สร้างภูมิคุ้มกันเด็กปฐมวัย ด้วยกิจกรรมสื่อสาร สอดแทรกเรื่องการลด ละ เลิกบุหรี่ในแผนการเรียนรู้ เพื่อสร้างจิตสำนึกตั้งแต่วัยเยาว์
นายยุสรี เจะนา พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ อบต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส กล่าวว่า อบต.โคกเคียนได้ผลักดันการควบคุมการสูบบุหรี่ตามหลักศาสนาอิสลาม ด้วยโมเดล “มัสยิดปลอดบุหรี่” โดยมีกฎชุมชนชัดเจน เช่น ห้ามสูบบุหรี่ในบริเวณมัสยิด หากฝ่าฝืนจะมีการตักเตือน ปรับเงิน และบำเพ็ญประโยชน์ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมบรรยายธรรม สื่อสารพิษภัยของบุหรี่หลังละหมาด และจัดกิจกรรมกับเยาวชนในชุมชนเพื่อสร้างแกนนำรุ่นใหม่ ลด ละ เลิกบุหรี่ ผลลัพธ์เด่นคือ จำนวนผู้เลิกบุหรี่เพิ่มขึ้น และเกิดแกนนำสุขภาพในพื้นที่มากถึง 100 คน